หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถพบได้กับคนทั่วไปทุกเพศทุกวัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ออฟฟิศ ที่นั่งทำงานผิดท่าเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยอาการปวดหลังจะค่อย ๆ ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อย ๆ นานวันเข้าก็จะยิ่งแสดงอาการออกมาให้เห็น ว่าแต่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากพฤติกรรมแบบไหนกันแน่ ตามเรามาหาคำตอบได้เลย

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากพฤติกรรมแบบไหน?
1. การใช้งานร่างกายผิดท่าเป็นเวลานาน
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ มักจะเผชิญกับภาวะนี้ได้ง่าย เพราะเกิดจากการที่ต้องนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนท่าทาง นอกจากนี้ผู้ที่ต้องก้มๆ เงยๆ ยกของอยู่เป็นประจำโดยไม่ได้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังหรือขาดความระมัดระวังก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้เช่นกัน
2. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
การปล่อยให้ร่างกายแบกรับน้ำหนักที่มากจนเกินไปจะส่งผลกระดูกสันหลังส่วนล่างต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักที่มากตลอดเวลา หมอนรองกระดูกจึงเกิดจากการเสื่อม แตก หรือปลิ้นได้ง่ายกว่าคนที่มีรูปร่างปกติ

3. ไม่ได้ออกกำลังกาย
ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อลีบ ฝ่อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกได้มากขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นประจำ จะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูก และช่วยทำให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดียิ่งขึ้น
4. เกิดการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนหนึ่งเกิดจากการประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกโดยตรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา นอกจากนี้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาจเกิดจากการนอนผิดท่าได้อีกด้วย
แนวทางการรักษา
ปัจจุบันนี้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดราบรื่นและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านการส่องกล้อง Microscope กำลังขยายสูง และการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope จะช่วยให้แพทย์สามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อเข้าไปหยิบหรือซ่อมแซมหมอนรองกระดูได้โดยตรง
และแน่นอนว่าข้อดีคือ ผู่ป่วยจะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก อีกทั้งแพทย์เองก็สามารถมองเห็นเส้นประสาท และหมอนรองกระดูกที่ต้องการแก้ไขได้ชัดเจนกว่าการผ่าแบบเปิดอีกด้วย
ถึงแม้ว่าจะปัจจุบันหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะสามารถรักษาได้ แต่การป้องกันโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญกับอาการบาดเจ็บจากกระดูกและกล้ามเนื้อ และสามารถใช้ชีวิตประจำได้อย่างปกติสุขนั่นเอง