เมื่อเกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด หลายคนจะเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคกรดไหลย้อน แต่อาการปวดท้องอาจจะไม่ได้บ่งบอกถึงโรคเหล่านี้เสมอไป แต่อาจเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี” ทั้งนี้กรมการแพทย์ระบุโรคนิ่วในถุงน้ำดีมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1-2 เท่า ชี้กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ธาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก แนะนำป้องกันโรค “นิ่วในถุงน้ำดี” ได้ด้วยการลดกินอาหารมีไขมันและการออกกำลังกายเป็นประจำ

เช็คสัญญาณเสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี”

นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากอะไร ?
นิ่วที่ในถุงน้ำดี เกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน (สารเคมีชนิดหนึ่งที่ให้สีเหลืองออกน้ำตาล เกิดจากการแตกตัวหรือการตายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด) ที่มีอยู่ในน้ำดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้ เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็กๆ หลายๆ ก้อน

นิ่วในถุงน้ำดี...ใครบ้างที่เสี่ยง ?
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 1-2 เท่า
- ผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว
- ผู้ที่มีระดับคลอเรสเตอรอลสูง
- ผู้ที่เป็นเบาหวาน, ธาลัสซีเมีย, โลหิตจาง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่ว
- ความอ้วน คนอ้วนจะเกิดนิ่วที่มีคอเลสเตอรอล เนื่องจากการบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง
- การได้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการรับประทานหรือตั้งครรภ์ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง
- การได้ยาลดไขมันบางชนิด ทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดี
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆ
- การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายละลายไขมันมากไป

อาการ “นิ่วในถุงน้ำดี”
- ท้องอืด
- แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารไขมันสูง เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
- ปวดใต้ลิ้นปี่/ชายโครงด้านขวา
- ปวดร้าวที่ไหล่/หลังขวา
- คลื่นไส้อาเจียน มีไข้หนาวสั่น
- ดีซ่าน/ตัว-ตาเหลือง

วิธีการรักษา
วิธีการรักษา “นิ่วในถุงน้ำดี” ที่ดีในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้อง เป็นการผ่าตัดแบบโดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้องสามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95

วิธีการป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- ควบคุมน้ำหนัก และระดับน้ำตาลในเลือด และระดับคอเลสเตอรอล
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย ครั้งละ 20-30 นาที

ป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ ของทอด ของหวาน ระวังไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน

ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เฉพาะทันที เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถเข้ามารับคำปรึกษาที่โรงพยาบาลนนทเวชได้เช่นเดียวกัน โดยโรงพยาบาลของเรามีแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยให้แนะนำค่ะ

ที่มา : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
https://www.nonthavej.co.th/gallstones.php