นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด แต่เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้ว่าโรคนิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร มีความอันตรายอย่างไร และใครบ้างที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้โรคนี้ได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคนี้มีอะไรบ้าง เราไปหาคำตอบในบทความนี้ได้เลยค่ะ

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็น นิ่วในถุงน้ำดี ?
โรคนี้มักพบในคนที่มี 4 ลักษณะหรือที่เราเรียกว่า 4F คือ Forty, Fertile, Fatty และ Female หรือแปลได้ว่า มักพบในผู้หญิง รูปร่างท้วม อายุประมาณ 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรหลายคน ซึ่งบางคน บังเอิญตรวจพบแม้ไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นชิ้นส่วนแข็งที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี ชิ้นส่วนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อส่วนประกอบของน้ำดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) ตกตะกอนผลึกเป็นก้อนคล้ายกับน้ำตาลที่ตกตะกอนอยู่ด้านล่างของขวดน้ำเชื่อม โดยก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นนี้อาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และอาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายร้อยก้อนก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่มีลักษณะดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี 1-2 % ต่อปี และในปัจจุบันเราพบว่าคนเป็นโรคนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนิ่วในถุงน้ำดีมี 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

1.ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณ 80% ของนิ่วในถุงน้ำดีทั้งหมด มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดี หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบสารออกได้หมด

2.ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าชนิดที่ เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD

อาการของโรค
อาการของโรคนั้นโดยส่วนใหญ่ ช่วงแรกอาการจะมีเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดจุกแน่นท้อง ใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ท้องอืด อิ่มง่าย โดยเฉพาะกินอาหารมัน ๆ หลังอาหารมื้อใหญ่ เมื่อมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีการอักเสบของถุงน้ำดี จะมีอาการปวดท้องมาก มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา การตรวจวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้โดยการทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อตรวจดูว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งทำได้ง่าย ไม่เจ็บ ใช้เวลาไม่นาน และทราบผลได้ทันที

ส่วนการรักษา วิธีได้ผลดีที่สุดนั่นคือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบัน มี 2 วิธี ได้แก่
1.การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เป็นการาผ่าตัดด้วยวิธีมาตรฐาน เหมาะกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่มีการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง
2.การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดแบบเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง มีข้อดีคือ แผลเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้ไว แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องสำเร็จจะลดลง

โดยปกติแล้วโรคนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งมักไม่มีอาการจึงไม่ต้องรักษา แต่หากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดกั้นทางออกของน้ำดี หรือเคลื่อนไปอุดตัดที่ท่อถุงน้ำดี หรืออุดท่อน้ำดีที่เป็นท่อร่วมจากตับก็จะมีการอักเสบ โดยมีอาการเริ่มจากระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เราจึงควรสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ และถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ เพราะการตรวจพบเร็วจะทำให้รักษาง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากค่ะ