Previous
Next
Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
Results 1 to 4 of 4

Thread: กรรมบันดาล

  1. #1
    PREZZO's Avatar
    PREZZO is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    2
    Warning Points:
    0/5

    Smile กรรมบันดาล

    ปาฐกถาธรรมเรื่อง กรรมบันดาล

    โดย พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖)

    เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี (แห่งที่ ๑)

    เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

    ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เวลา ๐๘.๐๐ น.

    เจริญสุข / เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

    ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า สัตว์โลกทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ ทุกผู้ทุกนาม ต่างปรารถนาความเจริญและสันติสุข และปรารถนาความไม่มีทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

    แต่ความปรารถนาดังกล่าวนี้ ก็ใช่ว่า อยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ก็จะมีอำนาจเบื้องบนหรือใครผู้ใดจะมาบันดาลให้ได้สำเร็จสมความปรารถนาได้ หากแต่ว่า ผู้ปรารถนาความเจริญสันติสุขและปรารถนาความไม่มีทุกข์นั้นเอง จักต้องกระทำคุณความดีอันเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลดี เป็นความเจริญสันติสุข และเป็นความพ้นทุกข์เองจึงจะสำเร็จประโยชน์ตามที่ปรารถนาได้

    ความประพฤติปฏิบัติ หรือการกระทำทางไตรทวาร คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ท่านเรียกว่า “กรรม”

    ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือการกระทำคุณความดีนั้น พระท่านเรียกว่า “กุศลกรรม” แปลว่า กรรมดี คุณความดีอันเป็นธรรมชาติเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ท่านจึงเรียกว่า “บุญ” หรือ “กุศลธรรม” หมายถึง ธรรมชาติฝ่ายดี บางทีท่านก็เรียกรวมๆ ว่า “บุญกุศล” บางทีท่านก็เรียกว่า ธรรมฝ่ายพระ หรือ “ธรรมขาว” ซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับความประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดี ที่ชื่อว่า “อกุศลกรรม” คือ กรรมชั่ว หรือ “บาปอกุศล” อันเป็นธรรมชาติเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง พระท่านจึงเรียกว่า “ธรรมดำ” หรือ “ธรรมฝ่ายมาร” คำว่า “มาร” ณ ที่นี้ หมายถึง ธรรมชาติเครื่องขวางกั้นคุณความดี ดังบาลีพระพุทธภาษิตมีมาใน ติลักขณาทิคาถา (ขุ. ธ. ๒๕/๑๖/๒๖) ว่า

    กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต.

    บัณฑิตควรละธรรมดำเสีย ยังธรรมขาวให้เจริญ.

    ดังนี้เป็นต้น

    ธรรมชาติ ๒ ฝ่ายนี้ คือ ฝ่ายบุญกุศล หรือคุณความดี กับฝ่ายบาปอกุศล หรือความชั่ว ให้ผลแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติต่างกัน คือ

    ธรรมชาติฝ่ายบุญกุศล คือ คุณความดีนั้น ให้ผลเป็นความเจริญและสันติสุขในชีวิต ทั้งในภพชาติปัจจุบันและในสัมปรายภพ คือ ในภพชาติต่อๆ ไปด้วย พระท่านเรียกกระบวนการของธรรมชาติฝ่ายที่คุณความดีให้ผลดีนี้ ว่า “ปุญญาภินิหาร” คือ “บุญปรุงแต่ง” หมายความว่า ความปรุงแต่งด้วยบุญกุศล ให้ผู้ปฏิบัติมีความสุขความเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข เป็นต้น โดยนัยนี้จะกล่าวว่าเป็น “บุญกรรมบันดาล” ก็ได้

