Previous
Next
Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
Results 1 to 5 of 5

Thread: เรื่องเล่า จาก การกิน ตอน เข้าถึง ‪#‎Taiwan‬ จากมุมมองของ "คนบ้ากิน" ในแบบฉบับ..ที่กล้าพูดเลยว่า ไม่เหมือนใคร !!!

  1. #1
    s's Avatar
    s is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Location
    มีหัวใจ
    Posts
    3,111
    Blog Entries
    4
    Warning Points:
    0/5

    เรื่องเล่า จาก การกิน ตอน เข้าถึง ‪#‎Taiwan‬ จากมุมมองของ "คนบ้ากิน" ในแบบฉบับ..ที่กล้าพูดเลยว่า ไม่เหมือนใคร !!!

    
    เรื่องเล่า จาก การกิน ตอน ตามหาแหล่งของกิน ที่ ไต้หวัน
    "ฉันรักการเดินทาง เพราะการเดินทางของฉัน ทำให้ฉัน..ต้องช้าลง จนได้ทบทวนการตัดสินใจ ได้เห็นและรู้จัก แล้วเข้าใจตัวเองมากขึ้น"
    สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เอส เริ่มเข้าใจมากขึ้น หลังจาก ที่ได้เดินทางท่องเที่ยวในทริปนี้ค่ะ

    พอมีคนรู้ว่าจะมาไต้หวันครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 มีแต่คนทัก ว่า "ไต้หวันอีกแล้วเหรอ" "ทำไมชอบไต้หวันจัง" บอกตรงๆ ตอนนั้นเอสก็ไม่ทราบค่ะ ว่าทำไมชอบไต้หวันมาก ชอบมากระดับรู้สึกว่าไปเท่าไรก็ไม่เบื่อ 5555

    เอสรู้สึกว่า ประเทศที่เป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่แห่งนี้ มีอะไรที่ให้เอสสัมผัสได้มากกว่าขนาดที่เราเห็นในแผนที่เยอะเลยค่ะ

    ปกติเอสชอบเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะอยากสัมผัส วัฒนธรรม ผู้คน บ้านเมือง อยากรู้ ว่าเพราะเหตุใดประเทศเขาจึงเป็นได้ อย่างที่เขาเป็นอยู่ทุกวันนี้

    มันน่าแปลกนะคะ ทั้งๆที่เอสแทบพูดภาษาจีนกลาง ที่เป็นภาษาหลักที่ใช้ในไต้หวันไม่ได้ แต่เอสกลับสัมผัสบางอย่างที่นี่ได้ จนกลายเป็นประเทศที่รู้สึกว่าไปเท่าไรก็ไม่เบื่อ

    เอสไม่ได้พูดถึงเรื่องลี้ลับอะไรนะคะ สิ่งที่เอสสัมผัสได้ มันอยู่ในนี้ค่ะ !!!



    กล่องนี้เอสซื้อ ที่ร้านข้าวแกงใกล้ตลาดแห่งหนึ่งในไทเป อาจดูไม่ค่อยน่าทาน แต่เอสอยากลองทานอาหารที่คนไต้หวันทานกันทั่วไปค่ะ

    ลองสังเกตดูนะคะ ว่ามีอะไรที่คุ้นๆ เหมือนบ้านเราไหม

    .
    .
    .
    .

    ใช่แล้วค่ะ มันคือ "ไข่พะโล้"

    ไม่ใช่แค่ตามร้านข้าวแกงนะคะ หากเราเข้าร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าเซเว่น หรือ ยี่ห้อต่างๆ เราจะเห็นมีการต้มไข่พะโล้กันในร้านเต็มไปหมด



    ตู้ลักษณะนี้ จะเห็นได้แทบทุกร้านสะดวกซื้อค่ะ จะมีตู้โอเด้ง อยู่กับหม้อไข่พะโล้ เราสามารถเลือกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในร้าน มาใส่เครื่องโอเด้งแล้วทาน ยามท้องร้องได้ในแทบทุกร้านสะดวกซื้อค่ะ

    ขอบคุณรูปจาก http://www.bubbletea101.com/taiwans-convenience-stores/


    ลองนึกตามดูนะคะ

    ในช่วงที่ชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในแผ่นดินสยาม ชาวจีนจากต่างถิ่น ก็ได้เริ่มนำอาหารการกินของถิ่นที่อยู่ของตัวเอง เข้ามาด้วย

    ชาวไหหลำได้นำข้าวมันไก่เข้ามา

    ชาวกวางตุ้งได้นำหมูแดง หมูกรอบ เป็ดย่าง และ บะหมี เข้ามา

    ส่วนชาวฮกเกี้ยน ก็ได้นำอาหารชนิดหนึ่งเข้ามา แต่อาหารชนิดนั้น กลับเข้ากันได้กับสำรับอาหารเดิมของชาวสยามได้อย่างลงตัว จนเราแทบจำไม่ได้แล้ว ว่าอาหารชนิดนั้น มีต้นกำเนิดจากที่ใด

    ใช่แล้วค่ะ เอสกำลังพูดถึง "ไข่พะโล้" ค่ะ

    ที่บ้านเรา ท่ามกลางความหลากหลายของอาหาร "ไข่พะโล้" กลับสามารถยืนหยัดเป็นอาหารยอดฮิตประจำตู้ในร้านข้าวแกงได้ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ เป็นเมนูที่หลายๆคน สั่งมาทานแทบทุกครั้งที่เจอ

    ส่วนที่ไต้หวัน หลังจากได้มีโอกาสมาไต้หวันครั้งแรก และ ได้เห็นความนิยม "ไข่พะโล้" ของคนไต้หวัน เอสเลยสงสัยค่ะ ว่าชาวจีนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในเกาะไต้หวันนั้นเดิมส่วนใหญ่มาจากไหน และลองค้นข้อมูลดู ลองเดาดูไหมคะ

    ใช่แล้วค่ะ "ฮกเกี้ยน" ค่ะ

    ที่ไต้หวัน แม้จะผ่านการรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นตอนตกเป็นเมืองขึ้นอยู่หลายสิบปี ผ่านการมีผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่มาจากกวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้ ที่ต่างมีอาหารอันโดดเด่นของตนเอง ในยุคก่อตั้งประเทศ แต่กลับไม่อาจลดความนิยมทาน "ไข่พะโล้" ของชาวไต้หวันได้เลย



    ที่อยู่บนข้าว คือ คั่วกลิ้งปลา แม่ทำมาให้ก่อนเดินทางมาค่ะ เอามาทานร่วมกับข้าวแกงไต้หวันแล้ว ดูไม่ออกเลยว่า มาจากคนละประเทศกันค่ะ


    เอสว่า เราเริ่มเจอสายสัมพันธ์ของ "วัฒนธรรมการกิน" ระหว่างไทยเรา กับ ไต้หวัน แล้วค่ะ โดยผ่านเมนูอาหาร ที่ชื่ว่า "ไข่พะโล้" นี่แหละค่ะ

