IVF/ICSI หนึ่งในเทคโนโลยีเจริญพันธ์ ที่นำเข้ามาเพื่อช่วยให้เรื่องของการมีบุตรยาก วิธีการนี้เหมาะกับ คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตันหรือท่อนำไข่ถูกทำลาย คู่สมรสที่ฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับเชื้ออสุจิ ได้แก่ มีจำนวนอสุจิน้อย หรือคู่สมรสที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยากเป็นต้น


ทำความรู้จักการทำเด็กหลอดแก้ว
เด็กหลอดแก้ว
ถือกำเนิดครั้งแรกของเด็กหลอดแก้วในปี 1978 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาภาวะมีบุตรยากสมัยใหม่และอัตราการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยวิธีการปฏิสนธิของเซลล์ไข่ภายนอกร่างกาย เพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ทั้งนี้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปฏิสนธินอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (IVF) การช่วยปฏิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ (ICSI) ที่เป็นการรักษาอย่างแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน และได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้ได้ผลสำเร็จที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายคุ้มค่ามากกว่า

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มีดังนี้
1.กระตุ้นรังไข่ให้ฟองไข่โตพร้อมกันหลายๆ ใบ

โดยปกติจะเริ่มกระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2-3 ของรอบเดือน ด้วยการฉีดยาติดต่อกันเฉลี่ยแล้วจะฉีดประมาณ 8-12 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยเอง โดยปกติจะต้องการไข่จำนวน 8-15 ใบ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้หญิงแต่ละคน) ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นไข่ในปัจจุบันเป็นยาชนิดที่มีความบริสุทธิ์ของยามากขึ้น ทำให้ฉีดได้ทางหน้าท้อง (จากเดิมฉีดเข้าสะโพก) เป็นการลดความเจ็บปวดจากการฉีดยาได้

2.ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่
เมื่อกระตุ้นไข่ด้วยยาแล้ว แพทย์จะทำการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ร่วมกับการประเมินระดับฮอร์โมน โดยการตรวจเลือดเป็นระยะ เมื่อพบว่าขนาดของถุงไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยาฮอร์โมน ซึ่งจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสมบูรณ์ของฟองไข่ หลังจากนั้นจะทำการเจาะเก็บไข่ภายใน 34-36 ชั่วโมง เพื่อดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาเตรียมปฏิสนธิภายนอกร่างกาย

3.เจาะเก็บไข่
การเจาะเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด (ไม่มีแผลหน้าท้อง) ทำโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่ง แล้วใช้เข็มเล็กๆ เจาะไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งการเจาะใช้เวลาไม่นาน และแพทย์จะให้ยานอนหลับขณะเก็บไข่ เพื่อลดความเจ็บปวดขณะเจาะเก็บไข่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยตื่นก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนเซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิ

4.เก็บน้ำเชื้อของฝ่ายชาย
ในวันที่ฝ่ายหญิงเจาะเก็บฟองไข่ ฝ่ายชายต้องมาเพื่อเก็บเชื้ออสุจิสำหรับปฏิสนธิ โดยหลั่งอสุจิภายในภาชนะที่จัดไว้ ซึ่งเป็นภาชนะปราศจากเชื้อ จากนั้นมาทำความสะอาดและคัดเลือกตัวที่แข็งแรง ก่อนจะนำมาปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความดัน ความชื้น และแสง โดยใช้เวลาเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายทั้งหมด 3-5 วัน กรณีที่สามีไม่สามารถมาเก็บอสุจิในวันเจาะไข่ได้ อาจนัดมาเก็บล่วงหน้าแล้วทำการเก็บแช่แข็งไว้ เพื่อเตรียมละลายเชื้อแช่แข็งมาทำปฏิสนธิในวันเจาะเก็บไข่ต่อไป

5.เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ
เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว โดยทั่วไปจะทำการเพาะเลี้ยงเป็นระยะเวลา 3-5 วัน ในห้องปฏิบัติการที่ควบคุมปัจจัยที่เหมาะสมกับตัวอ่อนในบางรายที่มีข้อบ่งชี้อาจมีการตรวจโครโมโซมเพื่อหาความผิดปกติของตัวอ่อน และแพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่มีความสมบูรณ์ในการนำย้ายกลับสู่โพรงมดลูกต่อไป

6.ย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก
การใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก จะทำโดยการใช้หลอดพลาสติกเล็กๆ สอดผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก แล้ววางตัวอ่อนลงไปภายใต้การอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ขณะใส่ตัวอ่อน คนไข้จะรู้สึกตัวตลอดเวลา และไม่มีความเจ็บปวดใดๆ เมื่อใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้นอนพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนกลับบ้าน และเมื่อถึงบ้านให้นอนพัก ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการออกกำลังกายช่วงท้องน้อยหรือหน้าขา และงดการมีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคือ การใช้ยาสำหรับสอดช่องคลอดและยาฮอร์โมนรับประทานตามคำสั่งของแพทย์ทุกวันจนถึงวันนัด และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

7.ตรวจการตั้งครรภ์
หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 9-11 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการตั้งครรภ์เอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้

ซึ่งอัตราที่จะเกิดความสำเร็จของแต่ละคู่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เราพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตรยาก แบบละเอียดเจาะลึกทุกขั้นตอน ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร โรงพยาบาลนครธน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/article/d...รยาก