พระบูชารัชกาล

  1. pepsi5510
    pepsi5510



    คําว่า "พระรัชกาล" เดิมเป็นชื่อที่เรียกพระพุทธรูปขนาดบูชาประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

    เนื่อง ด้วยนอกจากมีพระราชนิยมในการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่แล้ว ยังมีคติสร้างพระขนาดบูชาและพระขนาดเล็กประจำพระองค์ เช่น พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ อีกด้วย การสร้างดังกล่าวนั้นอาจจะเห็นได้ชัดเจนในการสร้างพระชัยประจำรัชกาล หรือการสร้างพระชัยหลังช้าง เพื่ออัญเชิญในยามรบทัพจับศึก ต่อมาด้วยศึกเหนือเสือใต้ลดน้อยถอยลง จึงสร้างประจำพระองค์ไว้สักการบูชาในเขตพระราชฐาน




    ธรรมเนียมดังกล่าว ปฏิบัติสืบกันเรื่อยมา จนล่วงเข้าสมัยรัตนโกสินทร์พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่มีพระรัชกาล ประจำพระองค์ทั้งสิ้นโดยเรียกกันว่า "พระชัยประจำรัชกาล" จะมีบางสมัยที่ยังไม่ทันสร้างก็โปรดฯ ให้อัญเชิญองค์ก่อนมาใช้ในราชพิธีและถวายสักการะ เช่น รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นต้น




    ความ นิยมในการสร้างพระชัยประจำรัชกาล เริ่มเผยแพร่สู่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ จึงมีการสร้างพระประจำตัวกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงมิให้ไปมีพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระชัยประจำรัชกาลของ องค์พระมหากษัตริย์ ด้วยเป็นการไม่สมควร

    ประกอบกับในระยะนั้นมีความนิยมในพุทธศิลปะแบบเชียงแสน ที่ถือว่ามีความงดงามและเป็นศิลปะยุคแรกของสยาม แต่จะหาองค์จริง องค์แท้ก็ลำบาก ดังนั้น เมื่อมีการหล่อพระประจำตัวส่วนใหญ่จึงทำเป็นศิลปะเชียงแสน พร้อมกับหล่อเป็นสำริด บ้างทำเป็นเนื้อขันลงหินก็มี

    ด้วยเหตุผลดัง กล่าว รูปแบบพระพุทธรูปที่เรียกว่า "พระรัชกาล" ในระยะแรกจึงเป็นแบบเชียงแสนที่เราเรียกว่า "สิงห์หนึ่ง" คือมีพระเกศเป็นดอกบัวตูม ชายสังฆาฏิอยู่เหนือราวพระถัน ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร และพบว่านิยมทำเป็นแบบ "สิงห์สาม" ด้วย ซึ่งพุทธลักษณะจะมีชายสังฆาฏิยาวลงมาเหนือพระนาภี และขัดสมาธิเพชรเช่นกัน

    พระ รัชกาล เป็นพระบูชาที่จัดทำขึ้นเฉพาะองค์ไม่ใช่เป็นพระโหลหรือพระโรงงาน ดังนั้น การหล่อ การขึ้นรูป การเข้าดิน จึงต้องอาศัยช่างชั้นครู เวลาหล่อก็จะทำแต่องค์แล้วมาเข้าเม็ดพระศกภายหลัง หรือพระรัชกาลยุคแรกๆ ก็จะใช้ดินไทย ไม่ใช่ดินฝรั่งหรือกรรมวิธีฝรั่ง แม้ว่าในบางยุคจะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เช่น ในรัชกาลที่ 4 จะนิยมความเหมือนจริง อาทิ พระ กรรณ ก็จะเหมือนหูมนุษย์ ที่เรียกกันว่า พระรัช กาลหูคน และจีวรแนบเนื้อ ไม่เป็นลายดอกเหมือน "พระรัตนฯ" แต่ก็ยังใช้วิธีการแบบไทยอยู่

    อาจกล่าวได้ว่า การเรียก "พระรัชกาล" มีต้นเค้ามาจากการสร้างพระชัยประจำรัชกาลของกษัตริย์ ก่อนจะแพร่หลายมาเป็นการสร้างพระประจำตัวของชนชั้นสูงในสังคม โดยยึดแบบศิลปะเชียงแสนก่อน

    ต่อมาได้รับความนิยมกว้างขวางมากขึ้น จึงมีพุทธศิลปะแบบอื่นผสมผสานและสร้างสืบเนื่องตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อยมา จนถึงช่วงรัชกาลปัจจุบันราวๆ ก่อนปี พ.ศ.2500 ซึ่งวงการพระถือว่าเป็นปีที่สิ้นสุดการสร้างพระรัชกาล และพระรัชกาลที่สร้างขึ้นตั้งแต่หลังแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว เป็นต้นมานั้น จัดเป็นพระรัชกาลยุคหลังมักเป็นศิลปะผสม พบว่าสร้างเป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์สาม แต่มักเปลี่ยนเป็นประทับนั่งแบบมารวิชัย ไม่ขัดสมาธิเพชร

    "พระรัชกาล" นับเป็นพระที่ได้รับความนิยมในวงการพระและเป็นที่เสาะแสวงหา โดยเฉพาะพระรัชกาลในยุคต้นๆ ครับผม


    ข้อมูลจากข่าวสด
    รูปภาพ ของผมเอง...pepsi5510
Results 1 to 1 of 1