    ดังนั้น การเดินทางมาไต้หวันของเอส เลยเปรียบเหมือนการเดินทางมาเจอวัฒนธรรมการกินที่เปรียบเหมือนเป็น ญาติห่างๆ ของวัฒนธรรมการกินของไทยเราในปัจจุบัน โดยที่เอสไม่รู้ตัวมาก่อน

    และ การเดินทางในครั้งนี้แหละ ทำให้เอสเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่า เอสชอบที่ได้สัมผัส วัฒนธรรม ผู้คน บ้านเมือง ของประเทศอื่นๆ ที่เอสมีโอกาสได้ไปเยือน ผ่าน "วัฒนธรรมการกิน" ค่ะ

    หลังจากที่ได้เริ่มสัมผัสวัฒนธรรมการกินของไต้หวันแล้ว ทำให้เอสยิ่งอยากจะรู้จักวัฒนธรรมการกินที่เปรียบเหมือนญาติห่างๆนี้ ให้มากขึ้นค่ะ

    ติดตามต่อโพสต์หน้านะคะ ว่า สำหรับคนที่ เพิ่งเริ่มไปไต้หวัน และ พูดจีนกลางไม่ได้ แบบเอส จะเข้าถึงแหล่ง "วัฒนธรรมการกิน" ของไต้หวัน ได้อย่างไรค่ะ


    -------------------------------------

    (เที่ยวอุ่นใจทุกทริป อย่าลืมพก #Umbrella, #Sunday, #Chlorella และ #TheSignature นะคะ)

  2. #2
    s's Avatar
    s is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Location
    มีหัวใจ
    Posts
    3,111
    Blog Entries
    4
    Warning Points:
    0/5
    
    "การกินอาหาร และ อาหารที่กิน" หากเราช้าลง และ สัมผัสสิ่งนี้ได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น เราจะพบเรื่องราวที่ซ่อนอยู่มากมาย

    การกินอาหาร โดยพื้นฐานแล้ว คือ การทำให้เราอิ่มท้อง มีแรงที่จะใช้ชีวิตต่อไป แต่พอผ่านเงื่อนไขที่มาของอาหารที่กิน เงื่อนไขการดำรงชีวิต ตลอดจนรสนิยม ของคน ในแต่ละท้องที่

    การกินอาหาร และ อาหารที่กิน จึงถูกออกแบบ และ ค่อยๆปรับจูน ให้เหมาะสมต่อเงื่อนไขในแต่ละท้องที่อย่างลงตัวผ่านกาลเวลา จนออกมาเป็น "วัฒนธรรมการกิน" ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องที่

    สิ่งนี้ คือ สิ่งที่เอสหลงไหล และ ต้องขอไปสัมผัสให้ได้ เมื่อไปเยือนต่างถิ่นค่ะ

    แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเริ่มมาแรกๆ ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร พอผ่านไปแต่ละมื้อ โอกาสก็หายไปทีละส่วน เอสเลยจะมาขอแชร์ประสบการณ์ของเอสในไต้หวัน ให้เพื่อนๆได้ใช้โอกาสทุกมื้อ ได้คุ้มค่าค่ะ 55555

    อย่างที่เกริ่นนำ วัฒนธรรมการกินนั้น ถูกสร้างจากเงื่อนไขการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย แม้แต่ในท้องถิ่นเดียวกัน ก็ยังมีเงื่อนไขการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกันของคนในท้องถิ่น ดังนั้น แหล่ง "วัฒนธรรมการกิน" ในแต่ละท้องถิ่น จึงมีหลากหลายแหล่ง ตามไปด้วย มีทั้งที่กระจายอยู่ทั่วไป และ รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันค่ะ

    จากที่เอสมาไต้หวัน 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 อาทิตย์ แหล่งวัฒนธรรมการกินที่เอส เริ่มเข้าถึงได้แล้ว สามารถจัดกลุ่มได้ เป็น 4 แหล่งใหญ่ๆดังนี้ค่ะ

    1. ร้านสะดวกซื้อ (ที่ไม่ใช่แค่สะดวกซื้อ ของชาวไต้หวัน) (งบประมาณ 50 - 60 บาทไทย ต่อ 1 อิ่ม)

    บางคนอาจสงสัยว่า ร้านสะดวกซื้อเนี่ยนะ แหล่งวัฒนธรรมการกิน ตอนแรกเอสก็ไม่คิดหรอกค่ะ ว่าในร้านสะดวกซื้อ จะมีอะไรให้สัมผัส แต่ร้านสะดวกซื้อที่นี่ ไม่ธรรมดาจริงๆ จากที่ตอนแรกเอสตั้งใจจะเข้าไปซื้อน้ำ ก่อนนำกระเป๋าเข้าที่พักในวันแรก ที่ถึงไต้หวันครั้งแรก เลยได้พบกับความไม่ธรรมดาของร้านสะดวกซื้อที่นี่ มื้ออาหารในทริปแรกของเอส เกือบสองอาทิตย์ ส่วนใหญ่หมดไปกับร้านสะดวกซื้อนี่แหละค่ะ มาดูกันค่ะ ว่า อะไร ที่ทำให้ไม่ธรรมดา

    เรามาดูองค์ประกอบของร้านสะดวกซื้อของชาวไต้หวัน ที่มีมากกว่าของบ้านเรา หรือ แม้แต่ต้นตำรับร้านสะดวกซื้ออย่างญี่ปุ่นกันค่ะ

    ตู้ของต้ม ที่มีทั้งของต้นตำหรับอย่างไข่พะโล้ และ ของต้มแบบโอเด้งของญี่ปุ่นค่ะ



    ขอบคุณรูปจาก http://www.bubbletea101.com/taiwans-convenience-stores/


    โต๊ะ เก้าอี้ ที่สามารถใช้นั่งทานอาหารภายในร้านได้



    อ่างล้างมือ และ ห้องน้ำ ไว้บริการลูกค้า



    ส่วนที่เหลือ อย่างเช่น อาหารแพ็คพร้อมบริการอุ่นไมโครเวฟ ที่นี่ก็มีเหมือนที่บ้านเรา และ ที่ญี่ปุ่นค่ะ

    เมื่อรวมองค์ประกอบเหล่านี้เข้ามาทำงานอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเปิด 24 ชม. และ มีสาขาครอบคลุม จึงทำให้ร้านสะดวกซื้อในไต้หวัน สามารถทำหน้าที่เป็นร้านอาหารจานด่วนสำหรับชาวไต้หวันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องค่ะ



    ในร้านสะดวกซื้อ เราสามารถเลือก ของต้ม ไม่ว่าจะเป็นไข่พะโล้ หรือ โอเด้ง พร้อมน้ำซุปร้อนๆ ใส่ในชามกระดาษที่ทางร้านมีให้บริการ และ เลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสที่เราชอบจากในร้านสักห่อ ใส่ลงไปในชาม จากนั้นไปจ่ายเงินและเดินมาที่โต๊ะ ระหว่างนั้นเส้นบะหมีก็นุ่มพอดี จะได้ออกมาแบบนี้ค่ะ



