ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกที่เรียกกันอีกอย่างนึงว่า Stroke เป็นโรคที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นสาเหตุความพิการและเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ความน่ากลัวของโรคนี้คือ หากเป็นแล้วส่งผลต่อผู้ป่วยทำให้กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้และถึงแม้จะช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ก็ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่ง มีปัญหาด้านการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา และการเกร็งของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีปัญหาต่อการช่วยเหลือตัวเอง และการประกอบกิจวัตรประจำวัน บางรายก็ไม่สามารถเดินเองได้


ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ทำให้มีเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งชนิดหลอดเลือดสมองตีบและแตก ได้แก่ เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วยังมีอาการอ่อนแรงหรือการเกร็งของกล้ามเนื้อ การบำบัดด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า TMS กระตุ้นสมอง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูและลดอาการเกร็งของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองได้ ซึ่งหลายคนยังคงสงสัยว่าการทำ การบำบัดด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง คืออะไร วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกันค่ะ

เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) คืออะไร?
TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) คือ เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นเซลล์สมอง ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมและการสร้างวงจรระบบประสาทต่าง ๆ ภายในสมอง โดยการกระตุ้นสมองในตำแหน่งต่าง ๆ จะใช้หัว coil ในลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งรูปร่าง ความถี่ และความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งรอยโรคของผู้ป่วย

ประโยชน์ของการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
- เป็นทางเลือกเพื่อช่วยในการฟื้นฟูภาวะอ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาตในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตัน
- ทางเลือกในการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าแล้วไม่ตอบสนองเท่าที่ควร
- ทางเลือกในการฟื้นฟูการทำงานของสมองในผู้ป่วยที่มีภาวะความจำถดถอยจากโรคอัลไซเมอร์

การรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) ให้ประสิทธิภาพดีแค่ไหน?
การรักษาด้วยเทคโนโลยี TMS คือการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านเข้าไปยังสมอง ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้น ไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หากทำควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยได้ 30-60%

แพทย์จะทำการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กวันละ 1 ครั้ง โดยระยะเวลาและความถี่ที่นัดมาทำขึ้นกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น ทั้งนี้แพทย์จะคอยซักถามและสังเกตอาการข้างเคียงตลอดระยะเวลาในการกระตุ้น

ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่มีอาการมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รักษาด้วยยาในขนาดที่เหมาะสมมาแล้วและอาการยังไม่ดีขึ้นภายในหนึ่งปีนับจากเริ่มทานยาต้านเศร้า
- ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นถึงระยะปานกลาง

ข้อจำกัดในการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
- ผู้ที่มีการฝังโลหะหรือชิ้นส่วนของโลหะในสมอง เพราะสนามแม่เหล็กสามารถเหนี่ยวนำวัตถุที่เป็นโลหะ จนอาจก่อให้เกิดแรงกระทำต่อโครงสร้างสมองโดยรอบวัตถุนั้นได้
- ผู้ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องมือที่ฝังอยู่ในร่างกาย เพราะสนามแม่เหล็กจะรบกวนการทำงานของวงจรไฟฟ้าของเครื่องเหล่านั้นได้

ผลข้างเคียงที่พบในการรักษาด้วย TMS
มีความร้อนบริเวณที่กระตุ้น เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กทำให้อุณหภูมิภายในบริเวณหนังศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อย อาจจะมีปวดตึงศีรษะบริเวณที่ทำการกระตุ้น คลื่นไส้ วิงเวียน อาการชัก อารมณ์พลุ่งพล่าน สำหรับผู้ป่วยจิตเวช

ข้อแนะนำก่อนรักษาด้วย TMS
1.แพทย์จะแนะนำการรักษา ข้อบ่งชี้ และข้อห้ามในการใช้เครื่องมือดังกล่าว
2.ห้ามอดนอน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำการรักษาด้วย TMS ในวันรุ่งขึ้น
3.หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนก่อนทำ TMS
4.กรณีมียาที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะยาในกลุ่มยานอนหลับ ยาทางจิตเวช ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
5.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง

เนื่องจากเทคโนโลยี tms รักษา อัมพฤกษ์ หรือ tms กระตุ้นสมอง มีใช้รักษาในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนมีใช้อยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน เราเตรียมพร้อมในการดูแลผผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต ให้กลับบมาปกติเหมือนเดิมมากที่สุด เพราะทุกชีวิตมีค่าสำหรับเรา การดูแลใส่ใจผู้ป่วยอย่างดีที่สุดคือหน้าที่ของเรา หากมีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ตลอดเวลาทำการค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nakornthon.com/Article/D...มพาต