รู้ทัน..ไวรัส RSV ภัยร้ายเจ้าตัวเล็ก...

“ลูก” เปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ทุกคน เมื่อลูกเจ็บป่วย ร้องไห้งอแง พ่อแม่แทบใจสลาย เพราะไม่ทราบว่าลูกเจ็บปวดตรงไหน ควรจะดูแลลูกอย่างไร ปัจจุบันเชื้อโรค มีวิวัฒนาการสูงขึ้น สามารถทนกับสภาพแวดล้อมบ้านเราได้ดี จึงเพาะเชื้อที่มีความแข็งแรง ทำให้เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะเด็กที่ภูมิต้านทานน้อยด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งง่ายเลย จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกน้อยป่วยบ่อย

ยิ่งช่วงปลายฝนต้นหนาวระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม เป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักจะป่วยบ่อย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงและมักจะรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อไวรัส RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้ทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่อาการจะเป็นมากในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อย มีการระบาดบ่อยในทุกฤดู โดยเฉพาะช่วงอากาศเย็นหรือหนาว โดยผู้ป่วยจะติดเชื้อไวรัส RSV จากการรับเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูก สารคัดหลั่ง จากคนสู่คนโดยการสัมผัส หรือละอองน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น และมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน โดยเฉลี่ย 4 วัน และอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ และหอบหืดได้

อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV อาการเริ่มแรกจะมีน้ำมูกใส ตามด้วยไอ จาม มีไข้ต่ำ ๆ ไข้อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ขึ้นกับภูมิต้านทานของแต่ละคน ถ้าเกิดในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอ หอบได้ง่าย เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย บางครั้งเป็นมากจะหายใจดัง “วี้ด” ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการหายใจล้มเหลวได้ เช่น หน้าอกบุ๋ม กระสับกระส่าย ซึม ไม่ร่าเริง ทานอาหารไม่ได้หรือทานได้น้อย


การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส RSV ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้นานประมาณ 3-8 วัน ส่วนมากจะแพร่เชื้อหนักในช่วง 3-4 วันแรก ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย

เป็นแล้วจะเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่ ผู้ที่เคยเป็น RSV แล้ว สามารถเป็นซ้ำได้หลายครั้งตลอดชีวิตแต่อาการจะน้อยลง ในผู้ใหญ่จะมีอาการน้อยกว่าในเด็ก และในเด็กโตจะมีอาการน้อยกว่าเด็กเล็กตามอายุ

"ร่างกายแข็งแรงเกราะป้องกัน ไวรัส RSV"

เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ทำให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV ในช่วงที่แพร่ระบาดได้มาก โดยเฉพาะสถานที่ที่เด็กอยู่กันมาก ๆ เช่น โรงเรียนหรือสถานรับลี้ยงเด็ก ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกไม่ป่วยจากโรคนี้ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรง และรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนรับประทานอาหาร
- ทำความสะอาดของเล่น และอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ
- ผู้ป่วยต้องปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอจาม หรือเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส RSV

หากคุณพ่อ คุณแม่ดูแลลูกให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี หมั่นสังเกตอาการ และเข้ารับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะช่วยให้เราหายกังวลใจ เพราะเมื่อลูกค่อย ๆ โตขึ้น ภูมิต้านทานก็จะดีขึ้นตามวัย อาการหวัด หรือเจ็บป่วยก็จะค่อย ๆ น้อยลง

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ ที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันและดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากการติดเชื้อเชื้อไวรัส RSV โดยนพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล กุมารเวชแพทย์ ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช

ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช พร้อมให้บริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ด้วยทีมกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่าง ๆ และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางในการดูแลเด็กตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ยาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีการแยกพื้นให้บริการสำหรับเด็กแรกเกิดที่มาพบแพทย์และเด็กรับวัคซีน ออกจากเด็กป่วยที่มาพบแพทย์อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ปครองและผู้ป่วยเด็กได้รับบริการภายใต้มาตรฐานคุณภาพอย่างดีสูงสุด



นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช

https://www.nonthavej.co.th/rsv-virus.php