    ส่วนธรรมชาติฝ่ายบาปอกุศล หรือความชั่วนั้น ให้ผลเป็นความทุกข์เดือดร้อนในชีวิต ทั้งในภพชาติปัจจุบันและในภพชาติต่อๆ ไปอีกด้วย พระท่านเรียกกระบวนการของธรรมชาติที่บาปอกุศลให้ผลที่ไม่ดีนี้ ว่า “อปุญญาภิสังขาร” คือ “บาปปรุงแต่ง” โดยความหมายว่า อกุศลกรรมปรุงแต่งชีวิตของสัตว์โลกผู้ประพฤติเป็นบาปอกุศลนั้น ให้ประสบความทุกข์เดือดร้อน ได้แก่ ประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และความทุกข์เดือดร้อนประการต่างๆ เป็นต้น และเมื่อตายลงอกุศลกรรม หรือบาปกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น ยังจะเป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิดในทุคติภูมิ คือ ภพภูมิที่ไม่ดี ที่ไม่เจริญ ที่มีแต่ความทุกข์เดือดร้อน ได้แก่ ภูมิของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย หรือไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น โดยนัยนี้ จะกล่าวว่า “บาปกรรมบันดาล” ก็ได้

    สมดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท (ขุ. ธ. ๒๕/๑๑/๑๗) ว่า

    “อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ ปาปการี อุภยตฺถ ตปฺปติ
    ปาปํ เม กตนฺติ ตปฺปติ ภิยฺโย ตปฺปติ ทุคฺคตึ คโต.”
    “บุคคลผู้ทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้น ย่อมเดือดร้อนว่า บาปอันเราทำแล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้นไปอีก.”

    และได้ตรัสว่า

    “อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
    ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต.”
    “ผู้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้า ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลิน ว่า บุญอันเราทำแล้ว ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินยิ่งขึ้นไปอีก.”

    เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสสอนต่อไปอีก (ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๐) ว่า

    “อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
    ทนฺทํ หิ กรโต ปุญฺญํ ปาปสฺมึ รมตี มโน.”
    ปาปญฺเจ ปุริโส กยิรา น นํ กยิรา ปุนปฺปุนํ
    น ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย.
    ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา นํ กยิราถปุนปฺปุนํ
    ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย.
    “บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป.

    หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้.

    หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้.”

    ตามพระพุทธดำรัสนี้ ผู้กระทำแต่กรรมดีที่เป็นบุญกุศล กรรมดีนั้น ย่อมปรุงแต่ง หรือบันดาลให้ผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น ได้รับความเจริญและสันติสุขในชีวิต ทั้งในภพชาติปัจจุบันและในภพชาติต่อไป ตามประเภทและน้ำหนักแห่งบุญกุศลที่ได้ประกอบบำเพ็ญไว้แล้ว หรือจะกล่าวให้ยิ่งขึ้นไป คือ ตามระดับแห่งบุญบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมา เป็นต้นว่า

    ผู้กระทำแต่กรรมดี เจริญด้วยบุญกุศล ใน “ระดับมนุษย์ธรรม” ได้แก่ ผู้ปฏิบัติกุศลกรรมบถ ๑๐ อยู่เป็นประจำ คือ ไม่เจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ๑ ไม่เจตนาลักฉ้อและประกอบมิจฉาอาชีวะ ๑ ไม่เจตนาประพฤติผิดในกาม ๑ ไม่กล่าววาจาโป้ปดมดเท็จ ๑ ไม่กล่าวคำหยาบคาย - ด่าทอ ๑ ไม่กล่าวคำยุแยกให้แตกสามัคคีกัน ๑ ไม่กล่าวคำเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ ๑ ไม่โลภจัด หรือตัณหาราคะจัด ๑ ไม่โกรธจัดถึงพยาบาทจองเวร ๑ ไม่หลงมัวเมาในชีวิต ๑ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลอย่างน้อยศีล ๕ และอยู่ใน “เบญจกัลยาณธรรม” คือ คุณธรรมของคนดี ๕ ข้อ ได้แก่ ความเป็นผู้มีเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ประกอบแต่สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพโดยชอบ และกอปรด้วยทานกุศล ตามสมควรแก่ฐานะและโอกาส ๑ เป็นผู้มีความสันโดษในคู่ครองของตน และ/หรือ ไม่เอาแต่หมกมุ่นสำส่อนในกาม ๑ เป็นผู้มีวาจาสัตย์ ๑ และเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ๑

