เอาเว๊ปความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเกล็ดเลือด ของสภากาชาติไทย มาแปะให้น่ะค่ะ
บริจาคเกล็ดโลหิต (Single Donor Platelets)
เกล็ดโลหิต (Platelets) เป็นเซลล์เม็ดโลหิตชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็กมาก แต่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างยิ่ง เพราะช่วยทำให้โลหิตแข็งเป็นลิ่ม และอุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิตเวลาที่ถูกของมีคมบาด โดยปกติเกล็ดโลหิต มีอายุในการทำงานประมาณ 5-10 วัน ในร่างกายมนุษย์เราจะมีเกล็ดโลหิตประมาณ 1-5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร ถ้ามีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำมากจะทำให้เกิดโลหิตออกง่าย นอกจากนี้ยังมีหลายโรคที่ทำให้เกล็ดโลหิตต่ำ เช่น โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคที่เกี่ยวกับไขกระดูกไม่ทำงาน โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคไข้เลือดออก เป็นต้น
เกล็ดโลหิต ใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำ และมีปัญหาเลือดออกไม่หยุด เช่น โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดโลหิตขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้เกล็ดโลหิตรักษา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จะเปิดรับบริจาคเกล็ดโลหิต เฉพาะที่มีการร้องขอจากโรงพยาบาลเท่านั้น มิได้เปิดรับบริจาคทั่วไปเหมือนรับบริจาคโลหิต หรือพลาสมา ทั้งนี้เพราะเกล็ดโลหิตเมื่อเจาะออกมานอกร่างกายแล้ว จะมีอายุเพียง 24 ชั่วโมง - 5 วัน ตามลักษณะและกรรมวิธีในการเจาะเก็บและต้องเก็บรักษาไว้ในตู้ซึ่งควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 22 องศาเซลเซียส พร้อมกับมีการเขย่าเบาๆ ตลอดเวลา
การรับบริจาคเกล็ดโลหิต จะใช้เครื่องมือเฉพาะที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะถูกเจาะโลหิตจากแขนข้างหนึ่งผ่านเข้าเครื่องแยกอัตโนมัติ เพื่อแยกเกล็ดโลหิตออกจากเม็ดโลหิตแดง เมื่อได้เกล็ดโลหิตแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆ จะถูกคืนกลับเข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลาในการบริจาคเกล็ดโลหิต ประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องมือ
ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะไม่อ่อนเพลีย สามารถปฏิบัติภารกิจการงาน ได้ตามปกติ หลังจากบริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้ว 1 เดือน สามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณีจำเป็น อาจให้บริจาคได้ทุก 3-5 วัน แต่ไม่เกิน 24 ครั้ง/ปี และค่าเกล็ดโลหิตก่อนบริจาคไม่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด
คุณสมบัติผู้บริจาคเกล็ดโลหิต
อายุ 17-50 ปี
น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป
ควรเป็นผู้ที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอ
หมู่โลหิตจะต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต
เส้นโลหิตตรงข้อพับแขนชัดเจน
ไม่รับประทานยาแก้ปวดแอสไพริน ในระยะเวลา 5 วันก่อนบริจาค
มีจำนวนเกล็ดโลหิต 2.5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลิลิตร (ก่อนบริจาคจะขอเจาะโลหิตเพื่อตรวจนับจำนวนเกล็ดโลหิตก่อน)
ที่มา http://www.redcross.or.th/donation/blood_platelet.php4
ความสงสัย คือ ต้นน้ำของมหาสมุทรแห่งปัญญา