ศ.ดร.นายแพทย์ เทพนม เมืองแมน นายกสมาคมสุขศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งเอเชีย ลงนามในเอกสารรายงานการศึกษาเพื่อหามาตรการป้องกันการสัมผัสใยหินไครโซไทล์ในการรื้อถอนและติดตั้งกระเบื้องหลังคา ยืนยันชัดเจนแร่ใยหินในกระเบื้องมุงหลังคาปลอดภัย 100%

ทั้งนี้ สมาคมสุขศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งเอเชีย (เมษายน 2555) ได้ทำการสำรวจและศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานในขณะรื้อถอนและติดตั้งกระเบื้องใยหินไครโซไทล์ โดยตรวจสอบสภาพแวดล้อมการทำงาน 6 อาคาร เป็นลักษณะอาคารโครงสร้างแบบหลังคาทั่วไปและโครงสร้างเรือนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และสระบุรี พบว่าค่าปริมาณฝุ่นที่ตัวบุคคลพบอยู่ในช่วง 0.03 – 0.08 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานพบอยู่ในช่วง 0.02-0.10 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร



ในการศึกษายังได้พบว่าการติดตั้งอาคารส่วนใหญ่นิยมไม่ตัดกระเบื้อง เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระ มีฝุ่นมาก และเทคนิคการมุงกระเบื้องก็สามารถทำได้โดยไม่เกิดการรั่วซึมของน้ำฝน แต่ก็ยังมีอาคารที่มีลักษณะที่สร้างหลังคามีแปช่วงสั้นกว่ามาตรฐานและมุมลาดชันสูงกว่า 45 องศา จำเป็นต้องตัดกระเบื้องจึงได้มีข้อเสนอแนะให้ฉีดน้ำดักฝุ่นขณะตัดจะช่วยลดปริมาณฝุ่นโดยใช้น้ำไม่มากนักและไม่ทำให้ผิวเนื้อกระเบื้องเสียไป ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานควรสวมหน้ากากใช้อุปกรณ์การตัดที่มีความเร็วรอบต่ำ (กรณีใช้ไฟฟ้า) และควรหลีกเลี่ยงการตัดกระเบื้องในที่อับอากาศ

ผลการศึกษาปริมาณฝุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัย (TWA 8 ชั่วโมง) กำหนดโดย ACGIH สำหรับ Asbestos all forms ไม่เกิน 0.1 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร และไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 94 ตอนที่ 64 วันที่ 12 กรกฎาคม 2520