คนส่วนใหญ่มักคิดว่าปัญหาการปวดท้องเป็นเรื่องปกติ ที่ปล่อยไว้ก็สามารถหายเองได้ ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะใช่ แต่จะไม่ใช่กับนิ่วในถุงน้ำดี เพราะเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกคน และมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา ทราบหรือไม่ว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เป็นของทอดหรือของมันบ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gall stone) ซึ่งโรคนี้เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด และไม่แสดงอาการอย่างแน่ชัด มีเพียงอาการปวดท้อง แน่นท้อง อืดท้องเพียงเท่านั้น

อาการของนิ่วในถุงน้ำดีนั้น โดยส่วนใหญ่ ช่วงแรกมักไม่เกิดอาการ และอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดจุกแน่นท้อง ใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ท้องอืด อิ่มง่าย โดยเฉพาะกินอาหารมัน ๆ หลังอาหารมื้อใหญ่ แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการอักเสบของถุงน้ำดี จะทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณช่องท้องส่วนบน หรือด้านขวา มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน บางคนมีอาการปวดท้องแบบผิดปกติ นาน 2-3 ชั่วโมง โดยปวดร้าวไปสะบักขวาด้านหลังส่วนล่าง และถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม

นิ่วในถุงน้ำดีมีอาการคล้ายกับโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารอักเสบ และใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็น "นิ่วในถุงน้ำดี" ? นิ่วถุงน้ำดีมักพบในคนที่มี 4 ลักษณะหรือที่เราเรียกว่า 4F คือ Forty, Fertile, Fatty และ Female หรือแปลได้ว่า มักพบในผู้หญิง รูปร่างท้วมอายุ ประมาณ 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรหลายคน ซึ่งบางคน บังเอิญตรวจพบแม้ไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่มีลักษณะดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี 1-2 % ต่อปี และในปัจจุบันเราพบว่าคนเป็นนิ่วถุงน้ำดีมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่เคยรู้จักอาการของนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อนอาจทำให้ปล่อยปละละเลยจนเป็นอันตรายมากกว่าที่คิดได้ค่ะ