    กรรมดี หรือบุญกุศล ใน “ระดับมนุษย์ธรรม” ได้แก่ ความเป็นผู้ดำรงอยู่ใน กุศล-กรรมบถ ๑๐ เป็นผู้มีศีล อย่างน้อยศีล ๕ และเป็นผู้เจริญเบญจกัลยาณธรรม คือ คุณธรรมของคนดี ๕ ข้อ ดังที่ได้กล่าวมานี้เป็นประจำ ย่อมปรุงแต่งชีวิตของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในระดับนี้ ให้เจริญด้วยมนุษย์สมบัติ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติ และบริวารสมบัติ ตามสมควรแก่โอกาสที่กรรมดีนั้นจะให้ผลต่อไปในกาลข้างหน้า ทั้งในภพชาติปัจจุบัน และเมื่อตายลง บุญกุศลนั้น ก็ยังจะเป็นชนกกรรมนำไปให้เกิดเป็นมนุษย์ที่ดี ที่มีความเจริญและสันติสุข ตามระดับบุญกุศลที่ประกอบบำเพ็ญไว้แล้วนั้นในภพชาติต่อๆ ไปอีก

    ผู้กระทำกรรมดี เจริญด้วยบุญกุศล ใน “ระดับเทวธรรม” คือ ผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และ/หรือ ทรงศีล ทรงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่าระดับมนุษย์ธรรมนั้นอีก ได้แก่ ผู้ที่ประกอบทานกุศลและศีลกุศล ที่บริสุทธิ์และละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไป กอปรด้วยภาวนากุศล ตามสมควรแก่ภูมิธรรม แล้วยังเป็นผู้มี หิริ-โอตตัปปะ คือ ความเป็นผู้รู้จัก มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอกุศล เป็นคุณธรรมประจำใจอีกด้วย

    กรรมดี หรือบุญกุศล ใน “ระดับเทวธรรม” ย่อมปรุงแต่งชีวิตของผู้ประพฤติปฏิบัติ และทรงคุณธรรมดังกล่าว ให้มีความเจริญ และสันติสุขในชีวิต ที่ละเอียดประณีตยิ่งไปกว่าผลจากคุณความดีในระดับมนุษย์ธรรมไปอีก และเมื่อแตกกายทำลายขันธ์ คือ ตาย กรรมดี หรือบุญกุศล ในระดับเทวธรรมนี้ ก็จะเป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิดในเทวโลก เป็นเทพบุตร หรือเทพธิดา สถิตอยู่ในทิพยวิมาร เสวยทิพยสมบัติในเทวโลกชั้นต่างๆ ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้

    เทวโลก หรือสวรรค์ คือ โลกของเทวดา มี ๖ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ ชื่อ จตุมหาราชิกา ชั้นที่ ๒ ชื่อ ดาวดึงส์ ชั้นที่ ๓ ชื่อ ยามา ชั้นที่ ๔ ชื่อ ดุสิต ชั้นที่ ๕ ชื่อ นิมมานรดี และชั้นที่ ๖ ชื่อ ปรนิมมิตวสวัสดี

    สวรรค์หรือเทวโลกทั้ง ๖ ชั้นนี้ ไม่อาจเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะภายใน ได้แก่ สายตาเนื้อ หรือประสาทหูของมนุษย์ แต่สำหรับผู้เจริญภาวนาให้จิตบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ ควรแก่งานดี จนเกิด “อภิญญา” คือ ความสามารถพิเศษ ได้แก่ ทิพย์จักษุ ทิพย์โสต เจริญดีขึ้นเพียงใด ก็จะสามารถรู้เห็น ได้ยิน และแม้สัมผัสได้ดีเพียงนั้น

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนแต่จะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อรุ่งอรุณของคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ ๒๕๙๐ ปี ที่ผ่านมานี้ ขณะที่ทรงบำเพ็ญสมณธรรมใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น

