มะเร็งเต้านม” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลก ถือเป็นภัยเงียบภัยร้ายใกล้ตัวที่น่ากลัวและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 เนื่องจากไม่มีสัญญาณเตือน ดังนั้นการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้

วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งกับ ทำให้การรักษามะเร็งเต้านมมีการพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้น ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านมที่มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้เป็นมะเร็งเต้านมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ

การผ่าตัดเพื่อการรักษามะเร็งเต้านม
การผ่าตัดเพื่อการรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้หลายวิธี ในอดีตมาตรฐานรักษามะเร็งเต้านม คือ การตัดเต้านมทิ้งรวมถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ซึ่งเป็นมาตรฐานการรักษาที่ใช้กันมายาวนาน ปัจจุบันมีทางเลือกการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบอื่น ๆ ซึ่งได้ผลการรักษาที่เท่าเทียมกัน เช่น

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า หรือตัดเพียงก้อนมะเร็งออกร่วมกับการฉายแสง หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องรับการฉายแสงร่วมด้วย เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ และยังคงสามารถรักษาความสวยงามและรูปร่างของเต้านมใกล้เคียงกับของเดิม โดยมีผลการรักษาดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบตัดเต้านมทิ้ง แพทย์จะสามารถเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงรวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับรูปลักษณะของเต้านมหลังการผ่าตัด การรักษาวิธีนี้แพทย์ต้องมีผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ ทราบตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่ชัดเจน เพื่อสามารถประเมินว่าจะเก็บเต้านมนั้นได้หรือไม่

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ประเมินแล้วไม่สามารถที่จะเก็บเต้านมไว้ได้จำเป็นต้องตัดเต้านม หรือผู้ป่วยไม่มีความประสงค์จะเก็บเต้านมไว้ ศัลยแพทย์จะตัดเต้านมออก โดยแบ่งเป็น 2 แบบคือ ตัดเฉพาะเต้านมและเก็บผิวหนังไว้ หรือตัดเต้านมและผิวหนัง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายที่ไม่สามารถเก็บเต้านมและผิวหนังไว้ได้ ก็สามารถสร้างเต้านมใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อผู้ป่วยเอง เช่น การใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องและผิวที่หน้าท้อง หรือใช้กล้ามเนื้อและผิวหนังบริเวณหลังมาสร้างเต้านมใหม่ทดแทน ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นสามารถก็จะสามารถเก็บผิวเต้านมไว้ได้ ศัลยแพทย์จะพิจารณาสร้างเต้านมใหม่โดยการใช้ซิลิโคน ซึ่งสามารถทำในเวลาเดียวกับการผ่าตัดเอาเต้านมออกหรือทำภายหลังก็ได้

เนื่องจากปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมมีผลการรักษาที่ดีกว่าเดิมมาก ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว การรักษาโรคร่วมกับการเก็บรักษาเต้านม หรือรูปร่างของเต้านมไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ลดความสูญเสีย เพิ่มความมั่นใจ ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่มีผลเสียใด ๆ ต่อการักษา

ภายหลังการรักษามะเร็งเต้านมด้วยผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาอื่นร่วมด้วยเพื่อการรักษามะเร็งเต้านม ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ

การรักษามะเร็งเต้านมใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยออกฤทธิ์ทั่วร่างกายต่างจากการผ่าตัดซึ่งให้ผลเฉพาะที่ จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมที่หลงเหลือหรือมีการหลุดรอดไปยังระบบอื่นๆ ช่วยให้มีโอกาสหายขาดและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามยาเคมีบำบัดนี้ นอกจาะจะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ก็อาจมีผลต่อเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ไขกระดูก ผมและขนตามร่างกาย ระบบสืบพันธ์และเยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากกการใช้ยาได้ อย่างไรก็ตามเซลล์ปกติสามารถที่จะสร้างเซลล์ใหม๋ขึ้นทดแทนเซลล์ที่ถูกทำลายได้ ดังนั้นผลข้างเคียงจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว และสามารถกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติเมื่อสิ้นสุดการรักษา ปัจจุบันนิยมให้ยาเคมีหลายชนิดร่วมกันเพื่อให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียว โดยเลือกใช้ตามชนิดและระยะโรคของผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษามะเร็งเต้านมโดยการฉายแสง (Radiation Therapy) เป็นการรักษาด้วยการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง มักใช้การฉายแสงร่วมในกรณีที่ผู้ป่วยผ่าตัดแบบสงวนเต้า หรือผู้ป่วยที่มีมะเร็งลุกลามมาที่ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อหน้าอก การฉายแสงโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน พัก 2 วันเพื่อให้ผิวหนังได้พักและซ่อมแซมส่วนที่ถูกทำลาย เมื่อเริ่มต้นการรักษาแล้วต้องทำต่อเนื่องจนครบกำหนด การรักษาในแต่ละวันใช้เวลาไม่กี่นาที และไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ประกอบกับวิวัฒนาการด้านการฉายแสงก้าวหน้าไปมาก จึงให้ผลการรักษาที่ดีและมีอาการแทรกซ้อนน้อยมาก ๆ โดยทั่วไปมักทำภายหลังการผ่าตัด แต่ในกรณีก้อนขนาดใหญ่อาจใช้การฉายแสง เพื่อลดขนาดก้อนก่อนการผ่าตัดก็ได้

การรักษามะเร็งเต้านมโดยการใช้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy) เป็นการรักษาโดยการให้ยาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเพศ ออกฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งขาดฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโต ลดอัตราการกลับเป็นซ้ำ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ยาที่ออกฤทธิ์แย่งจับกับตัวรับฮอร์โมน (Tamoxifen) กลุ่มที่ 2 ยายับยั้งเอนไซม์อะโรมาเตส (Aromatase Inhibitor) ออกฤทธิ์ยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ผลดีในผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน กลุ่มที่ 3 ยายับยั้งการทำงานของรังไข่ (Ovarian Suppression) ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน/โปรเจสเตอโรนในผู้ป่วยที่ยังมีประจำเดือนอยู่ กลุ่มที่ 4 ยาสลายตัวรับฮอร์โมน (Selective Estrogen Receptor Degrader) ออกฤทธิ์จับกับตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ทำงานไม่ได้ และทำลายตัวรับฮอร์โมนให้สลายตัวไป ซึ่งยากลุ่มนี้ส่งผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมน ซึ่งมีผลต่อเซลล์มะเร็งทั่วร่างกายเช่นเดียวกับการให้ยาเคมีบำบัด


การรักษามะเร็งเต้านมโดยการใช้ยาแบบพุ่งเป้า (Targeted therapy) ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต และ การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยการรบกวนการทำงานของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อการเจริญเติบโตและ การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยตัวของมันเอง หรือยังสามารถทำให้เซลล์มะเร็งตายทางอ้อมโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้มาทำลาย หรือ กระตุ้นการส่งสารเคมีที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งมาทำลายเซลล์มะเร็งนั่นเอง ช่วยลดอันตรายต่อเซลล์ปกติ ลดผลข้างเคียง และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแต่ละรายจะได้รับการรักษา “มะเร็งเต้านม” ด้วยวิธีใดนั้นต้องขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง การวินิจฉัยร่วมกันของทีมแพทย์ และความพร้อมของผู้ป่วย
ขอบคุณข้อมูล : นายแพทย์ชนินทร์ อภิวาณิชย์
ศัลยแพทย์เฉพาะทางมะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านม โรงพยาบาลนนทเวช
https://www.nonthavej.co.th/Breast-Cancer-Treatment.php