นิธิ เอียวศรีวงศ์”แนะ“ชนชั้นนำ”ครอง“อำนาจ&ผลประโยชน์”แบบเนียนๆ เบื้องต้นอย่าเลือกใช้“พรรค”ที่“ชาวรากหญ้า”ไม่ยอมรับ

  1. Sayuri00
    Sayuri00
    นิธิ เอียวศรีวงศ์”แนะ“ชนชั้นนำ”ครอง“อำนาจ&ผลประโยชน์”แบบเนียนๆ เบื้องต้นอย่าเลือกใช้“พรรค”ที่“ชาวรากหญ้า”ไม่ยอมรับ

    พูดจาประสาเอลีต(ด้วยกัน)


    โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

    เรากำลังเผชิญกับสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว คนจำนวนมากที่เสียเปรียบและไร้อำนาจ เกิดสำนึกใหม่ที่จะกอบกู้ตนเองจากความไร้อำนาจอย่างที่ไม่เคยเกิดในสังคมไทยมาก่อน ความปั่นป่วนทางการเมืองที่เราเผชิญอยู่เวลานี้ จึงเป็นเหมือนห้องคลอดให้แก่ระบบใหม่ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าระบบใหม่นี้จะถือกำเนิดขึ้นอย่างราบรื่น หรืออย่างที่ต้องเสียเลือดเนื้อเป็นอันมาก

    ผมเคยพูดหลายครั้งหลายหนแล้วว่า กลุ่มคนที่ไม่ยอมรับว่าสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว และไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อรองรับสำนึกใหม่นี้เลย คือกลุ่มเอลีตหรือชนชั้นนำของสังคม ยิ่งปฏิกิริยาที่เอลีตบางคนแสดงให้เห็นระหว่างการชุมนุมประท้วงใหญ่ของ นปช.ในครั้งนี้ ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าเอลีตทางเศรษฐกิจ, การเมือง, ศิลปะ, ศาสนา, วิชาการ, ฯลฯ ไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนอะไรเลย น่าห่วงอย่างยิ่งนะครับ

    แม้จะอยู่ปลายแถว แต่ก็ร่วมอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำด้วยคนหนึ่ง ผมจึงอยากชวนชาวเอลีตด้วยกันคุยว่า อย่างน้อยในสองด้านที่สำคัญ อันพวกเราได้ใช้เป็นเงื่อนไขในการกุมอำนาจและผลประโยชน์ไว้ในมือพวกเรามานานนั้น ควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร (แหะๆ เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ไว้ในมือของพวกเราเองเหมือนเดิม) สองด้านที่ว่านั้นคือด้านการเมืองหนึ่ง และด้านเศรษฐกิจหนึ่ง

    การเมือง

    1/ เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของพวกเราไว้ พวกเราต้องเลิกพึ่งอำนาจนอกระบบทุกชนิด อย่างน้อยก็เพราะมันไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร แม้แต่การใช้อำนาจกองทัพกดดันล่อหลอกเพื่อตั้งรัฐบาลนอกกระบวนการประชาธิปไตย ยังไม่ได้ผล จะไปหวังอะไรกับการยึดอำนาจ ส่วนอำนาจทางวัฒนธรรมเช่น กรอ., นักวิชาการ, หรือมหาวิทยาลัยนั้น หมดอิทธิฤทธิ์ไปนานแล้ว ตำแหน่งดอกเตอร์ดอกตีนทั้งหลาย ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านเงียบงันอย่างเคย

    ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้ามาสู่เกมเลือกตั้งเต็มตัว คุณทักษิณนั้นก็ใช่ใครที่ไหน คือหนึ่งในชนชั้นนำอย่างพวกเรานี่แหละ หากคุณทักษิณทำได้ ก็ต้องมีใครในหมู่พวกเรา หรือคนที่พวกเราสนับสนุนทำได้เหมือนกัน พรรคการเมืองที่ทำอย่างคุณทักษิณไม่ได้ ก็เลิกสนับสนุนมันเสีย เปลืองข้าวสุกเปล่าๆ เลิกคิดด้วยนะครับว่า เกมเลือกตั้งอยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว นับวันการเลือกตั้งก็ต้องใช้กึ๋นมากกว่าเงินมากขึ้นทุกที หากไม่ชอบทักษิณ เราก็ควรหนุนนักการเมืองที่มีกึ๋น ไม่ใช่หนุนนักการเมืองที่หวังพึ่งแต่อำนาจนอกระบบ