    หรือ หากเราถูกใจ อาหารแพ็คสักแพ็ค หรือ อาหารอย่างอื่นในร้าน อยากทานร่วมกับโอเด้งร้อนๆ ก็สามารถทำได้ แบบนี้ค่ะ



    หรือ แม้แต่แบบนี้ค่ะ



    พอกันแค่นี้ก่อนนะคะ เดี๋ยวจะหิวกันเสียเปล่าๆ 5555

    ด้วยเหตุนี้ คนไต้หวันจึงนิยมฝากท้องยามเร่งด่วนไว้กับร้านสะดวกซื้อ ที่ไม่ว่าจะเข้ามาเมื่อไร ก็จะเห็นมีคนนั่งทานของร้อนๆอยู่ตลอด จนทำให้เอสแทบไม่เห็นร้านอาหารจานด่วนแบบตะวันตกที่เปิด 24 ชม. แบบบ้านเรา ในไต้หวันเลยค่ะ

    นี่จึงเป็น แหล่งวัฒนธรรมการกินอาหารจานด่วนของชาวไต้หวัน ที่เกิดจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านสะดวกซื้อที่นี่ ที่เหมาะจะเริ่มสัมผัสได้ตั้งแต่มื้อแรก ที่มาเยือนไต้หวันค่ะ เพราะหาทานได้ง่าย รู้ราคาชัด และ แทบไม่ต้องใช้ภาษาในการสื่อสารกับพนักงานในร้านเลยค่ะ

    แต่เอสไม่แนะนำให้ทานในร้านสะดวกซื้อ ติดกันเกิน 1-2 วันนะคะ เพราะหากเราดูแต่ละเมนูอาหาร เราจะแทบไม่เห็นผักเลย และ อาหารส่วนใหญ่ก็มาจากอาหารแช่เย็นคุณค่าทางอาหารอาจเหลือไม่ครบ จึงไม่เหมาะจะทานติดกันนานๆ ค่ะ

    ดังนั้น เมื่อมาถึงไต้หวัน และ เริ่มจับต้นชนปลายได้แล้ว เอสแนะนำ แหล่งถัดไปค่ะ

    แหล่งถัดไปจะเป็นแหล่งไหน ติดตามต่อโพสต์หน้านะคะ

    -------------------------------------

    (เที่ยวอุ่นใจทุกทริป อย่าลืมพก #Umbrella, #Sunday, #Chlorella และ #TheSignature นะคะ)

  3. #3
    s's Avatar
    s is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Location
    มีหัวใจ
    Posts
    3,111
    Blog Entries
    4
    Warning Points:
    0/5
    
    2. ร้านข้าวแกง (ในยามเช้า) ร้านของลวก (ในยามค่ำ) แหล่งเติมพลังพื้นฐาน ของมหาชนชาวไต้หวัน (งบประมาณ 60 - 100 บาทไทย ต่อ 1 อิ่ม)

    แหล่งนี้ เป็น หนึ่งในอาหารจานหลักที่เป็นพื้นฐาน ที่มหาชนชาวไต้หวัน นิยมทานกันทุกวัน เพื่อเติมพลังให้ร่างกาย ใช้ดำเนินชีวิตค่ะ

    ดังนั้น จึงพบได้ทั่วไป ตามท้องถนนที่เราเดินผ่าน ด้วยความที่พูดจีนกลางแทบไม่ได้ แต่อยากลองสัมผัสอาหารท้องถิ่น เอสด้อมๆ มองๆ อยู่สักพัก สุดท้ายรวบรวมความกล้า เลือกเดินเข้ามาร้านนี้ค่ะ



    เอสไม่รู้คนไต้หวันเรียกร้านแบบนี้ว่าอะไร แต่หน้าตาเหมือนร้านข้าวแกงบ้านเรา เอสเลยขอเรียกว่า ร้านข้าวแกง นะคะ

    ในช่วงกลางวัน ร้านข้าวแกง เป็นร้านที่พบได้บ่อย หากเราเดินไปตามท้องถนนในไต้หวัน แต่ไม่ได้เป็นร้านอาหารชนิดเดียวที่พบค่ะ สามารถพบร้านอาหารรูปแบบอื่นด้วย สลับๆกันไป แต่ร้านข้าวแกง เป็นแหล่งวัฒนธรรมการกินอาหารจานหลักพื้นฐาน ของชาวไต้หวัน ที่คนที่ใช้ภาษาจีน แทบไมได้แบบเอส เข้าถึงได้ง่ายที่สุดค่ะ

    เราสามารถเดินเข้าไปในร้าน เลือกกับข้าวที่อยากทาน แล้ว ก็ใช้ภาษามือ ชี้เอาได้เลยค่ะ ตอนแรก เจ้าของร้านอาจทักเราเป็นภาษาจีน แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ พอผ่านไปสักพัก เจ้าของร้านจะเริ่มเข้าใจ และยิ้มให้เราอย่างเดียวแทนค่ะ 5555

    ร้านข้าวแกงในไต้หวันส่วนใหญ่ หากทานที่ร้าน จะมีบริการ น้ำซุปฟรี กับ น้ำชาฟรี เติมได้ไม่อั้นค่ะ สำหรับบางร้านอาจมีเงื่อนไขพิเศษ เติมข้าวได้ไม่อั้นด้วย



    กับข้าวส่วนใหญ่เป็นของผัด มีของอบของต้มบ้าง ราคาอาหารก็จะคิดตามชนิดของกับข้าว ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะแพง เป็นผักก็จะถูกหน่อย

    ส่วนหากวันไหน ไม่อยากทานข้าว อยากทานเส้นหมี หรือ วุ้นเส้นแทนข้าว ก็สามารถสั่ง (ชี้) ได้เช่นกันค่ะ



    จุดเด่นอีกจุดหนึ่งที่เอสสังเกตเห็น ที่ร้านข้าวแกงที่ไต้หวัน คือ การซื้อใส่กล่อง



    ลูกค้าหลายๆคนที่เข้ามาทานข้าวแกงตอนเช้า ทานเสร็จแล้ว ก็สั่งใส่กล่องกลับไปด้วยคนละกล่อง เอสคาดว่า น่าจะเป็นกล่องสำหรับมื้อเที่ยงค่ะ

    เอสเลยลองซื้อใส่กล่องดูบ้าง กล่องข้าวของไต้หวัน ถูกออกแบบให้มีความแข็งแรง สามารถถือมือเดียวที่ข้างใดข้างหนึ่งของกล่องได้โดยไม่เสียรูป มีช่องสำหรับแยกกับข้าว รวมทั้งมีฝาปิดค่ะ เลยสะดวกในการทานอาหารในกล่องมากกว่า เมื่อเทียบกับกล่องโฟมของบ้านเรา ซึ่ง ส่งผลให้สามารถทำการจัดการการทานอาหาร ได้สะดวกมากขึ้น



