เช็ค 5 สัญญาณอันตราย “โรคกรดไหลย้อน”
- กลืนอาหารลำบาก
- กลืนอาหารแล้วเจ็บคอ
- อาเจียนบ่อย ๆ
- น้ำหนักลด
- อาเจียนเป็นเลือดหรือมีอาการซีด

แพทย์เตือน หนุ่ม-สาวออฟฟิศ ระวังโรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของหนุ่มสาววัยทำงาน” เนื่องจากในปัจจุบันมีการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู๊ดและพบภาวะอ้วนในวัยรุ่นเพิ่มขึ้น รวมถึงความเครียด สูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พบภาวะนี้มากขึ้น เรามาทำความรู้จักกับ “โรคกรดไหลย้อน” กันดีกว่านะครับ

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) หมายถึงโรคที่มีอาการเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลากลางวันหรือกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม ทำให้เกิดอาการระคายเคืองจากกรด เช่น อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร เช่น อาการทางปอด หรือ อาการทางคอและกล่องเสียง โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่สำคัญ คือ แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ อาการนี้จะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้คือ กลืนลำบาก, กลืนแล้วเจ็บ, เรอบ่อย, ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน, เสียงแหบเรื้อรัง เจ็บคอ และรู้สึกระคายเคืองทางเดินหายใจ, เจ็บหน้าอกโดยที่ไม่มีปัญหาโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคกรดไหลย้อนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังและโรคหอบหืด

โดยปกติผู้ป่วยที่มีอาการแสบหน้าอกและหรือเรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือดหรือมีไข้) แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนและให้การรักษาเบื้องต้นได้เลย โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจพิเศษ เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำที่สุดในปัจจุบัน

จะปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเป็นโรคกรดไหลย้อน
การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ สามารถลดความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ แต่ข้อแนะนำนี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารทอด
- ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง
- ไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารและไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อมากเกินไป
- ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณหน้าท้องและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนัก
- เลิกสูบบุหรี่

ทั้งนี้ หากได้รับยาจากแพทย์แต่ยังรู้สึกว่ายังมีอาการของโรคกรดไหลย้อนทั้ง ๆ ที่รับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้ว หรือคุณต้องใช้ยาอื่น ๆ ที่แพทย์ไม่ได้สั่งเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก ก็ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ทันที จะดีที่สุดนะครับ

เพราะระบบทางเดินอาหาร มีการทำงานที่ซับซ้อน...จึงต้องการการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ (Gastrointestinal&Liver Center) พร้อมด้วยทีมอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร วิสัญญีแพทย์ รังสีแพทย์ และแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัด พร้อมให้บริการตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา ป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารและตับทั้งระบบ

ขอบคุณข้อมูล
นพ. อานนท์ พีระกูล
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลนนทเวช
https://www.nonthavej.co.th/Gastroes...ux-Disease.php