    ในยามต้นแห่งราตรี ที่พระองค์ได้ทรงเจริญภาวนาสมาธิถึง จตุตถฌาน คือ ฌานที่ ๔ จนพระทัยบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ดีแล้ว ได้ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “ปุพเพนิวาสานุสติ-ญาณ” คือ ญาณหยั่งรู้-เห็นอดีตชาติของพระองค์เองนับภพนับชาติไม่ถ้วน และได้ทรงเห็นอัตภาพและความเป็นไป ทั้งของพระองค์เอง และทั้งของสัตว์โลกอื่นทั้งหลายในอดีตชาติ ที่ต่างเวียนว่ายตายเกิด ไปสุคติภพ คือ ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ที่มีความสุขความเจริญ เช่น ไปเกิดเป็นมนุษย์ ในมนุษย์โลกบ้าง ไปเกิดเป็นเทพยดาในเทวโลกบ้าง ไปเกิดเป็นรูปพรหมในพรหมโลก และ อรูปพรหมในอรูปโลกบ้าง และไปทุคติภพ คือ ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี ที่ไม่มีความสุขความเจริญ มีแต่ความทุกข์เดือดร้อน เช่น ไปเกิดเป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานบ้าง นี้เป็นวิชชาที่ ๑ ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุแล้วในยามต้นแห่งราตรี คือ ยามค่ำในคืนนั้น

    ในยามกลางแห่งราตรี ได้ทรงเจริญรูปฌาน ถึงจตุตถฌานอีก เพื่อให้พระทัยผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ ควรแก่งาน จึงได้ทรงน้อมไปเพื่อ “จุตูปปาตญาณ” คือ ญาณหยั่งรู้-เห็นจุติ ปฏิสนธิของสัตว์โลกทั้งหลาย คือ ทรงเห็นแจ้ง ทรงรู้แจ้ง ความเป็นไปของสัตว์โลกทั้งหลายด้วย ทิพย์จักษุ ทิพย์โสต อันบริสุทธิ์ ว่า สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงทั่วทั้งจักรวาล และแม้ในจักรวาลอื่นๆ แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาลไม่มีประมาณ ต่างเวียนว่ายตายเกิด และเสวยสุขบ้าง - ทุกข์บ้าง ตามกรรมดี หรือกรรมชั่วที่ได้กระทำไว้แล้ว ทั้งในภพชาติปัจจุบัน และในสัมปรายภพ คือ ในภพชาติต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด อาการที่บุญกุศลแต่กรรมดีปรุงแต่งให้สัตว์โลกได้รับความเจริญและสันติสุขนั้น ชื่อว่า “ปุญญาภิสังขาร” หรือจะกล่าวว่า “บุญกรรมบันดาล” ก็ได้ ส่วนที่บาปอกุศลจากกรรมชั่วที่ปรุงแต่งสัตว์โลกให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนนั้น ชื่อว่า “อปุญญาภิ-สังขาร” หรือจะกล่าวว่า “บาปกรรมบันดาล” ก็ได้ นี้เป็น “กฎแห่งกรรม” อันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้าของเราได้ทรงเห็นแจ้ง-ทรงรู้แจ้งแล้ว ด้วยทิพย์จักษุ ทิพย์โสต อันบริสุทธิ์ ในยามกลางแห่งราตรี คือ ในยามดึกของคืนนั้น และนี้เป็น วิชชาที่ ๒ ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุแล้วในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั้น