    อย่างเช่น วันไหนที่เอสจะเดินทางออกจากไทเป ด้วยรถไฟระหว่างเมือง หรือ รถไฟความเร็วสูง ที่อนุญาตให้นำข้าวกล่องขึ้นไปทานได้ เอสจะเลือกซื้ออาหารเช้าใส่กล่องไปทานบนรถไฟ เพื่อประหยัดเวลา และ ไม่ใช่แค่เอสคนเดียวนะคะ เหลียวซ้ายแลขวา ก็มีคนไต้หวันนำข้าวกล่องขึ้นมาทานด้วยพอสมควรค่ะ



    ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึง วิถีชีวิตที่ต้องบริหารจัดการเวลาของชาวไต้หวัน ผ่านความนิยมในการทาน "ข้าวกล่อง" ค่ะ

    ร้านข้าวแกงส่วนมากจะเปิดตั้งแต่เช้า ถึงช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ค่ะ

    พอถึงช่วงค่ำ ร้านข้าวแกงส่วนใหญ่ก็ปิดเกือบหมด แต่จะเป็นเวลาที่เริ่มเปิด ของร้านหน้าตาแบบนี้ค่ะ



    หน้าตาคล้ายๆ กับร้านยำบ้านเรา แต่รสชาติอาหารไม่ใกล้เคียงยำเลยค่ะ เอสเลยขอเรียกว่า ร้านของลวก แทนนะคะ

    ร้านของลวก เป็นหนึ่งในแหล่งวัฒนธรรมการกินอาหารจานหลักพื้นฐานของชาวไต้หวัน ในช่วงค่ำ ก่อนกลับบ้านพักผ่อนยามค่ำคืน ที่คนที่ใช้ภาษาจีนกลางแทบไม่ได้อย่างเอส สามารถเข้าถึงได้ง่ายค่ะ

    เมื่ออยู่หน้าร้าน เราสามารถเลือกวัตถุดิบที่เราอยากทาน โดยการชี้ หรือ บางร้านจะมีตะกร้าเล็กๆ ให้เราเลือกวัตถุดิบใส่ ให้เจ้าของร้าน นำไปลวกรวมกันในน้ำซุป พร้อมปรุงรส และ จะได้ออกมาแบบนี้ค่ะ



    และ สามารถสั่งกลับบ้านได้เช่นกัน แบบนี้ค่ะ



    รสชาติของน้ำซุปที่ใช้ลวกสีออกคล้ำๆ จะเป็นน้ำซุปยาจีน แต่เหมือนที่นี่จะใส่เครื่องยาจีนเข้มกว่าที่บ้านเราค่ะ กลิ่นยาจีนเลยเข้มกว่า อร่อยไปอีกแบบค่ะ

    เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารจากร้านข้าวแกงในตอนกลางวัน จะเห็นว่า อาหารดูเบาท้องกว่ามาก จากการเน้นเส้นก๋วยเตี๋ยว และ ผัก จึงเหมาะกับการเป็นอาหารมื้อค่ำก่อนพักผ่อน ซึ่ง ต่างจากร้านข้าวแกง ที่เน้นข้าว โปรตีน และ ของผัด ซึ่งมันกว่าของลวก ให้พลังงานมากกว่า เหมาะสำหรับเป็นอาหารมื้อแรกของวัน ที่ทำให้มีแรงในการดำเนินชีวิตค่ะ

    เมื่อพิจารณาดู คงต้องบอกว่า เป็นความแตกต่าง ที่ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว เหมาะสมตามเงื่อนไขการดำเนินชีวิตค่ะ

    ทั้ง ร้านข้าวแกง และ ร้านของลวก ถือเป็น แหล่งวัฒนธรรมการกินอาหารจานหลักพื้นฐาน ของชาวไต้หวัน ที่ราคาไม่แพง มีคุณค่าทางอาหารที่ค่อนข้างครบ เหมาะสมที่จะทานได้ทุกวัน ยกเว้น !! วันที่เราเลือกให้มี "มื้อพิเศษ" ค่ะ

    อะไรคือ "มื้อพิเศษ" ของชาวไต้หวัน และจะเข้าถึงแหล่ง "มื้อพิเศษ" ของชาวไต้หวันได้อย่างไร ติดตามต่อโพสต์หน้านะคะ


    -------------------------------------

    (เที่ยวอุ่นใจทุกทริป อย่าลืมพก #Umbrella, #Sunday, #Chlorella และ #TheSignature นะคะ)
    Like aounoom ถูกใจ ข้อความนี้ ที่สุด

  4. #4
    s's Avatar
    s is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Location
    มีหัวใจ
    Posts
    3,111
    Blog Entries
    4
    Warning Points:
    0/5
    
    คืนที่ดาวเต็มฟ้า ฉันจินตนาการเป็น .... ของกิน !! จนฟินไปไกล .... มองไม่เห็นเป็นดาว ??
    3. ตลาดกลางคืน แหล่งรวมดาวเด่น ประชันเมนูอร่อย ยามค่ำคืน ของชาวไต้หวัน (งบประมาณ 100 - 200 บาท ต่อ 1 อิ่ม)

    หากพูดถึง ตลาดกลางคืน ของไต้หวัน คนที่เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่่ท่องเที่ยวในไต้หวัน คงจะได้เห็นผ่านตากันบ่อยๆ ว่าเป็นสถานที่ที่ต้องไป ไม่ควรจะพลาดด้วยเหตุผลใดทั้งปวง เห็นเขาว่ากันอย่างนั้น

    เอสเองก็เคยได้ผ่านตามาหลายๆรอบ ด้วยความสงสัย ก่อนที่จะเริ่มได้เดินทางและสัมผัสไต้หวัน ด้วยตัวเอง

    และพอเริ่มได้สัมผัส ตลาดกลางคืน 3-4 แห่ง ในไทเป ในตอนทริปแรก สิ่งที่เอสรู้สึกคือ "อยากลองไปสัมผัสตลาดกลางคืน ให้ทั่วเกาะไต้หวันค่ะ" !!!

