แนวทางการรักษาโรคหัวใจในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาหลายแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจด้วย มักประกอบด้วยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การใช้ยา การผ่าตัด และวิธีการรักษาที่แพทย์นิยมทำโดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด เช่นการฉีดสีหัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจ สามารถขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการทำบอลลูนหัวใจนั่นเอง ผู้ป่วยโรคหัวใจหลายคนอาจกำลังกังวลใจและมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า หากจะเลือกการรักษาด้วยวิธีสวนหลอดเลือดหัวใจนั้นจะดีหรือไม่? แล้วมีความปลอดภัยหรือเปล่า? วันนี้เรานำคำตอบจากทางศูนย์หัวใจโรงพยาบาลนครธน มาเพื่อไขข้อสงสัยให้คุณได้ทราบว่าจริง ๆ แล้ว การสวนหลอดเลือดหัวใจ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่งมีรายละเอียดทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ดังนี้ค่ะ


การทำบอลลูนหัวใจ หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด (PCI: Percutaneous coronary intervention) เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน ทำให้เลือดสามารถกลับมาไหลเวียนได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และปลอดภัย โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลาไม่นาน ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและบ้านกลับได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การทำบอลลูนหัวใจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก และไม่จำเป็นต้องวางยาสลบในกระบวนการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม

รู้จัก การทำบอลลูนหัวใจ
การทำบอลลูนหัวใจ หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจให้กว้างขึ้น ด้วยการสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่ออ่อนที่มีบอลลูนขนาดจิ๋วอยู่ตรงปลายเข้าไปทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ เมื่อถึงบริเวณที่หลอดเลือดตีบจึงต่อสายบอลลูนเข้ากับเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อดันให้บอลลูนขยายออก เบียดคราบไขมัน คราบหินปูนที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดให้ยุบแบนลงและขยายหลอดเลือดให้กว้างออก เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้ง

ทั้งนี้ในปัจจุบันการทำบอลลูนหัวใจ แพทย์อาจพิจารณาใส่ขดลวด (stent) ที่มีลักษณะที่เป็นโครงตาข่าย เข้าไปค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือดที่ตีบเพื่อเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งที่ทำการขยายบอลลูนร่วมด้วย ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในบางกรณีอาจมีการนำขดลวดที่เคลือบด้วยยามาใช้แทนขดลวดธรรมดา เพื่อป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจเมื่อเวลาผ่านไป

ประโยชน์ของการทำบอลลูนหัวใจ
การทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวด จะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการผ่าตัดบายพาส เพราะไม่ต้องทำการผ่าตัดและดมยาสลบ นอกจากนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่ต้องกังวลกับอาการภาวะหัวใจขาดเลือด สามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลงอีกในอนาคต

การเตรียมตัวก่อนการทำบอลลูนหัวใจ
1.ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำดื่ม 6-8 ชั่วโมง
2.แพทย์จะสอบถามอาการแพ้ยาและแพ้อาหารทะเล โรคประจำตัว และตรวจร่างกายผู้ป่วย
3.หากผู้ป่วยมียาที่รับประทานเป็นประจำ ได้แก่ ยาเบาหวาน โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และนำมาให้แพทย์ดู

ขั้นตอนการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด
1.แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนทำการเจาะหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือหรือขาหนีบ
2.แพทย์จะสอดท่อพลาสติกอ่อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตรเข้าไปในหลอดเลือดแดง เพื่อเป็นทางผ่านเข้าออกของสายสวนหัวใจเข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ของหัวใจ
3.จากนั้นจะทำการฉีดสี หรือสารละลายทึบรังสีเข้าไปในท่อเล็ก ๆ นี้ ทำให้สามารถเห็นภายในหลอดเลือดว่ามีการตีบที่บริเวณใด
4.เมื่อพบจุดที่หลอดเลือดตีบ แพทย์จะทำการใส่สายสวนหัวใจ เพื่อทำการขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย (Stent) ใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที หลังจากดำเนินการเสร็จแล้ว ท่อที่ขาหนีบหรือข้อมือจะถูกดึงออกและกดรูเข็มที่เจาะไว้ แล้วกดตรงบริเวณที่ใส่สายเข้าไป เพื่อให้เลือดหยุด โดยใช้ยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วยให้เลือดหยุดได้เร็วขึ้น แล้วแต่กรณีและความเห็นของแพทย์ผู้ทำหัตถการ