    2/ ต้องยอมรับหลักการความเสมอภาค ถึงอย่างไม่จริงใจ ก็ต้องยอมรับออกหน้าไว้ให้หนักแน่น เสียงที่ดังที่สุดในการประท้วงของ นปช.ในครั้งนี้ คือความเท่าเทียม และที่ถูกก่นด่าที่สุดคือความเหลื่อมล้ำ เราต้องไม่กลัวความเสมอภาคทางกฎหมาย, การเมือง และสังคม ความเหนือกว่าของพวกเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่อะไรอื่นซึ่งละเอียดอ่อนกว่านั้นมากมายนัก แค่พูดคำควบคำกล้ำและ ร.รักษาให้ชัด ก็ฟังดูมีเหตุมีผลกว่ากันตั้งแยะแล้ว

    ผมได้ยินปฏิกิริยาของพวกเราในการประท้วงของ นปช.ครั้งนี้จากหลายคน แล้วออกจะตกใจ เช่น บางคนด่าว่าพวกเขาเป็น "กุ๊ย" ตรงกับคำที่เขาเรียกตัวเองว่า "ไพร่" พอดี แต่ด้วยความหมายคนละอย่างกัน ซ้ำสั่นเทือนระบบของสังคมช่วงชั้นอย่างไทยเป็นอย่างยิ่ง บางคนตั้งปัญหากับการที่นายกฯ เปิดเจรจากับแกนนำเสื้อแดงว่า นายกฯ "ลดตัว" ลงมาพูดกับแกนนำได้อย่างไร ตรงกับที่พวกเขาพูดว่านายกฯ นึกว่าตัวเป็นเทวดาพอดีเลย

    เชื่อผมเถิดครับ ยอมรับสังคมเสมอภาคไปอย่างเต็มประตูเลย ไม่ต้องห่วงเรื่องช่วงชั้นทางสังคมหรอกครับ ไม่มีสังคมไหนที่ไม่มีช่วงชั้น และพวกเรายังเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของช่วงชั้นไปอีกนาน เราก็ควรใช้สติปัญญาในการวางมาตรฐานช่วงชั้นให้มัน "เนียน" กว่าเก่า โดยไม่ขัดแย้งอะไรกับอุดมคติความเสมอภาคของพวกเขาเลย สองมาตรฐานทื่อๆ อย่างที่เราเคยชินนั้น ไปไม่รอดหรอกครับ มันต้องคิดทำสองมาตรฐานที่เนียนจริงๆ ถึงจะไปได้

    3/ พวกเราที่ทำธุรกิจขนาดใหญ่ควรเลิกทวงบุญคุณกับสังคมเสียที เพราะบุญคุณที่ว่านั้นพวกเขารู้เท่าทันหมดแล้ว เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่ได้เป็นผู้จ้างงานรายใหญ่สุดของประเทศหรอกนะครับ คนส่วนใหญ่เขาจ้างตัวเองทำงาน ยิ่งกว่านี้นับวันเราก็จะยิ่งจ้างคนเป็นสัดส่วนน้อยลงด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะไปแข่งขันอะไรกับเวียดนาม, บังกลาเทศ, อินเดีย หรือจีนได้ล่ะครับ การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ก็คือจ้างงานน้อยลงไม่ใช่หรือครับ และที่เราจ้างเขาอยู่เวลานี้ ก็เป็นอัตราค่าจ้างที่แสนจะอัปลักษณ์ไม่ใช่หรือครับ กฎหมายที่คุ้มครองแรงงานต่างๆ เราก็ทำให้รัฐไม่บังคับใช้ หรือบังคับใช้ไม่ได้ผลอยู่ตลอดมา ยิ่งมานั่งทวงบุญคุณว่า ธุรกิจของพวกเรามีความสำคัญอย่างโน้นอย่างนี้ พวกเขาก็จะยิ่งแฉโพยส่วนที่เราโซ้ยได้ฟรีๆ จากระบบมากขึ้น เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ส่วนรวม (ของพวกเรา)นะครับ

    อันที่จริงธุรกิจแบบขูดรีดแรงงานอย่างที่พวกเราบางคนทำอยู่นั้น ไปไม่รอดแน่ในโลกาภิวัตน์ ฉะนั้นนอกจากไม่คอยนั่งทวงบุญคุณแล้ว ผมยังอยากเสนอว่า เราควรหันมาผลิตกันอย่างเป็นธรรมดีกว่า เพราะบรรยากาศที่เป็นธรรมนี่แหละที่จะผลักให้คนไม่มีกึ๋นในพวกเรา เอาแต่ติดสินบาทคาดสินบน และกดขี่แรงงาน เจ๊งๆ ไปเสียที เหลือแต่คนที่มีกึ๋นจะปรับตัวได้ หันเข้าสู่การผลิตที่ต้องใช้ฐานความรู้มากขึ้น แล้วอย่ามัวมองหาแต่คนจบปริญญามาทำงานนะครับ คนงานจำนวนไม่น้อยจะเร่งปรับตัวเองให้มีฝีมือมากขึ้นเอง ถ้าเราจ่ายค่าแรงให้สูงขึ้นตามฝีมือ