    พอเข้าสู่ทริปที่สาม ซึ่งเป็นทริปที่วางแผนว่า จะเดินทางออกไปต่างจังหวัดของไต้หวันเป็นส่วนใหญ่ เอสเลยเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดกลางคืนในไต้หวัน และ ได้พบกับแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ที่ถือว่าเป็นไกด์ไลน์ในการเดินทาง เสาะหาตลาดกลางคืนทั่วไต้หวันของเอสค่ะ

    [รีวิวไต้หวัน] ตอนที่ 59 : 10 อันดับตลาดกลางคืนยอดฮิตของไต้หวัน ประจำปี 2015

    เอสต้องขอขอบคุณ คุณหนึ่ง 1000milesjourney.com ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

    หลังจากได้ข้อมูลจากบทความด้านบน และ รวมทั้งอีกหลายๆ บทความ เอสจึงได้เห็นเรื่องราวของตลาดกลางคืนของไต้หวัน มากขึ้น

    ตลาดกลางคืนของไต้หวัน ไม่ใช่ที่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของทางการไต้หวันนะคะ แต่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของชาวไต้หวัน ที่มีมากว่าร้อยปีแล้วค่ะ

    จึงทำให้ เกาะไต้หวัน มีตลาดกลางคืนกระจายอยู่ทั่วเกาะกว่า ร้อยแห่ง !!! ซึ่ง ทำให้เอสรู้ค่ะ ว่าจะไปทั้งหมดเลยคงไม่ได้ 5555

    และ จากบทความ "10 อันดับตลาดกลางคืน ที่คนไต้หวันชื่นชอบมากที่สุด" ตามผลสำรวจระหว่างวันที่ 17/12/2014 - 17/6/2015 ของเว็บไซต์ dailyview.tw ที่คุณหนึ่ง นำมาแปลจากภาษาจีนไว้ให้ ในบทความด้านบน


    10 อันดับตลาดกลางคืน ที่คนไดต้หวันชื่นชอบมากที่สุด
    ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.1000milesjourney.com/top-...night-markets/ ค่ะ


    นอกจากจะทำให้เอสได้รู้ รายชื่อ 10 รายชื่อของตลาดกลางคืน ที่ควรไปเยือน แล้ว ยังทำให้เอสเริ่มเห็นด้วยว่า คนไต้หวันนั้น นิยมไปเดินตลาดกลางคืนกันจริงๆ โดยมีเหตุผลหลักๆ คือ หาของอร่อยๆทานยามค่ำค่ะ

    ในรีวิวนี้ เอสจะไม่แจกแจงรายละเอียดของ แต่ละตลาดกลางคืน ที่เอสได้ไปสัมผัสนะคะ แต่เอสจะขอเล่า สิ่งที่เอสได้เห็นได้สัมผัส จากการตระเวนเยือนตลาดกลางคืน ที่รวมๆแล้ว น่าจะเกินสิบแห่ง ของเอสค่ะ (เฉพาะส่วนของกินนะคะ)

    ส่วนของกิน ในตลาดกลางคืนของไต้หวัน ส่วนใหญ่จะเริ่ม เปิดขายกันประมาณ 6 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่ม และ ไปปิดกันราวๆ ห้าทุ่ม เที่ยงคืน และ คนจะเริ่มมากันเยอะ ช่วง 2-3 ทุ่ม คนเยอะนี่คือเยอะจริงๆนะคะ บางที่ระดับต้องเดินเบียดกันหน่อย เราเลยสังเกตได้ง่ายหน่อย ว่า ร้านไหนเป็นร้านดัง ประจำตลาด โดยสังเกตจากความเยอะผิดปกติของคนค่ะ

    และ ตลาดแต่ละแห่ง ก็จะมีอาหารที่ขาย คล้ายกันบ้าง ต่างกันบ้าง จากที่เอสมีโอกาสได้ไปสัมผัสมาหลายที่ เอสเลยพอจะแยกกลุ่มอาหารที่ขายในตลาดกลางคืนในไต้หวัน ออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ

    1) เมนูฮิต ทั่วไป ของ ชาวไต้หวัน

    ไม่ว่าตลาดกลางคืนนั้น จะอยู่ เหนือ หรือ ใต้ ใหญ่ หรือ เล็ก ดัง หรือ ไม่ดัง เราจะพบเมนูเหล่านี้ ประจำการเสมอ !!!

    พูดง่ายๆคือ เมนู ที่ได้รับความนิยมจากชาวไต้หวัน และ หาทานได้ทั่วๆไป ในทุกตลาดกลางคืนค่ะ

    เมนูในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ ที่เอสเห็น จะเป็น ของทอด กับ ของย่าง ค่ะ

    เนื่องจากชาวไต้หวัน นิยมทานของทอด จึงทำให้ที่นี่ มีของทอดหลายรูปแบบ และ โดยทั่วไปที่เอสมีโอกาสได้ชิม เอสว่า ชาวไต้หวัน มีเทคนิคการทำของทอดที่ดี จึงทำให้ของทอดที่นี่ส่วนใหญ่กรอบ ไม่อมน้ำมันค่ะ





    ของทอดที่เราจะพบได้บ่อยที่สุดแทบจะในตลาดกลางคืนทุกที่ในไต้หวัน คือ ของชุบแป้งทอดค่ะ เราจะเห็นร้านของชุปแป้งทอดได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น แผงในตลาดกลางคืน รถเข็น ไปจนถึง ร้านของชุปแป้งทอด ที่มีหลายสาขา ที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณตลาดกลางคืนค่ะ

    นอกจากเทคนิคการทอดแล้ว สิ่งที่เป็จุดเด่น ของ ของชุปแป้งทอดที่นี่ คือ "ผงปรุงรส" ค่ะ ชาวไต้หวัน นิยมเพิ่มรสชาติให้ของทอด โดยใช้เครื่องปรุงรส ในรูปแบบผง ซึ่งจะต่างกับบ้านเรา ที่นิยมรูปแบบน้ำซอส ที่เราเรียกจนติดปากว่า "น้ำจิ้ม"



    ถึงแม้ว่า ผงปรุงรส ไม่สามารถนำพารสชาติเข้าไปในของทอดได้ดีเท่าน้ำจิ้ม แต่ ข้อดีมากๆ ของ การใช้ผงปรุงรส เมื่อเทียบกับน้ำจิ้ม คือ จะสามารถคงความกรอบ ของ ของชุปแป้งทอดได้นานกว่าการใช้น้ำจิ้ม อย่างเห็นได้ชัด



    จึงทำให้ เมื่อซื้อแล้วเราไม่ต้องรีบกินก่อนที่แป้งจะนิ่ม หรือ สามารถซื้อกลับบ้านได้ โดยไม่ต้อง "แยกน้ำจิ้ม" จึงสามารถพูดได้ว่า การใช้เครื่องปรุงรส ในรูปแบบผงนั้น ทำให้การจัดการในการกินของชุปแป้งทอดนั้น สะดวกขึ้นมากค่ะ

    ส่วนของทอดแบบไม่ชุบแป้ง จะพบได้น้อยกว่ามากค่ะ



    ร้านนี้ เป็นหนึ่งในของทอดแบบไม่ชุบแป้ง แบบที่ชาวไต้หวันนิยมค่ะ เป็นไข่ต้มหั่นซีก หุ้มด้วยเนื้อปลาบด และ ทอดในน้ำมันร้อนๆ ค่ะ ซึ่ง การนำไข่ต้มหั่นซีก ซึ่งสุกอยู่แล้ว มาเป็นแกนกลางของของทอด ทำให้ไม่ต้องทอดนาน ตัวของทอดจึงไม่อมความร้อนมาก จึงไม่ต้องพักนาน สามารถทานได้ตอนเนื้อปลายังฟูอยู่ค่ะ

    จุดเด่นอีกจุดของอาหารแบบนี้ คือ ซอสค่ะ ของทอดในลักษณะนี้ จะไม่ใช้เครื่องปรุงรส ในรูปแบบผงค่ะ แต่จะเป็นซอส ที่มีลักษณะเป็นครีมหนืดๆ มีรสชาติเข้มข้น มี รสวาซาบิ และ รสเผ็ดให้เลือก พอทาที่ตัวของทอดที่ยังฟูอยู่แล้ว ซอสจะซึมเข้าไปในตัวของทอด เหมือนน้ำซึมเข้าฟองน้ำ และ ยังทำให้ของทอดเย็นลง พอที่จะทานได้ ชาวไต้หวันจึง นิยมทานเลย หลังจากทาซอส พอกัดเข้าไปในเนื้อปลาที่ยังฟูที่ฉ่ำไปด้วยซอสรสเข้มข้น รวมกับรสมันของไข่ต้มที่เป็นแกนกลางแล้ว เจอเป็นซื้อค่ะ !!!





