ขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้

เมื่อวานเอาขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิมจ.ชายแดนภาคใต้มาให้เสพด้วยสายตากันแล้ว วันนี้เอาขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้ของ จ.อื่น ๆ มาให้ดูกันบ้าง ขนมปักษ์ใต้จริง ๆ แล้วมีเยอะมาก บางชนิดหารูปไม่ได้เลยไม่ได้เอามาให้ดูกัน หวังว่าคงพอล้างปากสำหรับมื้อเที่ยงกันได้นะจ๊ะ ท่านที่เมื่อวานไม่ได้ดูขนมพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมจ.ชายแดนภาคใต้และสนใจก็ คลิกที่นี่ ได้เลย

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมชม ขาดตกบกพร่องยังไงต้องขออภัยด้วยเน้อ




ขนมกรวย แป้งข้าวเจ้ากับแป้งถั่วเขียว ผสมน้ำตาล เกลือ กะทิ มี 2 ชั้น คล้ายขนมถ้วยภาคกลาง แต่ภาชนะเป็นกรวย



ขนมหัวล้าน (ตาป่าโก้ย, บออิ) ทำจากแป้งข้าวเหนียวห่อไส้ที่ทำมาจากถั่วเขียวนึ่งบด กวนกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล ปั้นเป็นรูปกลม นำไปนึ่งให้สุก ราดด้วยกะทิหรือไม่ราดก็ได้



ขนมมด (ขนมหัวล้านทอด) ขนมหัวล้านนั่นแหล่ะ แต่ไม่ได้นึ่ง นำไปทอด หาทานยากเพราะส่วนใหญ่เขานึ่งกัน



อาโป๊ง ขนมพื้นเมืองภูเก็ต คล้ายขนมเบื้อง นิยมทานเป็นอาหารว่างคู่กับชา กาแฟ กรอบ หอม รสหวาน



ขนมกอและ (ออกเสียงว่า ก้อแหล้) ไม่ใช่ขนมกอและห์ของมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้นะ ขนมนี้ทำจากแป้ง กะทิ เกลือ กวนเข้าด้วยกัน โรยหน้าด้วยถั่วทอง มะพร้าวขูดคั่ว น้ำตาล คลุกให้เข้ากัน



ขนมกวนขาว ขนมพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวนครศรีธรรมราช คล้ายขนมเปียกปูนขาว นวดแป้งให้เข้ากับน้ำปูนใสแล้วนำไปเคี่ยวกับกะทิขนข้นเหนียว ราดหน้าด้วยกะทิเคี่ยวกับน้ำตาลและเกลือ แล้วโรยหน้าด้วยถั่วทองคั่ว



ขนมลา มี 2 ชนิดคือ "ลาลอยมัน" กับ "ลาเช็ด" ซึ่งกรรมวิธีการทำจะแตกต่างกันไป ลาเช็ดใช้น้ำมันน้อยกว่า และเส้นละเอียดกว่าลาลอยมัน



ขนมโค แป้งคลุกมะพร้าว คล้ายขนมต้มภาคกลาง แต่ข้างในเป็นน้ำตาลแว่น



ขนมไข่ปลา มะพร้าวขูดผสมน้ำตาลโตนด กวนจนแห้งแล้วปั้นเป็นก้อน นำมาชุบในแป้งข้าวเจ้าแล้วทอด กรอบนอก นุ่มใน



ขนมม่อฉี (ม่อชี่) ขนมพื้นบ้านของสงขลา-กระบี่ ชื่อเข้าใจว่ามาจากคำว่า "โมจิ" นอกจากสีขาวยังมีสีอื่นด้วยเช่น ชมพู เขียว



ขนมเกือกม้า ขนมขึ้นชื่อของภูเก็ต ทำจากแป้งสาลี ถั่วลิสง งาขาว ฟักเชื่อม หอมเจียว นิยมทานกับน้ำชา กาแฟ