    โดยวิธีอย่างนี้ ในที่สุดเราจะมีการเมืองที่สงบขึ้น และสร้างสรรค์มากขึ้น พวกเราก็จะได้ฐานทางการเมืองที่แข็งแกร่งจากแรงงานที่ได้รับค่าแรงอันเป็นธรรม เพิ่มความมั่นคงแก่อำนาจทางการเมืองของเราดีกว่าการนั่งหลอกลวงเขาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

    4/ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ค่อนข้างวุ่นวายนี้ มีสองสถาบันที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพได้ในระดับหนึ่ง นั่นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันศาล พวกเราไม่ควรนำสองสถาบันนี้มา "ใช้" ให้สึกหรอในทางการเมือง คิดดูเถิดครับ บรรทัดฐานทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้ ย่อมมาจากศาลที่ยอมรับกันได้ ถ้าศาลสึกหรอไปเสียแล้ว ใครจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองในทางปฏิบัติล่ะครับ และหากไม่มีศาลที่ยอมรับกันได้ เรามิต้องเผชิญหน้ากันบนท้องถนนตลอดไปหรือครับ จะกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกเราแค่ไหน

    5/ ผมอยากปลอบใจพวกเราไว้ด้วยว่า อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลงครับ เพราะอย่างที่เขาพูดกันแหละครับว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ เราจึงควรเผชิญความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและอย่างมีสติด้วย ไม่ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตยจริงๆ แค่ไหน ฐานทรัพยากรอำนาจของพวกเราก็ยังไม่ถูกกระทบกระเทือนนะครับ ผมไม่ได้หมายถึงสมบัติพัสถานของพวกเราเท่านั้น แต่ผมหมายถึงทรัพยากรที่เป็นนามธรรมทั้งหลาย ใครจะสอนและใครจะเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ก็พวกเราทั้งนั้น ใครจะเป็นกรรมการของ สกว., สภาวิจัย, สสส., หรือแม้แต่ พอช. (รวมองค์กรที่เอาภาษีประชาชนมาใช้อื่นๆ ทั้งหมดทั้งปัจจุบันและอนาคต) ก็พวกเราอีกนั่นแหละ พระสงฆ์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพวกเขาก็จริง แต่คณะสงฆ์ไทยนั้น "เซื่อง" ในทางการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร ก็จะเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของพวกเราต่อไป สื่อในปัจจุบันนี้คือสินค้าชนิดหนึ่ง ฉะนั้นโดยธรรมชาติแล้วคนทำสื่อก็คือพ่อค้าเหมือนพวกเรานี่แหละ ซ้ำร้ายตลาดใหญ่ของสื่อก็คือพวกเราหรือลูกน้องของพวกเราเสียอีก อย่างไรเสียสื่อก็พร้อมจะยืนอยู่ฝ่ายเรา

    สรุปก็คือ เรากุมระบบความรู้ไว้ในมือพวกเรา เรากุมระบบความรู้ได้ เราก็กุมพฤติกรรมของคนอื่นได้ พวกเขาจะชวนเราทะเลาะอย่างไร เขาก็ทะเลาะในกรอบที่เราวางไว้ให้แล้วทุกทีไป

    เป็นต่อถึงขนาดนี้แล้ว จะไปกลัวอะไรกับความเปลี่ยนแปลง

    เป็นไปได้นะครับว่า ความเปลี่ยนแปลงอาจทำให้พวกเราบางคนตกกระป๋อง ในฐานะมิตรก็ได้แต่เสียใจด้วยเท่านั้น แต่ในฐานะของชนชั้นนำแล้ว ต้องยอมรับครับว่า คนที่รับกับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็ไม่สมควรจะอยู่รอด แต่ "ชนชั้น" เรานั้นอยู่รอดแน่ ซ้ำจะแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วยซ้ำ

    ความจริงผมตั้งใจจะพูดถึงการปรับตัวทางเศรษฐกิจของพวกเราไว้ด้วย แต่ไม่มีเนื้อที่ให้พูดเสียแล้ว ก็ขอติดค้างเอาไว้ มีอารมณ์จะคุยกันเรื่องนี้เมื่อไร ค่อยกลับมาคุยใหม่แล้วกันครับ

    สวัสดี

    credit: fwd mail

    ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจริงๆค่ะ ตำรวจบางคน(มะเขือเทศ)และทหารบางคน(แตงโม)ก็พึ่งไม่ได้จริงๆ
  2. Siambrandname Webmaster
    Siambrandname Webmaster
    ขออนุญาตเจ้าของกระทู้และเจ้าของกรุ๊ปครับ ทดสอบระบบการเชื่อมต่อกระทู้ระหว่าง Social Group และ Main Forum ครับ

    ขอบคุณครับ
Results 1 to 2 of 2