วันนี้เจอข้อมูลเกี่ยวกับ เกราะกันกระสุน
จึงได้นำมาฝากเพื่อนๆ ให้ได้สัมผัส ผลงานของนักศึกษาอาชีวะของไทย
นำข้อมูลมาจาก Campus ของ Sanook.com ขอขอบคุณครับเสื้อเกราะกันกระสุนช่วยใต้ ฝีมือนักศึกษาอาชีวะไทย
นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษา 17 แห่งทั่วประเทศ ประกาศฝีมือผ่านผลงานเสื้อเกราะกันกระสุน ในโครงการ "คนไทยรักแผ่นดินเพื่อในหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา" ร่วมจัดโดยมูลนิธิน้ำใจไทย กองทุนคนไทยรักแผ่นดิน ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการทหารกระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัทเอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์ มีเดีย จำกัด
เสริมสร้างความรัก ความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติให้รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อช่วยเหลือและเติมขวัญกำลังใจแก่เพื่อนร่วมชาติที่กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการบริจาคเงินจัดทำเสื้อเกราะกันกระสุน 10,000 ตัว ให้กับทหาร ตำรวจ ครู อาสาสมัคร ตลอดจนสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย
โครงการตั้งเป้าการผลิตเสื้อเกราะจำนวน 10,000 ตัว ประกอบด้วยเสื้อเกราะอ่อนที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นและสะเก็ดระเบิด จำนวน 7,000 ตัว ราคาค่าผลิตตัวละ 4,000 บาท และเสื้อเกราะป้องกันกระสุนขนาด .45 ขึ้นไป (ป้องกันอาวุธสงคราม) จำนวน 3,000 ตัว ราคาค่าผลิตตัวละ 20,000 บาท
ขณะนี้ดำเนินการผลิตแล้วเสร็จจำนวน 1,000 ตัว และผ่านการทดสอบประสิทธิภาพโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ณ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ โดยใช้ปืนทดสอบประสิทธิภาพของเสื้อเกราะกันกระสุนประเภทต่างๆ เช่น ปืน 9 ม.ม. ความเร็ว 1,120 ฟุต/วินาที ที่ระยะ 5 เมตร น้ำหนักหัวกระสุน 124 แกรน ที่ระยะ 5 เมตร ปืน .357 กระสุนเปลือกแข็งหัวอ่อน น้ำหนักหัวกระสุน 158 แกรน ความเร็ว 1,350 ฟุต/วินาที ที่ระยะ 5 เมตร .44 แม็กนั่ม กระสุนเปลือกแข็งหัวอ่อน น้ำหนักกระสุน 240 แกรน ความเร็ว 1,420 ฟุต/วินาที ที่ระยะ 5 เมตร เป็นต้น ก่อนส่งมอบเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ครู อาสาสมัคร และสื่อมวลชน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
นายเจี่ยง วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า เสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตขึ้น มีการพัฒนามาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิค วิชาการที่เกี่ยวกับอาวุธปืนจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม นักวิจัยเอกชน จากปี 2549 ทำเสื้อเกราะกันกระสุนโดยใช้วัสดุที่เป็นโลหะสแตนเลส 304 จำนวน 2 ชิ้น ความหนา 2 ม.ม. และความหนา 1 ม.ม. ประกบกัน ทำให้สามารถกันกระสุนได้ดีกว่าโลหะที่มีความหนา 3 ม.ม. ถึงปี 2550 พัฒนาโดยใช้โลหะ 2 ส่วน คือ สแตนเลสความหนา 2 ม.ม. และโลหะ อะลูมิเนียม ความหนา 2 ม.ม. รวมความหนา 4 ม.ม. ทำให้สามารถกันกระสุนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังใช้วัสดุที่มีความเหนียวและอ่อนตัวเป็นพิเศษ เสริมด้านหลังของโลหะ เพื่อลดแรงกระแทกเวลาโดนกระสุน ทำให้ลดแรงกระแทกของกระสุนได้ดีขึ้น วัสดุที่ใช้ในการทำเสื้อเกราะกันกระสุนนี้ส่วนใหญ่เป็นวัสดุในประเทศ ทำให้ราคาของเสื้อเกราะมีราคาถูกกว่าของที่นำเข้าจากต่างประเทศมาก อย่างเสื้อเกราะกันกระสุน 2 A ที่ผลิตในเมืองนอกราคาตัวละ 20,000 บาท แต่ของไทยที่ผลิตราคาตัวละ 4,000 บาท
"การที่นำนักศึกษาอาชีวะมาร่วมผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีของนักศึกษาที่จะได้รับความรู้มากมายจากของจริง ทั้งในกระบวนการผลิตของระบบอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ การจัดการ เมื่อมีการปฏิบัติซ้ำๆ จะทำให้เกิดความชำนาญ ซึ่งการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนได้กระจายให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 17 แห่งทั่วประเทศ สามารถผลิตจำนวน 10,000 ตัวได้ภายใน 3-5 เดือน ขณะนี้มียอดเงินบริจาคเข้ามาที่สามารถผลิต เสื้อเกราะกันกระสุนได้แล้ว 3,000 ตัว"
ด้าน น.ส.ศรินทิพย์ ใหญ่ยงค์ นักศึกษา ปวส. 1 ภาควิชาคหกรรมผ้าและเครื่องแต่งกาย วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม หนึ่งในนักศึกษาทีมผลิตเสื้อเกราะ กล่าวว่า มีหน้าที่เย็บถุงใส่แผ่นโลหะ เย็บได้วันละ 20 ถุง ช่วงที่เริ่มทำอาจารย์จะเป็นคนคอยบอกว่าต้องทำอย่างไร แต่ไม่ยากเพราะได้เรียนพื้นฐานการตัดเย็บมาบ้างแล้ว
"ดีใจที่ได้มีส่วนร่วม แม้ว่าจะช่วยเหลือได้ไม่มากนัก แต่ก็ยังดีที่ได้ใช้ความสามารถของตนช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน รู้สึกเป็นห่วงที่คนไทยต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัว ไปเรียนหนังสือก็ไม่ได้ น่าเห็นใจมาก อยากให้คนไทยช่วยกันบริจาคเงินผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนเยอะ จะได้ผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในภาคใต้ได้มากยิ่งขึ้น"
น.ส.อาจรีย์ แจ้งอยู่ นักศึกษา ปวส. 1 คณะคหกรรม ภาควิชาเทคโนโลยีเสื้อผ้า วิทยาลัยอาชีวะนครสวรรค์ กล่าวว่า ทำหน้าที่ตัดเย็บตัวเสื้อเกราะซึ่งใช้ผ้าตาข่ายและผ้าร่ม รายละเอียดของการตัดเย็บค่อนข้างยาก เพราะต้องเย็บให้แข็งแรง เนื่องจากตัวเสื้อจะต้องรองรับแผ่นโลหะที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เพิ่งเข้ามาทำได้ไม่ถึงเดือน ตอนนี้ทำไปแล้ว 25 ตัว ในวันธรรมดาช่วงที่ว่างจากเรียนก็จะมาเย็บ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ จะทำงานทั้งวัน ทำกับเพื่อนๆ อีก 7 คน รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในการทำเสื้อเกราะกันกระสุน และอยากให้เพื่อนๆ ที่เรียนอาชีวะด้วยกันมาร่วมทำเสื้อเกราะกันกระสุนกันมาก เพื่อจะได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายกิตติคุณ เป็นบุญ นักศึกษา ปวส. 2 คณะเทคนิคโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ กล่าวว่า มีหน้าที่ผลิตแผ่นโลหะของเสื้อเกราะ ทั้งการตัด เจาะ เจียร ซึ่งในส่วนของการตัดโลหะที่ใช้ประกอบเสื้อเกราะนั้น จะมีทั้งหมด 4 ชิ้น คือ ขนาด 12x12 นิ้ว จำนวน 2 ชิ้น ใช้สำหรับป้องกันกระสุนในส่วนของบริเวณหน้าอก และแผ่นหลัง และขนาด 3x10 จำนวน 2 ชิ้น ส่วนด้านข้างลำตัว มีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ซึ่งการตัดแผ่นโลหะไม่ยากนัก แต่ละวันจะตัดแผ่นโลหะได้หลายร้อยแผ่น แต่ส่วนที่ยากที่สุดคือการเจาะแผ่นโลหะ เนื่องจากเป็นสแตนเลส อะลูมิเนียม จะต้องใช้ความชำนาญ ต้องมีการวัดองศาอย่างแม่นยำ คือ 118 องศา ไม่อย่างนั้นจะเจาะไม่เข้า แต่ที่ผ่านมาสามารถทำได้ดี ตอนนี้มีเพื่อนๆ ที่ทำด้วยกัน 50 คน ภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดภาคใต้
เข้าไปอ่านกันได้ที่ลิงก์นี้ครับ
และเรายังสามารถร่วมบริจาคเงิน เพื่อซื้อเสื้่อเกราะกันกระสุน
ให้กับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่ชายแดนใต้ ได้ด้วยครับ ที่นี่
สำหรับผู้สนใจร่วมบริจาคเงินทำเสื้อเกราะ
นักศึกษาอาชีวะเชิญชวนบริจาคเงินโดยเข้าบัญชี
กองทุนคนไทยรักแผ่นดิน ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาไอทีสแควร์
หมายเลขบัญชี 202-2-04454-5
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2784-6050