    ความบรรลุวิชชาที่ ๑ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ และวิชชาที่ ๒ คือ จุตูปปาตญาณ นี้เองที่เป็นบาทฐานสำคัญแก่พระมหาโพธิสัตว์เจ้าของเรา ให้พิจารณาเห็น “พระอริยสัจธรรม” คือ ความจริงอย่างประเสริฐในเรื่องของ “ทุกข์ ชื่อว่า ทุกขสัจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ทรงเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกอันเป็นทุกข์ นี้เป็นสัจธรรมประการที่ ๑ และได้ทรงพิจารณาเห็น “เหตุแห่งทุกข์ ชื่อว่า สมุทัยสัจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุในเหตุไปถึงต้นเหตุให้เกิดทุกข์ ชื่อว่า “ปฏิจจสมุปบาทธรรม” และเหตุปัจจัยแห่งความสุขด้วย นี้เป็นสัจธรรมประการที่ ๒ ได้ทรงเห็นแจ้งทรงรู้แจ้ง “นิโรธสัจ” คือ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวร นี้เป็นสัจธรรมประการที่ ๓ และได้ทรงเห็นแจ้งและทรงรู้แจ้งทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นสัจธรรมประการที่ ๔ อีกทั้งได้ทรงบรรลุ “อาสวักขยญาณ” คือ ญาณหยั่งรู้วิธีทำอาสวะ กิเลสเครื่องหมักดองในจิตสันดาน ให้หมดสิ้นไป ไม่กลับกำเริบขึ้นอีก เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ และได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ญาณอันเป็นอุปการะแก่ความตรัสรู้โดยชอบอย่างสูงสุดยิ่ง เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในยามรุ่งอรุณแห่งคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ นั้นเอง

    พระอริยสัจธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเห็นแจ้ง-ทรงรู้แจ้ง ด้วยพระองค์เอง ชื่อว่า “ตรัสรู้” อย่างถูกต้องตามธรรมชาติที่เป็นจริงแล้วนี้เอง ที่เปิดเผยความจริงให้ชาวโลกผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติได้รู้ว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ดังพระพุทธดำรัส (ขุ. สุ. ๒๕/๓๘๒/๔๕๗) ว่า

    กมฺมุนา วตฺตตี โลโก.

    สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม.

    ความที่สัตว์โลกใด ได้รับความเจริญและสันติสุขในชีวิต ก็เพราะบุญกรรมบันดาล คือ คุณความดีที่ตนได้กระทำไว้แล้วแต่ปางก่อนปรุงแต่งให้ได้รับผลในชีวิต ดุจดังผลไม้ที่ดีย่อมเกิดแต่ต้นไม้พันธุ์ดี ที่ตนปลูกไว้ดีแล้ว ไม่มีใครบันดาลให้ได้ นอกจากกรรมดีของตนที่ได้กระทำไว้แล้วให้ผลดีเอง

    ส่วนความที่สัตว์โลกใด ถึงความเสื่อมแห่งชีวิต ได้รับความทุกข์เดือดร้อนประการต่างๆ ทั้งในภพชาติปัจจุบันและทั้งในภพชาติต่อๆ ไป ก็เพราะบาปกรรมบันดาลให้เป็นไป ไม่มีใครทำให้ และก็ไม่มีอำนาจเบื้องบนใดจะช่วยใครได้เลย ดุจดังผลไม้ที่ไม่ดี ย่อมเกิดแต่ต้นไม้พันธุ์ไม่ดีที่ตนปลูกไว้นั่นเอง นี้แหละเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติแท้ๆ ว่า ใครทำดี ย่อมได้ดี คือ ย่อมได้รับผลดีเอง ใครทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว คือได้รับผลไม่ดีเอง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัส (สํ. ส. ๑๕/๙๐๓/๓๓๓) ว่า

    “ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
    กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ.”
    “บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว.”

    และประการที่สำคัญยิ่งก็คือ พระอริยสัจธรรมอันพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้วนี้ ยังเปิดเผยหนทางปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง คือ “อริยมรรคมีองค์ ๘” ให้ผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติได้ถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวรได้อย่างแท้จริง ได้อีกด้วย

