เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ ของการปวดคอและปวดหลังส่วนบนกันมาบ้าง วิธีแก้ไขเบื้องต้นที่ทุกคนนิยมทำกันก็มีหลายวิธี เช่น การนวดด้วยสมุนไพร ทำท่ากายบริหารต้นคอ ใช้แผ่นประคบร้อน ประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง และทานยาแก้ปวด หากมีอาการปวดคอ เล็ก ๆ น้อย ๆ ทำวิธีที่ว่ามาทั้งหมดนี้อาการปวดคอก็อาจจะดีขึ้น แต่ก็มีบางคนที่ยังคงมีอาการปวดคอและปวดหลังส่วนบน ทั้งที่ทำตามทุกวิธีที่กล่าวมาแล้ว อาการปวดคอและปวดหลังส่วนบนที่เป็นก็ไม่ดีขึ้นเลย จนเริ่มมีผลกระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวัน อาการปวดคอและปวดหลังส่วนบน เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรกันแน่ หากไม่รีบรับการรักษา อาการจะมีความรุนแรงมากหรือไม่?

วันนี้เรามีความรู้ดี ๆ จากทางศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธนมาฝากกัน เพื่อช่วยให้คุณได้ทำความเข้าใจ รู้ถึงแนวทางการแก้ไข เพื่อจะได้รีบทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการปวดคอและปวดหลังส่วนบนเรื้อรังที่เป็นอยู่ จะลุกลามบานปลายจนอาจทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้นนั่นเองค่ะ


อาการปวดคอและปวดหลังส่วนบน เป็นอาการที่พบได้บ่อยและสร้างปัญหาให้แก่คนส่วนใหญ่ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องเคยมีประวัติการ ปวดอย่างน้อยคนละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่มักเกิดจากท่าทางการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ และโรค เกี่ยวกับกระดูกที่ทำให้เกิดอาการปวดคอและปวดหลังส่วนบนได้

สาเหตุของอาการปวดคอและปวดหลังส่วนบน
- อาการบาดเจ็บหลังเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย กล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาด
- การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป
- ข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม
- หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท

วิธีดูแลและบรรเทาอาการปวดคอด้วยตนเองเบื้องต้น
- พยายามนั่งหลังตรง
- ออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
- นวดเบาๆ บริเวณที่มีอาการปวด
- ประคบร้อน หรือเย็น
- รับประทานยาบรรเทาอาการปวด

ปวดคอแบบไหนควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
ถึงแม้ว่าอาการปวดอาจต้องใช้เวลากว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่

อาการปวดหลัง ปวดคอไม่ทุเลาลงภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถทนได้จนรบกวนกิจวัติประจำวัน (ลุก นั่ง ยืน เดิน)
- มีอาการปวดรุนแรง ปวดรุนแรงแบบฉับพลัน แบบไม่ปกติ
- อาการปวดไม่หายขาดมานานกว่า 3 เดือน
- อาการปวดคอร่วมกับ อาการปวดร้าวลงแขน แขนชาหรืออ่อนแรง
- มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาเกร็งแข็ง
- มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ

การรักษาอาการปวดคอและปวดหลังส่วนบน
แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ระยะเวลา พร้อมทำการตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด และอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์ และ/หรือตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) รวมถึงวัดการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย โดยมีแนวทางการรักษาประกอบด้วย

การรักษาอาการปวดคอและปวดหลังส่วนบนโดยไม่ต้องผ่าตัด ได้แก่
1.การรักษาแบบประคับประคอง

การรับประทานยา การนอนพัก การให้ออกกำลังกายแบบใช้ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อที่คอเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่คอ มักเป็นวิธีที่ใช้เริ่มต้นในการรักษา ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าต้องได้รับการรักษาโดยวิธีอื่น

2.การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง
การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง เป็นยาที่ผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลังหรือใกล้กับบริเวณที่มีอาการปวด จะช่วยลดความปวดจากการอักเสบ และช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน

ทั้งนี้การรักษาอาการปวดคอและปวดหลังส่วนบนด้วยวิธีนี้จะให้ประสิทธิผลดีที่สุดเมื่อทำร่วมกับกายภาพบำบัด หรือโปรแกรมการออกกำลังกายที่บ้านเพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อหลังและคอ สำหรับผู้ป่วยที่อาการปวดบรรเทาลงมากแล้ว การรักษาเพิ่มเติมหรือการผ่าตัดอาจไม่จำเป็นก็ได้

การรักษาอาการปวดคอและปวดหลังส่วนบนโดยการผ่าตัด ได้แก่
1.การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า รักษาโรคหรือภาวะหมอนรองกระดูกต้นคอเลื่อนกดทับเส้นประสาท หรือทับไขสันหลังหรือหมอนรองกระดูกต้นคอที่เสื่อม ร่วมกับมีกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท

2.การเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมส่วนคอ การที่นำหมอนรองกระดูกบริเวณส่วนคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดออก และนำหมอนรองกระดูกเทียมใส่เข้าไปแทนที่ นอกจากนี้ศัลยแพทย์สามารถตัดกระดูกส่วนที่งอกออกมา และขยายพื้นที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทและรากประสาท

3.การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) เป็นการผ่าตัดสำหรับโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือ โรคโพรงประสาทตีบแคบ โดยการสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดซึ่งมีขนาดเพียง 7.9 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของเอ็นโดสโคปจะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก

มั่นใจในมาตรฐานศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน
โรงพยาบาลนครธน ร่วมมือกับ “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” ให้บริการเฉพาะทางสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลัง โดยทีมแพทย์และพยาบาลชำนาญเฉพาะทาง พร้อมด้วย เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope อันทันสมัย ในราคาเข้าถึงได้ ทางศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน มีความพร้อมเป็นอย่างมากมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับและคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลก่อนได้ตามลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน : https://www.nakornthon.com/article/d...วนใจ