เมื่อพูดถึงโรคร้ายของผู้หญิง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง “โรคมะเร็งรังไข่” เป็นมะเร็งที่พบในสตรีและมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงคง วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับมะเร็งรังไข่ จาก นายแพทย์ศุภชัย เรืองแก้วมณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งทางนรีเวช และการผ่าตัดผ่านกล้อง จากโรงพยาบาลนนทเวช มาให้ความรู้ในเรื่อง โรคมะเร็งรังไข่


Q&A : “มะเร็งรังไข่”

Q: มะเร็งรังไข่
A: เป็นมะเร็งทางนรีเวชที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งรังไข่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีความเกี่ยวข้อง เช่น มีประวัติครอบครัว เป็นมะเร็งรังไข่ อายุมากกว่า 50 ปี มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี ไม่มีบุตร เคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้

Q: อาการแสดงของโรคมะเร็งรังไข่
A: อาการแสดงไม่ชัดเจน ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการแสดง หากมีอาการ รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องโตมากขึ้น น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

Q: การตรวจวินิจฉัย
A: การตรวจภายในและการตรวจอัลตราซาวน์ จะทำให้สามารถบอกถึงลักษณะความผิดปกติของรังไข่ได้ตั้งแต่ระยะต้น สำหรับการตรวจค่าบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การตรวจค่าเลือด CA125, HE4 ส่วนมากใช้ในการตรวจติดตามตัวโรคระหว่างการรักษาและหลังการรักษา ไม่ได้นำมาใช้ในการวินิจฉัย

Q: การรักษา
A: โรคมะเร็งรังไข่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของการดำเนินของโรค ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ประเมินแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาหลักสามารถทำได้โดยการผ่าตัดทั้งการผ่าตัดทางหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งจะเป็นการกำหนดระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อเนื่องด้วย

ดังนั้น การเข้ารับการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะสามารถทำให้เราลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งทางนรีเวชได้

ขอบคุณข้อมูล: นายแพทย์ศุภชัย เรืองแก้วมณี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งทางนรีเวช และการผ่าตัดผ่านกล้อง
โรงพยาบาลนนทเวช
https://www.nonthavej.co.th/ovarian-cancer-1.php