ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายถึงชีวิตของคนเรามากที่สุดคงหนีไม่พ้นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณหัวใจ โดยสาเหตุที่เราต้องบอกกันเช่นนี้ก็เพราะหัวใจมีความสำคัญอย่างมากในการสูบฉีดเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ดังนั้นหากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ร่างกายของเราก็อาจเกิดภาวะรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันตามมาได้

ในเมื่ออาการดังกล่าวเป็นเหมือนกับภัยร้ายที่สามารถสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงให้กับชีวิตของเราได้เช่นนี้ ดังนั้นเราจึงไม่พลาดที่จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะรายละเอียดในส่วนของสาเหตุและอาการกันแบบเจาะลึกเพื่อให้เราทุกครู้เท่าทันความผิดปกติดังกล่าวและสามารถมองหาแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมก่อนจะสายเกินแก้


หัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร?

หากจะให้อธิบายแบบง่ายๆ อาการดังกล่าวก็คือภาวะที่หัวใจของเราเต้นไม่ตรงตามจังหวะที่ควรจะเป็น โดยในบางรายหัวใจอาจจะเต้นเร็วจนเกินไป หรือในบางรายหัวใจอาจจะเต้นช้าจนเกินไป โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้แก่ความผิดปกติของการเกิดกำเนิดกระแสไฟฟ้า ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่งภายในหัวใจ

สาเหตุ

ในบรรดาโรคทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นเป็นอีกหนึ่งภาวะที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเราสามารถจำแนกสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าวออกเป็น 4 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้

ปัจจัยที่เป็นมาแต่กำเนิด – ปัจจัยข้อนี้มักเกิดขึ้นจากความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิดซึ่งถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม โดยตัวอย่างของความผิดปกติดังกล่าวได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจหนา, ผนังหัวใจรั่ว และลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับอายุ - เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจของคนเราก็ย่อมมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลงจนส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับโรคประจำตัว – ในบางกรณี อาการหัวใจเต้นผิดปกติก็อาจจะเกิดขึ้นได้จากโรคประจำตัวบางประเภทที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการทำงานของหัวใจ เช่น เบาหวาน, ไขมันในเลือด และไขมันโลหิตสูง

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต – พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว โดยตัวอย่างของพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน, การสูบบุหรี่, การรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ

อาการ

ดังที่เราได้บอกไปในข้างต้นว่าอาการหัวใจเต้นผิดปกตินั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเต้นของหัวใจเร็วเกินกว่าปกติ และการเต้นของหัวใจช้าเกินกว่าปกติ โดยเราสามารถสังเกตได้ว่าตัวเองมีอาการผิดปกติดังกล่าวได้หรือไม่ด้วยการลองวัดอัตราการเต้นของหัวใจตัวเองดู (ควรอยู่ที่ 50-100 ครั้งต่อนาที หากมากหรือน้อยเกินกว่านี้ให้สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าเราอาจจะมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ) นอกเหนือไปจากอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว สัญญาณอื่นๆ ของอาการดังกล่าวยังประกอบไปด้วย อาการเหนื่อยง่าย, ใจสั่น, วูบ และหน้ามืด เป็นต้น

แนวทางการป้องกัน

นอกเหนือไปจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านพันธุกรรมแล้ว เราจะเห็นได้ว่าสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะล้วนแล้วแต่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเอง โดยเราสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงอันตรายดังกล่าวได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, รับประทานอาหารที่บำรุงการทำงานของหัวใจ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและโอเมกา 3, หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง