นิ่วในถุงน้ำดี (Gall stone) เกิดจากการตกผลึกของหินปูนคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน ที่มีอยู่ในน้ำดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็ก ๆ หลาย ๆ ก้อนก็ได้ ซึ่งในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด แต่เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้ว่าโรคนิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร มีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน แล้ววิธีการตรวจวินิจฉัยและรักษาทำได้อย่างไร ไปหาคำตอบกันได้เลย


ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี ?
1.ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stones)
เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณ 80% ของนิ่วในถุงน้ำดีทั้งหมด มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดี หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบสารออกได้หมด
2.ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าชนิดที่ เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD

อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี
อาการของนิ่วในถุงน้ำดีนั้น โดยส่วนใหญ่ ช่วงแรกอาการจะมีเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดจุกแน่นท้อง ใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ท้องอืด อิ่มง่าย โดยเฉพาะกินอาหารมัน ๆ หลังอาหารมื้อใหญ่ เมื่อมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีการอักเสบของถุงน้ำดี จะมีอาการปวดท้องมาก มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา
การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถทำได้โดยการทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อตรวจดูว่านิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งทำได้ง่าย ไม่เจ็บ ใช้เวลาไม่นาน และทราบผลได้ทันที

ส่วนการรักษา วิธีได้ผลดีที่สุดนั่นคือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 วิธี ได้แก่
1.การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
เป็นการผ่าตัดด้วยวิธีมาตรฐาน เหมาะกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่มีการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง
2.การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดแบบเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง มีข้อดีคือ แผลเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้ไว แต่ถ้าผู้ป่วยป่วยที่มีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องสำเร็จจะลดลง

โรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถป้องกันได้ด้วยการลดอาหารที่มีไขมัน และการออกกำลังกายเป็นประจำ สำหรับคนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีบางคนอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม อาการปวดท้องมักเป็นหลังกินอาหารมันหรือกินอาหารมื้อหนัก บางคนอาจมีอาการดีซ่าน เกิดขึ้นตามหลังอาการปวดท้อง การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติ มักไม่มีไข้ บางครั้งอาจตรวจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยบริเวณใต้ลิ้นปี่และได้ชายโครงขวา ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี แม้จะไม่แสดงอาการ อาจตรวจพบตอนไปตรวจรักษาโรคอื่น แพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจมีการอักเสบและมีโรคแทรกซ้อนตามมาก็ได้ ฉะนั้นควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ ๆ หากรู้ก่อนจะช่วยป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/Article/D...ข้าม