คุณเชื่อหรือไม่ว่า หากเราอยากจะรีวิวสภาพสังคมแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมาว่ามีการเปลี่ยนผ่านเรื่องอะไรมาบ้าง เราสามารถสังเกตได้จาก ถังขยะ ถึงแม้จะเป็นภาชนะที่รองรับของเสีย ของใช้แล้ว ที่คุณคุ้นตา แต่หากพิจารณากันอย่างถ้วนถี่ ถังขยะเหล่านี้สามารถบอกอะไรเราได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นถังขยะทั่วไป ถังขยะเปียก หรือถังขยะรีไซเคิลก็ตาม ไม่เชื่อลองไปดูกัน


ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน ถังขยะที่เราเห็นกันตามท้องถนนมีเพียงรูปแบบเดียวคือ ถังขยะทั่วไป ที่ใส่ขยะของเสีย อาหารเหลือทิ้ง หรือของที่ใช้แล้วทุกชนิด เทรวม ๆ กันไป เป็นอันหมดหน้าที่ แค่ทิ้งให้ลงถังขยะได้ ก็เรียกว่าเป็นคนมีวินัยมากแล้ว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ช่วงปี พ.ศ. 2557 ที่ทั่วโลกต่างกระตุ้นเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจก จึงปรากฏถังขยะสีเหลืองสดใสอย่าง ถังขยะรีไซเคิล และตามมาด้วยการแยกประเภทขยะให้ลงถังอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นขยะเปียกต้องใส่ถังสีเขียว ขยะทั่วไปใส่ถังสีน้ำเงิน ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอันตรายที่อาจเป็นพิษใส่ถังสีเทา ส่วนของที่สามารถนำมารีไซเคิลใช้ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม กล่องนม ฯลฯ ให้ทิ้งลงในถังขยะรีไซเคิล

เราจึงได้เห็นอาคารสถานที่ต่าง ๆ หรือตามปั๊มน้ำมัน สถานศึกษา สถานที่ราชการ ตั้งถังขยะหลากสีเรียงรายกันอย่างน่าดู และเป็นการวัดใจผู้ที่มาทิ้งว่าจะใส่ถูกถังหรือไม่ และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าเราจะเห็นคนยืนนิ่งอึ้งอยู่หน้าถังขยะเป็นเวลานาน เพราะไม่แน่ใจว่าควรทิ้งถังไหนดี แต่ก็เรียกว่าภายใต้การยืนอึ้งนั้นมีความน่าชื่นชมซ่อนอยู่ เพราะเขาเหล่านั้นกำลังพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรทิ้งลงถังไหนกันแน่ ซึ่งเป็นการยกระดับจิตสำนึกที่ดีกว่าการสักแต่ว่าทิ้งเป็นไหน ๆ แต่ถ้าที่ใดอำนวยความสะดวกแก่ผู้ทิ้งขยะ ซื้อถังที่สกรีนชื่อประเภทขยะตัวโต ๆ เช่น “ถังขยะรีไซเคิล” ก็เรียกว่าเป็นอานิสงส์มาก

ยิ่งปัจจุบันมีรูปแบบถังขยะมากมาย ทั้งแบบทรงกลม ทรงเหลี่ยม หลากสีสันอย่างถูกต้องตามหลักสากล และมีให้เลือกทั้งแบบฝาเปิด ฝาบานสวิง มีดีไซน์ทั้งแบบสีสันอร่ามทั้งถังแบบถังขยะเทศบาล เช่น เหลืองเด่นแบบตะโกนไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนว่าเป็นถังขยะรีไซเคิล หรือจะเลือกดีไซน์แบบเรียบง่ายเข้ากับอาคารสถานที่ด้วยสีถังขาวขุ่น มีสีสัญลักษณ์แยกประเภทขยะที่ฝาบน และมีตัวอักษรพร้อมสัญลักษณ์ที่ด้านข้างตัวถังให้ชัดเจนว่า “ขยะทั่วไป ถุงพลาสติก โฟม” “ขยะเปียก เศษอาหาร ผลไม้” ก็เป็นการช่วยผู้ทิ้งขยะให้ไม่ต้องยืนเล็งอยู่หน้าถังอีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีขนาดความจุของถังขยะให้เลือกตามความเหมาะสมทั้งแบบ 50 ลิตร 60 ลิตร 100 ลิตร หรือ 240 ลิตร มีราคาให้เลือกตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันตามขนาดความจุที่มากขึ้น

และล่าสุดในยุคโควิด-19 ที่เราได้เห็นถังขยะติดเชื้ออันตราย สีแดงสะดุดตา แม้จะเป็นถังขยะที่มีอยู่ในโรงพยาบาลมานาน แต่ก็อาจเรียกว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ที่จะเห็นถังสีแดงเหล่านี้ตั้งอยู่ริมทางสาธารณะเป็นจำนวนมากอย่างเช่นทุกวันนี้

ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตเราจะได้เห็นวิวัฒนาการของถังขยะที่อยู่คู่กับสังคมไปในทิศทางไหน แต่ที่หวังว่าจะมีมากยิ่งขึ้นคือ จิตสำนึกที่ดีในการทิ้งขยะและวินัยที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เราพร้อมเผชิญทุกความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติได้อย่างแน่นอน