    พระอริยสัจธรรมนี้ เป็นสนฺทิฏฺฐิโก คือ เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นได้เอง อกาลิโก เป็นธรรมที่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา คือ ใครปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้รับผลดีเมื่อนั้น เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นมาดูได้ คือ สามารถพิสูจน์โดยการศึกษาสัมมาปฏิบัติให้เห็นผลจริงตามรอยบาทพระพุทธองค์ได้ โอปนยิโก เป็นธรรมอันบุคคลพึงน้อมเข้ามาในตน คือ พึงศึกษาและปฏิบัติตาม ก็จะได้ผลดีแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เป็นธรรมอันวิญญูชน คือ ผู้มีปัญญาทั้งหลายจะพึงรู้ได้เฉพาะตน กล่าวคือ เป็นธรรมที่ผู้มิได้ศึกษา-พิจารณาให้ถ่องแท้ ด้วยการศึกษาสัมมาปฏิบัติธรรม อบรมกาย วาจา ใจ และอบรมปัญญา โดยทางไตรสิกขา คือ การศึกษาและปฏิบัติ ศีล สมาธิ และปัญญา อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดและเจริญ “ภาวนามยปัญญา” แล้ว ย่อมไม่อาจจะหยั่งถึง หรือรู้แจ้งได้ พระท่านจึงกล่าวว่า เป็นธรรมอันวิญญูชน คือ ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ซึ่ง ณ ที่นี้ ท่านหมายถึง ผู้เจริญปัญญาอันเห็นแจ้งรู้แจ้งสภาวธรรมและสัจธรรมตามที่เป็นจริง จากการศึกษาและปฏิบัติสมถวิปัสสนาภาวนา ชื่อว่า “ภาวนามยปัญญา” จึงจะพึงรู้แจ้งแทงตลอดพระอริยสัจธรรมนี้ได้ด้วยตนเอง และเป็นธรรมที่พึงบรรลุได้เฉพาะตน

    ในเรื่องของ “กรรมบันดาล” หรือกฎแห่งกรรม นี้ อาตมภาพได้เคยกล่าวแล้วในการแสดงปาฐกถาธรรม “เรื่อง การเคารพเป็นมงคลสูงสุด” เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม ศกที่แล้ว โดยได้ยกตัวอย่าง เรื่อง “การคบหรือไม่คบคนพาลและบัณฑิต” ในคัมภีร์มงคลทีปนีกถา ว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองแคว้นมคธ ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้ถูกพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นพระราชโอรสทรมานโดยประการต่างๆ เพื่อจะทรงครองราชย์เอง เช่น ทรงให้จำขัง ทรงให้อดพระกระยาหาร และสุดท้ายก็ให้ช่างกัลบกใช้มีดโกนผ่าพระบาท ทาด้วยน้ำมันผสมเกลือ แล้วให้รมด้วยถ่านไม้ตะเคียน จนพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพระราชบิดาสวรรคต

    การที่พระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชโอรสของพระองค์เอง กระทำปิตุฆาตด้วยการทรมานต่างๆ โดยเฉพาะที่ให้ผ่าพระบาท ทาด้วยน้ำมันผสมเกลือแล้วรมด้วยถ่านตะเคียน จนสวรรคต ก็ด้วยเหตุเพราะในอดีตชาติ พระราชาได้เคยสวมฉลองพระบาท คือ สวมรองเท้าเข้าไปในลานพระเจดีย์ อันเป็นที่สักการบูชาของหมู่ชนทั้งหลาย นี้ประการ ๑ และอาจารย์แต่ปางก่อนยังได้แสดงอีกว่า พระองค์ได้เคยเหยียบย่ำบนเสื่อลำแพนที่เขาปูไว้เพื่อให้เป็นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ ด้วยพระบาทที่ยังมิได้ชำระล้างให้สะอาดเสียก่อน อีกประการ ๑ จึงส่งผลให้พระองค์รับความทุกข์ทรมานในชาตินั้น นี้เป็นผลจากกรรมเก่าที่พระเจ้าพิมพิสารได้เคยทรงกระทำเป็นการล่วงเกินพระเจดีย์ และเสื่อลำแพนอันเขาจัดให้เป็นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ แต่ชาติปางก่อน มาให้ผลในชาติที่เป็นพระราชาพระนามว่า “พิมพิสาร” ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่

