สวัสดีค่ะ ทุกท่านทราบหรือไม่ว่านมที่ดีนั้นเป็นอย่างไร นอกเหนือไปจากนี้มีใครที่ศึกษาดูไปถึงกระบวนการผลิตนมหรือเปล่า? นมที่ดื่มกันไปในแต่ละวันเราจะมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนว่ามาจากการผลิตที่ได้มาตรฐานจริงแล้วยังคงคุณค่าของนมโคไว้ได้อย่างดี เรามาดูไปพร้อมกันดีกว่าค่ะว่าการผลิตน้ำนมที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร


กระบวนการผลิตนมมีผลต่อคุณประโยชน์ของนมจริงหรือ?
หนึ่งในวิธีการแบ่งประเภทนมโคพร้อมดื่ม คือการแยกตามกระบวนการให้ความร้อน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ นมสเตอริไลซ์ (sterilized milk) ที่มีการให้ความร้อนในระดับสูงสุด ตามด้วย นมยูเอชที (UHT milk) และนมพาสเจอไรซ์ (pasteurized milk) ซึ่งกระบวนการให้ความร้อนถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเก็บรักษานม เนื่องจากเป็นการทำลายจุลินทรีย์ทั้งที่ก่อให้เกิดโรค และจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย เพราะนมเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ จึงต้องการความร้อนที่ทำลายจุลินทรีย์และเอนไซม์ต่าง ๆ เพื่อให้นมนั้นมีคุณภาพ และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

นมสเตอริไลซ์มีมักอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระป๋องโลหะ และ มีอายุการเก็บได้นานถึง 12 เดือน อย่างไรก็ดีถึงแม้จะมีอายุการเก็บนานที่สุด แต่ด้วยผลิตภัณฑ์ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิที่สูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในรสชาติ สี และสูญเสียวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน B1 B6 B9 และ B12

นมยูเอชที มีการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงแต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า ดังนั้นการสูญเสียวิตามินจะมีเพียงเล็กน้อยอย่างไม่มีนัยสำคัญ มีอายุการเก็บประมาณ 6-8 เดือน
นมพาสเจอร์ไรซ์ มีการให้ความร้อนที่ระดับต่ำ และมีอายุการเก็บต่ำที่สุดประมาณ 10 วัน โดยต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ข้อดีของการให้ความร้อนในระดับนี้คือรสชาติและสีของนมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ทั้งนั้นการสูญเสียวิตามินจะมีเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับนมยูเอชที


จะเห็นได้ว่ากระบวนการผลิตนมนั้นสำคัญ เพราะความร้อนจากการผลิตนั้นจำเป็นมากต่อการทำลายจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคและทำให้อาหารเสื่อมเสีย อีกทั้งการควบคุมคุณภาพของการผลิตเองล้วนมีผลต่อคุณภาพ และความปลอดภัยของนม ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่านมนั้นปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และมีคุณภาพมาตรฐานที่ดีสำหรับผู้บริโภค ผู้ผลิตนมจึงควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิต ที่จะทำให้คงคุณค่าทางสารอาหาร พร้อมทำลายจุลินทรีย์ และเอนไซม์ที่ไม่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://bit.ly/2uEN73O