ขนมปำจี ขนมพื้นเมืองสงขลา ไส้มะพร้าวคลุกเกลือ รสชาติหวาน มัน เค็มเล็กน้อย



ขนมเจาะหู (เจาะรู, เบซำ, ดีซำ) คล้ายโดนัท ทำจากแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวนวดผสมน้ำตาล ปั้นเป็นก้อนแล้วกดให้เป็นรูตรงกลาง ทอดในน้ำมัน




ขนมสะบ้า (บ้า) แป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลโตนด ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ แบน ๆ คลุกงาแล้วทอด



ขนมค้างคาว ขนมเก่าแก่ขึ้นชื่อของสงขลา ไส้หอมหวานทำจากกุ้งลวกตำ ผัดกับกระเทียม มะพร้าว กะทิ ทานร้อน ๆ



ข้าวเหนียวหม้อข้าวหม้อแกงลิง ขนมของสงขลา ทำจากข้าวเหนียวผัดกับกะทิ หยอดลงไปในหม้อข้าวหม้อแกงลิง



เหนียวสองดัง (เหนียวดัง) ผัดข้าวเหนียวกับกะทิ แล้วนำมาแผ่ในกะทะ ตั้งไฟอ่อน ๆ พลิกกลับไปมาจนสุก



ข้าวเหนียวอัด ขนมขึ้นชื่อของสตูล ข้าวเหนียวผสมสีดอกอัญชัน นึ่งในกะบะไม้แล้วอัดให้แน่น จิ้มทานกับสังขยา



ขนมเต้าส้อ ขนมขึ้นชื่อของภูเก็ตและพังงา คล้ายขนมเปี๊ยะหรือโมจิ แต่เล็กกว่า มีหลายไส้ เช่น ไส้เค็ม ไส้หวาน ไส้ถั่วแดง



ขนมพริกไทย ขนมโบราณพื้นเมืองภูเก็ต รสคล้ายคุ้กกี้ผสมขนมปังกระเทียม



ขนมต้มใบกะพ้อ ขนมต้มลูกโยน ห่อด้วยใบกะพ้อ ทำในเทศกาลบุญชักพระ และงานประเพณีหลาย ๆ งาน



เหนียวกวน (ข้าวเหนียวกวน) นิยมทานในครัวเรือน และเป็นของฝากของ อ.ไชยา



ขนมกรุบ ขนมแจกคนมาช่วยงานบวชหรืองานแต่งงาน และเป็นของหวานที่ทานกันทั่วไปของสุราษฎร์ธานี



ขนมลูกโดน (ดอกโดน) ขนมพื้นเมืองสงขลา รูปร่างบุ๋มตามแบบพิมพ์ มีมะพร้าวคลุกเกลือด้านใน รสหวาน เค็ม มัน



ขนมบอก แป้งผสมมะพร้าวขูดใส่กะทิ แล้่วกรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ นึ่งจนสุกแล้วดุนออกมาคลุกกับมะพร้าวอีกที



โกสุ้ย (ขนมถ้วยตะไลน้ำตาลแดง) ขนมของสตูล เป็นขนมถ้วยทำจากน้ำตาลแดง โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด รสหวาน เหนียวหนึบ



ขนมคอเป็ด แป้งข้าวเจ้ากับแป้งข้าวเหนียวนวดกับไข่ไก่ รีดเป็นแผ่นแล้วตัดเป็นชิ้น ๆ เอาไปทอด สุกแล้วเอาไปเคล้ากับน้ำตาลโตลดที่เคี่ยวจนเหนียวข้น



ขนมคนที ขนมพื้นบ้านสงขลา-พัทลุง ทำจากใบคนที ผสมกับแป้งและน้ำตาล นึ่งให้สุก คลุกกับมะพร้าวขูด จิ้มกับน้ำตาลทราย



ขนมก้านบัว ขนมพื้นบ้านของพัทลุง ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก นำไปโขลกด้วยครกไม้จนเป็นแป้ง รีดให้แบน ตากแดดจนแห้ง ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดให้สุก ฉาบด้วยน้ำเชื่อม



ขนมจูจุ่น (จู้จุน, ขนมฝักบัว) นำข้าวสารไปแช่น้ำให้พองแล้วโม่ละเอียด เอาไปนวดกับน้ำตาลเคี่ยว แล้วนำไปหยอดทอด



ข้าวเหนียวเสือเกลือก คล้ายข้าวโพดคลุกของภาคกลางแต่เปลี่ยนข้าวโพดเป็นข้าวเหนียวนึ่งสุกและใส่กะทิด้วย



ขนมก้องหยู่น ขนมภูเก็ต คล้ายขนมตังเม สอดไส้ถั่วลิสงบด รสชาติหวานมัน



เกี่ยมโก้ย (ขนมถ้วยเค็ม) ขนมพื้นบ้านภูเก็ต ทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่ง โรยหน้าด้วยหอมเจียว ต้นหอม กุ้งแห้งทอด กินกับน้ำจิ้มเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ นิยมวางขายตามร้านกาแฟ



โอ้เอ๋ว ของหวานของภูเก็ต ส่วนผสมหลักคือ กล้วยน้ำว้าผสมกับโอ้เอ๋ว โดยนำเมล็ดโอ้เอ๋วมาแช่น้ำ แล้วเอาเฉพาะเมือกมาใส่เจี่ยกอ เพื่อให้โอ้เอ๋วเกาะตัวกันเป็นก้อนคล้ายวุ้น ใส่ถั่วแดงต้มสุก แล้วนำมารับประทานกับน้ำแข็งใส สรรพคุณแก้ร้อนใน




หัวครกฉาบ (เล็ดล่อ, กาหยู, กาหยี) มะม่วงหิมพานต์ (หัวครก) เคี่ยวน้ำตาล



ข้าวเหนียวหัวครก ข้าวเหนียวกวนกับน้ำตาลมะพร้าว ใส่เนื้อมะพร้าวอ่อน โรยหน้าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (หัวครก) คั่ว



ขนมก้อ ไส้ทำจากน้ำตาลโตนดเคี่ยว ผสมถั่วลิสง และแป้งโม่ผัดจนแห้ง ตัวขนมทำจากแป้งกวนกับน้ำตาลตักใส่พิมพ์ กดให้แน่น อีกชนิดหนึ่งเรียกขนมก้ออ่อน เป็นการนำแป้งของขนมก้อมานวดกับน้ำเชื่อม แล้วตัดเป็นชิ้นๆ



ขนมก้องถึ่ง (ก้องถึง, ก้องทึ่ง) ขนมตุ้บตั้บนั่นเอง เป็นขนมภูเก็ต ทำจากถั่วลิสงคั่ว คลุกกับน้ำตาลร้อนๆ แล้วใช้ไม้ทุบให้ละเอียดจนเป็นแผ่น ตัดเป็นชิ้น



หม่อหลาว (หมั่วหลาว, ขนมงาพอง) ขนมพื้นเมืองของพังงา-และภูเก็ต ทำจากงาและเผือก



ขนมพอง (ข้าวพอง) นำข้าวเหนียวไปนึ่งให้สุก แล้วนำมากดในพิมพ์กลม ตากแดดให้แห้งแ้ล้วทอด



ขนมกุหลี (เหนียวกุหลี) ขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้ โม่ข้าวเหนียวให้ละเอียดแล้วขยำลงบนใบตอง นำไปนึ่งให้สุก โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดคลุกเกลือและข้าวเหนียวคั่ว ตัดเป็นชิ้น จิ้มกับน้ำเชื่อมที่เคี่ยวจนเหนียว



ขนมกง ขนมในงานประเพณีสารทเดือน 10



ต้มย่าง ข้าวต้มสามเหลี่ยม ย่างไฟอ่อน ๆ เคี้ยวหนึบ



ขนมรังผึ้ง คล้ายขนมถังแตก แต่ไม่ใส่มะพร้าวขูด ใส่ถั่วลิสงป่นผสมน้ำตาล



ขนมหวัก "หวัก" ภาษาใต้หมายถึง "จวัก" (ทัพพีกลม) เป็นขนมหายากของสงขลา ทำจากแป้งถั่วเหลือง สอดไส้กุ้งและถั่วงอก กินคู่กับน้ำจิ้ม



ขนมบุหงาบูดะ (บุหงาปูดะ) ขนมหายากของสตูล สมัยก่อนใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและใช้คัดเลือกสะใภ้เจ้าพระยา (เขาว่างั้น) ลักษณะคล้ายหมอน แป้งที่ร่อนทำจากแป้งข้าวเหนียว ไส้ทำจากมะพร้าวผสมน้ำตาล คนทำต้องมีสมาธิมาก



ขนมปะดา (ปาดา) โดนัทปักษ์ใต้ หรืโดนัทเมืองคอน เป็นขนมพื้นบ้านของชาวมุสลิมที่นครศรีธรรมราชและสงขลา หาคนทำยากมาก ขนมทำจากกล้วยน้ำว้าผสมแป้งข้าวเจ้า มีไส้กุ้งข้างใน นิยมทานร่วมกับน้ำชา



ขนมด้วง ทำจากแป้งข้าวเหนียว ผสมกะทิ เกลือ น้ำตาลทราย ปั้นแล้วนำไปทอด รสชาติหวานมัน



ขนมขี้มอด ข้าวตากคั่วกับมะพร้าวคั่วตำละเอียด ผสมน้ำตาลทรายและเกลือ มักบรรจุในกระดาษทรงกรวยแล้วรัดปากไว้



ข้าวเหนียวเชงา เป็นขนมที่มีในภาคเหนือและอีสานด้วย แต่ชื่อเรียกไม่เหมือนกัน ทางภาคเหนือเรียกว่า เข้าหนุกงา หรือ เข้าหนึกงา หรือ เข้าแดกงา ภาคอีสานเรียกว่า ข้าวแดกงา หรือ ขนมแดกงา ขนมทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก ตำผสมกับงาและน้ำตาลทราย



ยาหนม ภาคอื่นเรียกกาละแม นิยมทำในสุราษฎร์ธานี ทำในงานใหญ่ ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานเดือน 10 การกวนขนมต้องใช้คนจำนวนมาก



ฮวดโก้ย (หวดโก้ย) คล้ายขนมถ้วยฟูแต่เนื้อแน่นกว่า ใช้ในพิธีไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ



ขนมดอกจอก ภาคอื่นก็มีเหมือนกัน ทอดขนมโดยจุ่มพิมพ์ลงไปในแป้งแล้วนำไปทอดในน้ำมัน



ขนมค่อม ภาคอื่นก็มี คือขนมสอดไส้นั่นเอง ลักษณะเด่นคือห่อด้วยใบตองมีใบมะพร้าวรัดคล้ายๆ ผูกโบและกลัดด้วยไม้กลัดก้านมะพร้าว หาทานได้ทั่วประเทศ แต่หาอร่อย ๆ นี่ไ่ม่ง่ายเลย


ภาพ : อินเตอร์เน็ต
ข้อมูล : wikipedia, yenta4.com, manager.co.th, oknation.net, yuttakan-wattana.blogspot.com, snc.lib.su.ac.th, gotoknow.org, th-th.facebook.com/notes/n-a-r-a-peace, download.clib.psu.ac.th, rueanthai2.lefora.com, arunsawat.com, songkhlatoday.com, thongteaw.com, news.voicetv.co.th, nanajung-varity.blogspot.com, m-culture.in.th, thaigoodview.com, learners.in.th, komchadluek.net, natsasi.wikispaces.com, bloggang.com, phuketbakery.com, phuketcity.go.th


ขอบคุณที่มาจาก : http://www.soccersuck.com/boards/top...604/1#25145025