    ส่วนอีกเมนูยอดนิยม ของของทอดแบบไม่ชุปแป้ง คือ เต้าหู้เหม็นทอด ค่ะ เป็นเต้าหู้ที่ผ่านการหมัก ทำให้มีกลิ่นแรงกว่าปกติสักหน่อย แต่สิ่งที่ได้มาคือ รสชาติที่เข้มข้นขึ้นมาก ชาวไต้หวันนิยมนำเต้าหู้ชนิดนี้มาทอด แล้ว ทานกับผักดอง และ แต่งรสด้วยพริกน้ำส้ม ซึ่ง อร่อยมาก รสเข้มข้นทุกองค์ประกอบ ที่สำคัญ เข้ากันสุดๆ ค่ะ

    ส่วนของย่างเอง ก็พบบ่อยไม่ต่างกับของทอดค่ะ



    ของย่างแบบแรกที่จะพบ คือ ของย่างบนตะแกรง ในกลุ่มของย่างแบบนี้ ที่เราจะเห็นได้บ่อยที่สุด คือ ไส้กรอกย่าง แบบนี้ค่ะ



    ในตอนที่เอสเห็นเมนูนี้ครั้งแรก เมื่อตอนปี 2556 ตอนนั้นเอสยังไม่เลิกทานหมูค่ะ เห็นแล้ว อยากบอกว่า อดใจไม่ไหว ต้องซื้อมาลองชิม ด้วยความอยากรู้ ว่า รสชาติเป็นอย่างไร พอได้กัดเข้าไปคำแรก เลยรู้ว่า สิ่งนี้คือ ... กุนเชียง ค่ะ

    หาก ไข่พะโล้ คือ ตัวแทนความสัมพันธ์ ระหว่างวัฒนธรรมการกินของไทยกับไต้หวัน ตอนนี้ เราได้ผู้ช่วยแล้วค่ะ

    กุนเชียงของบ้านเรา เนื่องจากรสหวานเค็มที่เข้ม จึงทำให้นิยมมาทำเป็นวัตถุดิบมากกว่าทานเปล่า แต่ กุนเชียงของไต้หวัน จะรสไม่เข้มเท่าของบ้านเรา แต่เนื้อฟูและมีมันแทรกมากกว่า เมื่อนำมาย่างแล้ว ไขมันที่แทรกจะเริ่มละลายกลายเป็นกลิ่นเฉพาะตัว ตอนกัดแล้ว มีรสชาติเฉพาะตัวออกมาจากน้ำมัน จึงรสชาติอร่อยไปอีกแบบค่ะ

    ส่วนไส้กรอกสีขาวที่เห็นย่างอยู่ด้วยกัน ข้างในเป็นข้าวค่ะ เซ็ตนี้ ถ้าทานคู่กัน คงได้อารมณ์เหมือน ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ของเราค่ะ



    ส่วนกุนเชียงสีดำแบบนี้ เป็นกุนเชียงที่ทำจากปลาหมึก (เอสเห็นคนขายพยายามสื่อสารแบบนั้น) ใส่หมึกให้สีดำ แต่เอสว่า น่าจะใส่เนื้อหมูด้วย เพราะมีรสเฉพาะตัวของเนื้อหมู แบบกุนเชียงปกติ อยู่ด้วยค่ะ หากใครสามารถใช้ภาษาจีนได้ ตอนซื้อลองถามดูนะคะ

    ของย่างอีกรูปแบบ ที่เราพบได้บ่อย คือ ของย่างบนกระทะร้อนค่ะ



    เมนูที่สำคัญของของย่างกลุ่มนี้ คือ เต้าหู้เหม็นแบบย่างกระทะร้อนค่ะ



    เป็นเต้าหู้ชิ้นใหญ่ รสเข้มข้น ผ่ากลาง แล้ว ใส่ผักดองจนเต็ม ทาด้วยซอสบาร์บีคิว ซึ่งเสริมรสชาติให้กันได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วย่างบนกระทะร้อน เป็นอีกหนึ่งเมนูเต้าหู้ ที่เอสเจอเป็นซื้อค่ะ 5555

    และ อีกกลุ่มเมนูที่สำคัญ ของของย่างกระทะร้อน คือ กลุ่มขนมที่ทำจากแป้งค่ะ



    มีทั้งแบบย่างกระทะร้อน แบบแบน และ ย่าง กระทะร้อน ที่เป้นรูปแม่พิมพ์



    โดยพื้นฐานแล้ว เอสว่าชาวไต้หวันทำแป้งได้เก่งค่ะ มีเนื้อละเอียด นุ่ม ประกอบกับเทคนิคการย่างที่ดี ส่วนที่สัมผัสกระทะจึงกรอบ ไส้ก็ไม่หวานเท่าเมื่อเทียบกับของบ้านเรา สรุปคือ อร่อยค่ะ !!!

    ส่วนเมนูที่ไม่ใช่ ของทอด หรือ ของย่าง ที่เอสต้องขอพูดถึง คือ เมนูนี้ค่ะ



    เป็นลูกชิ้นปลา นำมาทอดก่อน และ ต้มเคี่ยวในน้ำแกงรสจัด น้ำแกงของที่นี่ จะมีน้ำแกงกะหรี่ สีเหลือง และ น้ำแกงเครื่องยาจีนรสเผ็ด สีดำค่ะ เมนูนี้ เอสเคยทานที่ ฮ่องกง กับที่ มาเก๊า แต่รสน้ำแกงของที่นั่น จะเผ็ดแหลม และ มันกว่าน้ำแกงของไต้หวันค่ะ

    แต่จุดเด่นของเมนูนี้ ของชาวไต้หวัน คือ การนำอาวุธหลักทางรสชาติ ของชาวไต้หวันมาใส่ร่วมด้วย นั่นคือ เครื่องปรุงรสแบบผง ค่ะ