การปฏิบัติตัวหลังจากการทำ
1.ต้องนอนราบอย่างน้อยประมาณ 6 - 10 ชั่วโมง หลังทำการตรวจสวนหัวใจ
- กรณีทำการฉีดสีผ่านขาหนีบ หลังจากทำเสร็จจะดึงสายสวนออก และกดบริเวณขาหนีบประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยต้องนอนราบ และงอขาหนีบไม่ได้ 6-10 ชั่วโมง ไม่สามารถลุกนั่ง หรือเดินได้ในทันที
- กรณีทำการฉีดสีผ่านข้อมือ วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก อ้วนมาก หรือมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ โดยใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-8 ชม. หลังจากทำเสร็จสามารถลุก นั่ง หรือยืนได้ทันที มีเพียงสายรัดข้อมือ (TR band) ใส่ไว้ แต่ไม่นานก็สามารถถอดออกได้
2.ระหว่างนี้ควรจะดื่มน้ำ ประมาณ 1 ลิตร หากไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำดื่ม เพื่อขับสารทึบรังสี
3.ดูแลแผลตำแหน่งที่ทำหัตถการอย่าโดนน้ำประมาณ 3 วัน หรือหากโดนให้ใช้เบตาดีนเช็ดบริเวณแผล
4.สังเกตตำแหน่งบริเวณที่ทำหัตถการ หากมีเลือดไหล ปวด บวม แดงร้อน หรือเย็น ซีด เป็นก้อน ให้แจ้งพยาบาลประจำหอผู้ป่วยได้ทันที
5.ถ้าปวดแผลบริเวณที่ทำหัตถการ สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อน
6.รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง สังเกตอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอกให้มาพบแพทย์ทันที
7.งดออกกำลังกายหนักหรือใช้แรงมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก
8.ห้ามยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม ประมาณ 1 เดือน หลังทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ
9.หากไอหรือเบ่ง ให้กดบริเวณแผลไว้ หลังทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ ประมาณ 7 สัปดาห์ (ในกรณีทำบริเวณขาหนีบ)

ภาวะแทรกซ้อนในการทำบอลลูนหัวใจ
การทำบอลลูนหัวใจมีความเสี่ยงน้อยเพียง 1% แต่ยังคงมีความเสี่ยงของการทำบอลลูนหัวใจอยู่บ้าง โดยภาวะเสี่ยงของการทำบอลลูนหัวใจอาจมีดังต่อไปนี้
1.ติดเชื้อ มีเลือดออก หรือปวดบริเวณที่ใช้สายสวน
2.เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
3.แพ้สารทึบแสง อาจเกิดภาวะช็อกได้
4.หัวใจเต้นผิดจังหวะ
5.บางรายอาจเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจทะลุระหว่างทำการสอดใส่ท่อบอลลูนเข้าไปในเส้นเลือด
6.เกิดภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง (อุบัติการณ์น้อยกว่า 0.2%)
7.เสียชีวิต (อุบัติการณ์น้อยกว่า 0.5%)

อย่างไรก็ตาม การทำบอลลูนหัวใจภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำก็จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ สำหรับผู้ที่สนใจหรือมีข้อมูลที่อยากสอบถามเพิ่มเติม ในเรื่องเกี่ยวกับการทำบอลลูนหัวใจ ทางศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน มีความพร้อม และมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ และคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมก่อนได้ตามข้อมูลที่ให้ไว้ได้เลยค่ะ : https://www.nakornthon.com/article/d...บตัน