ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ คืออะไร
ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ หมายถึง สตรีตั้งครรภ์มีความเข้มข้นของเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เป็นความผิดปกติทางระบบเลือดที่พบได้บ่อยที่สุดในระหว่างตั้งครรภ์


โลหิตจางในสตรีตั้งครรภ์เกิดได้อย่างไร
สาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุด มักเกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงนั่นเอง
สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่
• สูญเสียเลือดเรื้อรังตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จากการเป็นประจำเดือน
• ขาดกรดโฟลิก
• โลหิตจางเนื่องจากมีกรรมพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งพบมากในคนไทย
• สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้โลหิตจางเรื้อรังได้เช่น โรคไต โรคเอสแอลอี (SLE)

ผลกระทบจากภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ต่อคุณแม่
• อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
• เสี่ยงต่อการแท้ง และคลอดก่อนกำหนด
• เมื่อมีการเสียเลือดจากการคลอด จะทำให้ฟื้นตัวได้ช้าหลังคลอด เกิดภาวะช็อคได้ง่าย
• ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ

ผลกระทบจากภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ต่อลูกน้อย
ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนาของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเติบโตช้า คลอดก่อนกำหนด รวมถึงทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติได้

โลหิตจาง และการขาดธาตุเหล็ก สำคัญกว่าที่คิด
ธาตุเหล็กมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากธาตุเหล็กทำหน้าที่ช่วยส่งผ่านอ็อกซิเจนจากคุณแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางรก ซึ่งออกซิเจนกว่า 60% ที่ส่งไปนั้นจะไปเลี้ยงสมองของทารกในครรภ์นั่นเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ธาตุเหล็กมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์

สมองของทารกในครรภ์มีการพัฒนาอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยเริ่มมีการสร้างรอยหยักในสมองตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ สมองจะพัฒนาส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว และเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ สมองทารกจะมีการสร้างโครงข่ายเส้นประสาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะพัฒนายาวนานไปจนถึงอายุ 2 ปีหลังคลอด



รอให้โลหิตจางแล้วจึงค่อยกินยาธาตุเหล็กเพื่อบำรุง ก็สายไป
เนื่องจากธาตุเหล็กของสตรีตั้งครรภ์จะถูกนำไปใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงเป็นอันดับแรกก่อน ดังนั้นถ้าตรวจพบว่าโลหิตจางในขณะตั้งครรภ์ย่อมแปลว่า ธาตุเหล็กที่จะทำหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเสี้ยงสมองของทารกในครรภ์ไม่เพียงพอเสียแล้ว

อยากให้ลูกน้อยเฉลียวฉลาดทั้ง IQ และ EQ ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
การขาดธาตุเหล็กในสตรีตั้งครรภ์มีผลต่อความสามารถของสมองเด็กในการจดจำ และเรียนรู้สิ่งต่างๆตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเรียน มีรายงานว่า คุณแม่ที่ขาดธาตุเหล็กตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะมีโอกาสทำให้เด็กที่คลอดออกมาเป็นออทิสติกสูงขึ้น และหากขาดธาตุเหล็กในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจิตเภทในบุตรถึง 30%
นอกจากนี้ ยังเกี่ยวพันถึงปัญหาทางอารมณ์เมื่อเด็กเติบโตขึ้น เช่นภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวลอีกด้วย


จะทราบได้อย่างไรว่า มีภาวะโลหิตจาง หรือขาดธาตุเหล็กหรือไม่
สามารถตรวจได้โดยการเจาะตรวจเลือด ซึ่งสามารถวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง การขาดธาตุเหล็ก รวมถึงโรคธาลัสซีเมียได้ เมื่อทราบการวินิจฉัย ก็จะสามารถวางแผนการดูแลรักษา หรือใช้ยาธาตุเหล็กเสริมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากตรวจตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ก็จะช่วยในการวางแผนมีบุตร หรือตรวจในระหว่างตั้งครรภ์ก็จะช่วยในการดูแลคุณแม่และทารกในครรภ์ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูล
พญ.พัชราภรณ์ วงศาโรจน์
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ศูนย์ครรภ์คุณภาพ ชั้น 4
โทร 0-2596-7901 หรือ 0-2596-7888
https://www.nonthavej.co.th/pregnancy-Anemia.php