    เมื่อนำลูกชิ้นขึ้นจากหม้อน้ำแกง ในขณะที่ยังฉ่ำ และ โรยผงปรุงซึ่งแห้งกว่าลงไป ผงปรุงก็จะดูดน้ำแกงขึ้นมาผสมกับรสชาติของตัวเอง ทำให้รสชาติยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก พอกัดเข้าไปคำแรก เหมือนรสชาติที่อัดแน่นนั้น ระเบิดในปาก จนยากที่จะหยุดทานค่ะ

    ร้านในกลุ่มที่เป็น เมนูฮิต เหล่านี้ ของชาวไต้หวัน เกือบจะทั้งหมด จะเป็นแผงขายขนาดเล็ก ที่มีทีมงาน 1-2 คน เป็นส่วนมาก ขายอาหารที่เห็นชัด ไม่ซับซ้อน คนที่ใช้ภาษาจีนกลางแทบไม่ได้อย่างเอส จึงสามารถสั่งได้ง่าย โดยการชี้ เลยสามารถลิ้มรสได้ ตั้งแต่คืนแรก ที่ถึงไต้หวันค่ะ

    2) เมนูสร้างสรรค์ใหม่ ที่หวังจะสร้างชื่อ และ กลายเป็นเมนูฮิตในอนาคต

    กลุ่มนี้ ลักษณะจะคล้ายกลุ่มแรกมาก จนแยกค่อนข้างยากค่ะ ในตอนที่ไปไต้หวันครั้งแรก เอสก็ไม่รู้ว่ามีกลุ่มนี้ซ่อนอยู่ แต่หลังจากที่เอสมีโอกาสไป 3 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 3 ปี และ ไปเดินตลาดกลางคืนทุกครั้งที่ไปเยือน เอสเลยเริ่มสังเกตได้ ว่า มีเมนูอาหารแบบใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในตลาดค่ะ

    ซึ่ง ที่เอสมีโอกาสได้ลิ้มลอง ล่าสุดที่เอสไป เป็นเมนูนี้ค่ะ



    เป็นหอย ปรุงรส โรยหน้าด้วยชีส และ นำไปย่างบนตะแกรง โรยด้วยผงปรุงรส รสชาติเข้มข้นของหอยและเครื่องปรุง ปนกับชีสที่กำลังละลาย สำหรับคนชอบทานชีสแล้ว อยากสั่งตัวที่สองเพิ่มทันทีค่ะ ติดปัญหาอยู่เรื่องเดียว คือ มันค่ำแล้วค่ะ !!!

    เมนูนี้เอสเจอที่ตลาดลิ่วเหอ (อันดับ 8 ในลิสต์ด้านบน) ที่เมืองเกาสง เพิ่งเคยเจอ เมื่อทริปล่าสุด เมื่อ มีนาคม 2559 ค่ะ

    จะเห็นว่า เป็นเมนูที่ใช้วัตถุดิบ จากตะวันตกอย่างชีส เข้ามาเสริมกับเครื่องปรุงท้องถิ่น ทำให้มีกลิ่นอายของอาหารฟิวชั่น ซึ่ง เป็นรูปแบบหนึ่งที่พบบ่อยของเมนูที่เกิดในยุคหลังๆค่ะ

    พอเอสมีโอกาสได้เห็นการเกิดขึ้นของเมนูนี้ ทำให้เอสนึกถึง เมนูโปรดของเอส สองเมนูนี้ค่ะ



    จะเห็นว่า เมนูทางซ้าย และ ทางขวา เกิดจากองค์ประกอบแบบเดียวกัน คือ เต้าหู้เหม็น และ ผักดอง เพียงแต่เปลี่ยน วิธีการทำอาหาร และ ซอสปรุงรส

    เอสคิดว่า เมนูด้านซ้าย ที่เป็นเต้าหู้ทอด น่าจะเป็นเมนูที่เกิดขึ้นมาก่อน เพราะทั้งการทอด และ ซอสปรุงรส ที่เป็นพริกน้ำส้มนั้น เป็นสิ่งที่พบได้ดั้งเดิม ของที่นี่

    ส่วนเมนูทางขวา ที่นำการย่างกระทะร้อน และ ซอสบาร์บีคิว มาใช้ รวมถึงการจัดรูปแบบให้เหมือนฮ๊อตดอก มีกลิ่นอายของอาหารแบบฟิวชั่นอยู่บ้าง เอสเลยคิดว่า เมนูนี้ ชาวไต้หวันน่าจะสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ และ ได้รับความนิยม จนกลายเป็นเมนูฮิตต่อมาค่ะ

    การมีร้านกลุ่มนี้ อยู่ในตลาดกลางคืน แสดงให้เห็นถึงความพยายามคิดค้นและสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ของชาวไต้หวันค่ะ และ สิ่งนี้ทำให้เอสได้เห็นอีกอย่างหนึ่งคือ สมรภูมิอาหาร ตลาดกลางคืน ของไต้หวันนั้น ดุเดือดแค่ไหน การที่จะแทรกตัวเข้ามาอยู่ได้นั้น ไม่ง่ายเลยค่ะ

    ร้านในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแผงขายขนาดเล็ก ที่มีทีมงาน 1-2 คน เช่นกัน และ ส่วนใหญ่คนขายจะอายุยังไม่เยอะค่ะ เราสามารถสั่งได้ง่าย เหมือนกับร้านในกลุ่มที่ 1) ค่ะ ร้านในกลุ่มนี้ และ ในกลุ่ม 1) จะอยู่ปนๆกัน ในตลาดกลางคืนค่ะ ซึ่ง หากไปเดินแล้ว เห็นร้านไหนน่าอร่อย ก็สามารถลองลิ้มรสกันได้ แต่อย่าเพิ่งอิ่มก่อนเจอกลุ่มถัดไปนะคะ

    3) เมนู ร้านดังดั้งเดิม ประจำถิ่น

    กลุ่มนี้ สำหรับเอส ถือว่าเป็นไฮไลท์ ในการเดินตลาดกลางคืนในไต้หวันค่ะ

    หากเราไปเดินที่ตลาดกลางคืน เราจะเริ่มสัมผัสได้ ว่า จะมีบางพื้นที่ที่คนแน่นเป็นพิเศษ บรรยากาศเริ่มกดดัน จนเราที่เป็นชาวต่างถิ่นเริ่มรู้สึกอึดอัด ไม่กล้าเข้า

    หากเจอบรรยากาศประมาณนี้ นั้นแปลว่า ใช่แล้วค่ะ เรากำลังเข้าสู่ร้านที่เอสรู้สึกว่า เป็นไฮไลท์ของแต่ละตลาดกลางคืนที่กำลังเดิน

    ร้านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จะไม่ใช่แผงแบบซื้อแล้วเดินไปกินไป แต่จะเป็นร้านที่มีพื้นที่ใหญ่กว่า มีโต๊ะให้นั่ง และ เราจะพบว่าแต่ละโต๊ะนั้นอัดแน่นไปด้วยผู้คน จนต้องต่อคิวเข้าไปกินกันทีเดียว

    ร้านกลุ่มนี้ เท่าที่เอสสังเกต แต่ละตลาดกลางคืนจะขายอาหารที่แตกต่างกันค่ะ และ อาหารเป็นลักษณะอาหารจานหลักที่สามารถทานให้อิ่มได้ ต่างกับอาหารกึ่งของทานเล่นแบบสองกลุ่มด้านบน

    นั่นหมายความว่า เราอาจเจอร้านดัง ประจำแต่ละท้องถิ่นให้แล้ว



    จากเหนือสุด ที่จี่หลง (อันดับ 5 ในลิสต์ด้านบน) เราจะพบร้านลักษณะนี้ ขายซุปทะเล ที่มีลักษณะน้ำข้น มีมันเยอะหน่อย เหมาะสำหรับอากาศหนาวค่ะ (วันที่เอสไป ฝนตก และตลาดเพิ่งเปิด คนเลยน้อยอยู่ค่ะ)


    น้ำซุปร้อนๆใส่ปลาหมึกทอด ทานกับหมี่เหลือง ตัดรสด้วยซอสเปรี้ยวและพริกน้ำส้ม ฟินอย่างแรงค่ะ


    น้ำซุปหนักแบบซุปของกระเพาะปลาบ้านเรา ใส่เห็ดและเนื้อปู ทานกับข้าวแบบข้าวบ๊ะจ่าง ตัดรสด้วยพริกน้ำส้ม ของสดหวานอร่อย เหมาะกับอากาศที่ค่อนข้างหนาวของที่นั่นค่ะ

    พอมาใต้สุด ที่เกาสง ตลาดรุ่ยฟง (อันดับ 7 ในลิสต์ด้านบน) เราจะพบกลุ่มร้านที่ขาย อาหารจานร้อนแทน (เอสไปตอนช่วงพีค คนแน่นแทบจะหายใจไม่ออก เลยอดได้ลองค่ะ)



    เนื่องจาก มีพื้นที่ใหญ่กว่าร้านในกลุ่มอื่น และ ยังขายอาหารที่เป็นจานหลัก ต่างกับอาหารกึ่งทานเล่นแบบกลุ่มอื่น เอสเดาว่า ร้านกลุ่มนี้ น่าจะเป็นกลุ่มร้านที่อยู่มาก่อน จนพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่ที่คนในท้องถิ่นนิยมมาหาของกินในยามค่ำ จนเริ่มมีแผงขายอาหารมาตั้ง และเกิดเป็นตลาดกลางคืนตามมาก็เป็นได้ค่ะ

    ถึงแม้ว่า อาหารที่ขาย จะเป็นแบบจานหลัก แต่ส่วนใหญ่ร้านในกลุ่มนี้จะลดปริมาณลง เมื่อเทียบกับร้านอาหารมื้อหลักทั่วไปนอกตลาดกลางคืน ให้เหลือปริมาณประมาณ "ครึ่งอิ่ม" เอสเดาว่า คงเป็นการปรับตัวตามวัฒนธรรมการกินของคนที่เข้ามาหาของอร่อยๆทานในตลาดกลางคืน ที่ไม่นิยม "จบในร้านเดียว" ค่ะ



    ซุปลูกชิ้นปลาสดกรอบ ใส่ผักตั้งโอ๋ เป็นซุปใส แต่มีรสพริกไทยเล็กน้อย และ ใส่ต้นหอมโรย ที่ตลาดลิ่วเหอ (อันดับ 8 ในลิสต์ด้านบน) ที่เมืองเกาสง

    เมื่อเทียบกับสองกลุ่มด้านบน กลุ่มนี้ถือว่าเข้าถึงยากกว่ามาก โดยเฉพาะ คนที่ใช้ภาษาจีนกลางแบบไม่ได้แบบเอส เพราะเป็นอาหารจานหลักไม่ใช่กึ่งของทานเล่น ทำให้มีความซับซ้อนมากกว่า การสั่งอาหารให้ได้ตามต้องการจึงต้องใช้การสื่อสารที่มากกว่าตามไปด้วยค่ะ

    สำหรับคนที่ใช้ภาษาจีนกลางแทบไม่ได้ หากอยากลิ้มรสร้านในกลุ่มนี้ เอสแนะนำว่า ให้ไปถึงตลาดกลางคืนตั้งแต่ช่วงที่เริ่มเปิด (ประมาณ 6 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่ม) แล้วหาร้านกลุ่มนี้ ที่มีจุดเด่นคือมีที่นั่งทาน และ ลองมองหาร้านที่พอสั่งได้ดู จากนั้น ลองสั่งทานก่อนเลยตั้งแต่เริ่มตั้งร้าน เพราะการสั่งอาหารของเราจะใช้เวลานานกว่าปกติ (หากเราเริ่มคุ้นเคยกับการสั่งอาหารกับชาวไต้หวัน จากแหล่งวัฒนธรรมการกินในโพสต์ที่แล้ว จะสั่งได้ง่ายขึ้นค่ะ) แต่หากไปสั่งตอนช่วงพีคที่คิวแน่นมากๆ บรรยากาศจะกดดันมากอาจทำให้ลนลานสั่งผิดสั่งถูกได้ค่ะ

    และ หลังจากได้ลิ้มรสร้านในกลุ่มนี้แล้ว หากยังไม่อิ่ม ค่อยไปเดินหาร้านในกลุ่ม 1) หรือ 2) ที่ถูกใจทานต่อ ถึงแม้จะเป็นช่วงพีคแต่เรายังสามารถสั่งได้ไม่ยากค่ะ

    ตลาดกลางคืนในไต้หวัน ถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมการกิน ที่เปรียบเหมือนแหล่งประชันของอาหารในกลุ่มต่างๆ ที่หวังจะมัดใจนักชิมทั้งชาวไต้หวัน และ นักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างเรา สำหรับคนที่อยากหามื้อพิเศษยามค่ำสักมื้อ ที่นี่เป็นที่ที่ไม่ควรพลาดด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงค่ะ

    แหล่งนี้ ถือ เป็นแหล่งวัฒนธรรมการกินของไต้หวัน ที่เอสชอบ และ หลงใหลมากที่สุด ก่อน ! ที่เอสจะพบกับแหล่งในโพสต์ถัดไปค่ะ

    แหล่งวัฒนธรรมการกินแบบไหน ที่ทำให้เอสหลงใหลได้มากกว่า ตลาดกลางคืนได้อีก ติดตามโพสต์ต่อไปนะคะ

Comments from Facebook

Similar Threads

  1. Replies: 10
    Last Post: 11-02-2015, 01:50 AM
  2. อาการของร่างกายหลังรับประทาน organic chlorella จาก febico
    By iDnOuSe4 in forum Business Social Groups ที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบการของเพื่อนสมาชิก
    Replies: 1
    Last Post: 10-05-2015, 04:02 PM
  3. Replies: 3
    Last Post: 10-05-2015, 04:01 PM
  4. Replies: 1
    Last Post: 10-03-2015, 12:02 AM
  5. Replies: 0
    Last Post: 09-29-2015, 12:41 PM

Posting Permissions

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •