2. ร้านข้าวแกง (ในยามเช้า) ร้านของลวก (ในยามค่ำ) แหล่งเติมพลังพื้นฐาน ของมหาชนชาวไต้หวัน (งบประมาณ 60 - 100 บาทไทย ต่อ 1 อิ่ม)

แหล่งนี้ เป็น หนึ่งในอาหารจานหลักที่เป็นพื้นฐาน ที่มหาชนชาวไต้หวัน นิยมทานกันทุกวัน เพื่อเติมพลังให้ร่างกาย ใช้ดำเนินชีวิตค่ะ

ดังนั้น จึงพบได้ทั่วไป ตามท้องถนนที่เราเดินผ่าน ด้วยความที่พูดจีนกลางแทบไม่ได้ แต่อยากลองสัมผัสอาหารท้องถิ่น เอสด้อมๆ มองๆ อยู่สักพัก สุดท้ายรวบรวมความกล้า เลือกเดินเข้ามาร้านนี้ค่ะ



เอสไม่รู้คนไต้หวันเรียกร้านแบบนี้ว่าอะไร แต่หน้าตาเหมือนร้านข้าวแกงบ้านเรา เอสเลยขอเรียกว่า ร้านข้าวแกง นะคะ

ในช่วงกลางวัน ร้านข้าวแกง เป็นร้านที่พบได้บ่อย หากเราเดินไปตามท้องถนนในไต้หวัน แต่ไม่ได้เป็นร้านอาหารชนิดเดียวที่พบค่ะ สามารถพบร้านอาหารรูปแบบอื่นด้วย สลับๆกันไป แต่ร้านข้าวแกง เป็นแหล่งวัฒนธรรมการกินอาหารจานหลักพื้นฐาน ของชาวไต้หวัน ที่คนที่ใช้ภาษาจีน แทบไมได้แบบเอส เข้าถึงได้ง่ายที่สุดค่ะ

เราสามารถเดินเข้าไปในร้าน เลือกกับข้าวที่อยากทาน แล้ว ก็ใช้ภาษามือ ชี้เอาได้เลยค่ะ ตอนแรก เจ้าของร้านอาจทักเราเป็นภาษาจีน แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ พอผ่านไปสักพัก เจ้าของร้านจะเริ่มเข้าใจ และยิ้มให้เราอย่างเดียวแทนค่ะ 5555

ร้านข้าวแกงในไต้หวันส่วนใหญ่ หากทานที่ร้าน จะมีบริการ น้ำซุปฟรี กับ น้ำชาฟรี เติมได้ไม่อั้นค่ะ สำหรับบางร้านอาจมีเงื่อนไขพิเศษ เติมข้าวได้ไม่อั้นด้วย



กับข้าวส่วนใหญ่เป็นของผัด มีของอบของต้มบ้าง ราคาอาหารก็จะคิดตามชนิดของกับข้าว ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะแพง เป็นผักก็จะถูกหน่อย

ส่วนหากวันไหน ไม่อยากทานข้าว อยากทานเส้นหมี หรือ วุ้นเส้นแทนข้าว ก็สามารถสั่ง (ชี้) ได้เช่นกันค่ะ



จุดเด่นอีกจุดหนึ่งที่เอสสังเกตเห็น ที่ร้านข้าวแกงที่ไต้หวัน คือ การซื้อใส่กล่อง



ลูกค้าหลายๆคนที่เข้ามาทานข้าวแกงตอนเช้า ทานเสร็จแล้ว ก็สั่งใส่กล่องกลับไปด้วยคนละกล่อง เอสคาดว่า น่าจะเป็นกล่องสำหรับมื้อเที่ยงค่ะ

เอสเลยลองซื้อใส่กล่องดูบ้าง กล่องข้าวของไต้หวัน ถูกออกแบบให้มีความแข็งแรง สามารถถือมือเดียวที่ข้างใดข้างหนึ่งของกล่องได้โดยไม่เสียรูป มีช่องสำหรับแยกกับข้าว รวมทั้งมีฝาปิดค่ะ เลยสะดวกในการทานอาหารในกล่องมากกว่า เมื่อเทียบกับกล่องโฟมของบ้านเรา ซึ่ง ส่งผลให้สามารถทำการจัดการการทานอาหาร ได้สะดวกมากขึ้น



อย่างเช่น วันไหนที่เอสจะเดินทางออกจากไทเป ด้วยรถไฟระหว่างเมือง หรือ รถไฟความเร็วสูง ที่อนุญาตให้นำข้าวกล่องขึ้นไปทานได้ เอสจะเลือกซื้ออาหารเช้าใส่กล่องไปทานบนรถไฟ เพื่อประหยัดเวลา และ ไม่ใช่แค่เอสคนเดียวนะคะ เหลียวซ้ายแลขวา ก็มีคนไต้หวันนำข้าวกล่องขึ้นมาทานด้วยพอสมควรค่ะ



ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึง วิถีชีวิตที่ต้องบริหารจัดการเวลาของชาวไต้หวัน ผ่านความนิยมในการทาน "ข้าวกล่อง" ค่ะ

ร้านข้าวแกงส่วนมากจะเปิดตั้งแต่เช้า ถึงช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ค่ะ

พอถึงช่วงค่ำ ร้านข้าวแกงส่วนใหญ่ก็ปิดเกือบหมด แต่จะเป็นเวลาที่เริ่มเปิด ของร้านหน้าตาแบบนี้ค่ะ



หน้าตาคล้ายๆ กับร้านยำบ้านเรา แต่รสชาติอาหารไม่ใกล้เคียงยำเลยค่ะ เอสเลยขอเรียกว่า ร้านของลวก แทนนะคะ

ร้านของลวก เป็นหนึ่งในแหล่งวัฒนธรรมการกินอาหารจานหลักพื้นฐานของชาวไต้หวัน ในช่วงค่ำ ก่อนกลับบ้านพักผ่อนยามค่ำคืน ที่คนที่ใช้ภาษาจีนกลางแทบไม่ได้อย่างเอส สามารถเข้าถึงได้ง่ายค่ะ

เมื่ออยู่หน้าร้าน เราสามารถเลือกวัตถุดิบที่เราอยากทาน โดยการชี้ หรือ บางร้านจะมีตะกร้าเล็กๆ ให้เราเลือกวัตถุดิบใส่ ให้เจ้าของร้าน นำไปลวกรวมกันในน้ำซุป พร้อมปรุงรส และ จะได้ออกมาแบบนี้ค่ะ



และ สามารถสั่งกลับบ้านได้เช่นกัน แบบนี้ค่ะ



รสชาติของน้ำซุปที่ใช้ลวกสีออกคล้ำๆ จะเป็นน้ำซุปยาจีน แต่เหมือนที่นี่จะใส่เครื่องยาจีนเข้มกว่าที่บ้านเราค่ะ กลิ่นยาจีนเลยเข้มกว่า อร่อยไปอีกแบบค่ะ

เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารจากร้านข้าวแกงในตอนกลางวัน จะเห็นว่า อาหารดูเบาท้องกว่ามาก จากการเน้นเส้นก๋วยเตี๋ยว และ ผัก จึงเหมาะกับการเป็นอาหารมื้อค่ำก่อนพักผ่อน ซึ่ง ต่างจากร้านข้าวแกง ที่เน้นข้าว โปรตีน และ ของผัด ซึ่งมันกว่าของลวก ให้พลังงานมากกว่า เหมาะสำหรับเป็นอาหารมื้อแรกของวัน ที่ทำให้มีแรงในการดำเนินชีวิตค่ะ

เมื่อพิจารณาดู คงต้องบอกว่า เป็นความแตกต่าง ที่ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว เหมาะสมตามเงื่อนไขการดำเนินชีวิตค่ะ

ทั้ง ร้านข้าวแกง และ ร้านของลวก ถือเป็น แหล่งวัฒนธรรมการกินอาหารจานหลักพื้นฐาน ของชาวไต้หวัน ที่ราคาไม่แพง มีคุณค่าทางอาหารที่ค่อนข้างครบ เหมาะสมที่จะทานได้ทุกวัน ยกเว้น !! วันที่เราเลือกให้มี "มื้อพิเศษ" ค่ะ

อะไรคือ "มื้อพิเศษ" ของชาวไต้หวัน และจะเข้าถึงแหล่ง "มื้อพิเศษ" ของชาวไต้หวันได้อย่างไร ติดตามต่อโพสต์หน้านะคะ


-------------------------------------

(เที่ยวอุ่นใจทุกทริป อย่าลืมพก #Umbrella, #Sunday, #Chlorella และ #TheSignature นะคะ)