    อนึ่ง การแสดงปาฐกถาธรรมคราวนั้น เป็นระยะเวลาหลังจากเหตุการณ์ที่พระพุทธรูปหินใหญ่ที่เก่าแก่ ในประเทศอัฟกานิสถานเพิ่งถูกทำลายลงใหม่ๆ อาตมภาพก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านจงอย่าได้ประมาท เพราะผลของกรรมนั้นไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แก่ใครๆ เหมือนเด็กกำถ่านเพลิง ย่อมต้องไหม้มือที่จับที่กำไว้นั้นเสมอไป ถ้ากำถ่านเพลิงนั้นไว้แน่นมากเพียงไร ย่อมไหม้มือมากเพียงนั้น ฉันใด บุคคลผู้ประพฤติลบหลู่ ดูหมิ่น ล่วงเกิน ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นปาบอกุศลด้วยโมหะ (คือความหลง ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง) เพียงไร ก็ย่อมได้รับผลเป็นโทษ ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนมากเพียงนั้น ฉันนั้น ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า “บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”

    ผลของการก่อกรรมทำเข็ญไว้แล้วอย่างไร ท่านที่ติดตามข่าวต่างประเทศย่อมเห็นประจักษ์ “กฎแห่งกรรม” คือ บาปกรรมบันดาลทันตาเห็นแก่ผู้กระทำบาปอกุศลนั้นแล้วได้ และเพื่อให้ท่านที่อาจหลงประมาทขาดสติ ไม่รู้บาปบุญ คุณโทษ ไม่รู้กฎแห่งกรรมตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้รู้สึกตัวและสำเหนียกไว้

    สำหรับผู้กระทำแต่กรรมดี เป็นบุญกุศล มีทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล เป็นต้น ย่อมต้องได้รับผลดี เป็นความเจริญและสันติสุข จากบุญที่ได้กระทำแล้วเป็นนิตย์ และด้วยกุศลกรรมนั้นปรุงแต่งไม่นานเกินรอ ย่อมต้องได้รับผลดี แม้ในภพชาติปัจจุบันทันตาเห็นนี้

    วันนี้อาตมภาพขอยุติการแสดงปาฐกถาธรรมไว้เพียงนี้ก่อน ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน... เจริญพร



    เนมิราชชาดก
    พระเจ้าเนมิราช เมื่อทรงปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ทรงสงสัยว่า การให้ทานกับการประพฤติพรหมจรรย์ คือ การรักษาความบริสุทธิ์ ไม่ข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวโลกนั้น อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน

    พระอินทร์ได้ทรงทราบถึงความกังขาในพระทัยของพระเจ้า เนมิราช จึงเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาปรากฏ เฉพาะพระพักตร์ พระราชา ตรัสกับพระราชาว่า "การประพฤติพรหมจรรย์จึงทำได้ยากยิ่ง กว่าการบริจาคทาน และได้กุศลมากยิ่งกว่าหลายเท่านัก"

  2. #2
    wnonach's Avatar
    wnonach is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    458
    Warning Points:
    0/5
    ขอบคุณมากมายค่ะคุณ PREZZO หนึ่งยังอ่านไม่จบเลย ตาลาย อิอิ เดี๋ยวกับมาอ่านใหม่ค่ะ ขอบคุณอีกครั้งสำหรับสิ่งๆดีที่นำมาฝากนะคะ
    You Can Try Without Succeeding. But You Can Not Succeed Unless You Try!



    BIG THANKS FOR SBN

  3. #3
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    131
    Warning Points:
    0/5
    อ่านจบแล้ว มีงง งง บ้างเล็กน้อย..แต่จับใจความได้

    ทำอะไรไว้เราจะได้รับอย่างนั้น..เราทำดี..จะได้ผลกรรมดีตอบแทน

    ถ้าทำชั่ว..ก็ได้รับผลกรรมชั่วตอบแทน

    ขอบคุณคุณป๊อบเช่นกันนะคะ นำบทความทางธรรมมะดีๆมาฝากอยู่เสมอๆ
    " ความรู้สึกอิจฉาริษยาเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า คิดให้ดีก็จะรู้ว่า.....คุณมีทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องมีแล้ว "

  4. #4
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    0
    Warning Points:
    0/5
    ขอบคุณมากๆนะคะ ที่นำสาระมาฝาก ชอบเข้ามาอ่านเตือนตัวเองค่ะ ขอบคุณนะคะ

Comments from Facebook

Posting Permissions

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •