มีผู้ป่วยหลายคนที่ร่างกายปรกติดูภายนอกแข็งแรงดีไม่มีอาการของโรคตับอักเสบ แต่ทราบโดยบังเอิญจากการไปตรวจสุขภาพ แล้วพบว่าผลของค่าตับผิดปกติ และเมื่อมีการอักเสบมากขึ้น จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ ภาวะดีซ่าน หรือหากร้ายแรงจนถึงขั้นเรื้อรังจนเซลล์ตับถูกทำลายหนัก อาจทำให้กลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับในที่สุด วันนี้เรานำความรู้จากทางศูนย์ทางเดินอาหารและตับเกี่ยวกับโรคตับอักเสบ เพื่อว่าหากผู้มีความเสี่ยงได้รู้เร็ว รักษาทันก็ถือเป็นโชคดีของผู้ป่วยในการรักษาในช่วงที่เพิ่งมีอาการเริ่มต้น ด้วยเครื่องไฟโบรสแกน เทคโนโลยีใหม่โรงพยาบาลนครธน


“ตับ” เป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความสำคัญทำหน้าที่กรองของเสีย ขจัดสารพิษตกค้างที่ได้รับจากการรับประทานอาหารให้ออกไปจากร่างกาย หากเกิดภาวะตับอักเสบขึ้นมา ก็จะทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความผิดปกติตามมา และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งการเกิดตับอักเสบนั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่น ๆ อย่างการดื่มแอลกอฮอล์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา สารพิษบางชนิด ฉะนั้นการตรวจคัดกรองสุขภาพตับ หรือตรวจเช็กสุขภาพประจำปี จะช่วยให้สามารถหาแนวทางการป้องกันและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้

ตับอักเสบเป็นอย่างไร
ตับอักเสบ
คือ ภาวะที่ตับเกิดการอักเสบจากสาเหตุอะไรก็ตาม มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากการอักเสบของตับไม่หายไปและเป็นแบบเรื้อรัง จะเกิดพังผืด หรือแผลเป็นในเนื้อตับ เมื่อเป็นมากขึ้น จนกระจายทั่วทั้งตับ เรียกว่า ภาวะตับแข็งและมีโอกาสสูงที่จะมีมะเร็งตับแทรกซ้อนขึ้นได้

ตับอักเสบ มี 2 ประเภท
- ภาวะเฉียบพลัน คือ ตับอักเสบที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตามที่การอักเสบหายได้เองในระยะ 6 เดือน
- ภาวะเรื้อรัง คือ ตับอักเสบจากสาเหตุใดก็ตาม ที่ไม่หายเองภายใน 6 เดือน โดยการตรวจเลือดพบมีร่องรอยของการอักเสบ และมักไม่มีอาการบ่งบอกจนกว่าจะถึงระยะสุดท้ายของโรค หรือตับวาย

ตัวการที่ทำให้ตับอักเสบ
อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1.การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ไวรัสตับอักเสบเอ และอี มักมีการติดต่อหรือแพร่เชื้อผ่านทางการรับประทานอาหาร หรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสซึ่งออกมาจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ
- ไวรัสตับอักเสบบี และซี สามารถติดต่อหลักทางเลือด เพศสัมพันธ์ การสักตามร่างกาย เจาะหูหรืออวัยวะต่าง ๆ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน อาจติดจากมารดาสู่ทารก
- ไวรัสตับอักเสบดี มีการติดต่อจากเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง และเกิดขึ้นกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เท่านั้น เพราะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้หากไม่มีไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย เป็นชนิดที่รุนแรงแต่พบได้น้อย

2.การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อาจเป็นเหตุให้ตับเกิดความเสียหายหรืออักเสบได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์ตับ ทำให้เกิดตับแข็ง

3.การใช้ยาและได้รับสารพิษบางชนิด โดยการใช้ยาเกินปริมาณและเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิดในปริมาณน้อยก็อาจสร้างความเสียหายต่อตับได้ เช่น ยาพาราเซตามอล ไอบูโพรเฟ่น ยารักษาวัณโรค รวมถึงยาฮอร์โมน วิตามินบำรุง หรือสมุนไพรต่าง ๆ

4.ภาวะไขมันพอกตับ สัมพันธ์กับภาวะต่าง ๆ ได้แก่ โรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนลงพุง ผู้ตรวจพบโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ การรับประทานอาหารพลังงานสูงเป็นประจำ เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน

5.สาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อจากโรคไข้เลือดออก ไข้รากสาด ไข้ป่า การอุดกันทางเดินน้ำดี จากภูมิแพ้ตนเอง เป็นต้น

อาการของตับอักเสบ
สามารถพบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ แต่ทราบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ แล้วพบว่าค่าตับผิดปกติ เมื่อมีการอักเสบมากขึ้น จะเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยง่าย ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ ภาวะดีซ่าน หรือหากร้ายแรงจนถึงขั้นเรื้อรังจนเซลล์ตับถูกทำลายมาก ๆ อาจทำให้กลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด

การตรวจวินิจฉัยตับอักเสบ
มักพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ แล้วพบว่าค่าตับผิดปกติ โดยเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วย เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค และอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยตับอักเสบร่วมด้วย ได้แก่
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาค่าการทำงานของตับ ได้แก่ ค่า ALT, AST, ALP ที่ผิดปกติ หรือการตรวจหาเชื้อไวรัส
- การตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) เป็นการตรวจไขมันในตับและการตรวจพังผืดในตับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยประเมินปริมาณไขมันในตับรวมถึงระดับพังผืดและตับแข็งได้โดยที่ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว ใช้เวลาไม่นาน

การรักษาตับอักเสบ
วิธีการรักษาจะแตกต่างกันตามสาเหตุ และความรุนแรงของตับอักเสบ ดังนี้

1.จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ไวรัสตับอักเสบเอ และอี เป็นการติดเชื้อที่ค่อนข้างเฉียบพลันและหายเองได้ในระยะสั้น แพทย์อาจแนะนำให้นอน พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ไวรัสตับอักเสบดี พบได้น้อยมาก ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัส
- ไวรัสตับอักเสบบี เมื่อพบว่าเป็นแบบเฉียบพลันส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เอง หากเป็นแบบเรื้อรังผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาต้านเชื้อไวรัสหรือยาอื่น ๆ แพทย์ต้องประเมินการรักษาเป็นประจำ และรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันมียาต้านเชื้อไวรัสชนิดรับประทานที่ได้ผลดี สามารถรักษาจนหายขาดได้

2.จากการดื่มแอลกอฮอล์ ควรหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการรักษาด้วยยานั้นจะใช้ในกรณีบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดการอักเสบของตับ

3.จากการใช้ยาและได้รับสารพิษบางชนิด รักษาได้ด้วยการหยุดใช้ยาหรือสารที่เป็นต้นเหตุ และรักษาตามอาการป่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

4.จากภาวะไขมันพอกตับ หากพบว่าเป็นไขมันพอกตับ แพทย์จะพิจารณาให้ยารับประทานตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงหรืองดความเสี่ยงๆ หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยตับอักเสบ
1.ควรรับประทานอาหารเหมาะสม เป็นอาหารที่ถูกสุขอนามัย สะอาดและครบทุกหมู่
2.หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น รวมถึงยาสมุนไพร ยาลูกกลอนและอาหารเสริมจำนวนมาก
3.ผู้ป่วยตับแข็งควรรับประทานอาหารที่สุก สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง
4.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์ทุกชนิด
5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอผู้ป่วยตับอักเสบควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หักโหมเหมาะกับวัย เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ
6.ใช้ยาตามที่แพทย์กำหนด ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ทุกครั้งในการใช้ยา
7.ควรตรวจเลือดทุก 3-6 เดือนและตรวจอัลตราซาวด์ทุก 6-12 เดือน

ตับอักเสบป้องกันได้อย่างไร
หลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่

1.การเจาะ สักผิวหนัง
- การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
- การใช้ของมีคมร่วมกับบุคลอื่น เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ
- การมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน
- บุคลากรทางการแพทย์ ควรสวมถุงมือ แว่นตา หรือชุดคลุมเมื่อต้องสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์ เพื่อให้ตับได้พักจากการทำงานหนัก และป้องกันความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์

2.หญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีความจำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ เพื่อป้องกันทารกการติดเชื้อ

3.การฉีดวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี จะมีประสิทธิภาพดี โดยฉีดเพียง 3 เข็ม (0,1,6 เดือน) สามารถสร้างภูมิต้านทานได้มากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต รวมทั้งวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอด้วยเช่นกัน

ตับอักเสบ สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งที่แบบมีอาการและไม่มีอาการ การตรวจคัดกรองตับและตรวจเช็กสุขภาพประจำปี จะช่วยให้เราทราบแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งหาสาเหตุต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการรักษา ป้องกันก่อนเกิดผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาได้ สนใจการตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน เทคโนโลยีใหม่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับทางศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลนครธน เรามีความพร้อมเป็นอย่างมากมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ และคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลก่อนได้ตามลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/article/d...าได้