ปีที่แล้วเพียงปีเดียว อินโดนีเซียใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสูงถึง 15% (ประมาณ 660,000 ล้านบาท) ไปในการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย พล ท. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ประกาศว่าอินโดนีเซียอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศมากเกินไป จนกระทบต่อการขาดดุลงบประมาณและเศรษฐกิจของประเทศ โดยปีที่แล้วเพียงปีเดียว อินโดนีเซียใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสูงถึง 15% (ประมาณ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 660,000 ล้านบาท) ไปในการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันเริ่มตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

อินโดนีเซียเคยเป็นประเทศผู้
ส่งออกน้ำมันและเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มโอเปค แต่ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปค เพราะไม่ได้มีฐานะเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอีกต่อไป เนื่องจากผลิตน้ำมันได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาย จากการขยายตัวของพลเมืองที่สูงเป็นอันดับสี่ของโลก และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง ตลอดจนนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานอย่างยาวนาน จนทำให้ราคาพลังงานต่ำจนเกินไป เกิดการบริโภคพลังงานอย่างฟุ่มเฟือย และไม่มีประสิทธิภาพ

ข้อสำคัญราคาพลังงานที่ต่ำจนเกินไป ทำให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียเสพย์ติดพลังงาน ดังนั้นทุกครั้งที่รัฐบาลพยายามจะลดการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานาน ก็จะเกิดแรงต้านจากภาคประชาชน จนกระทั่งเกิดการจลาจล กลายเป็นปัญหาทางการเมือง จนบางครั้งถึงขนาดมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อย่างเช่นในสมัยของประธานาธิบดีซูฮาร์โตเป็นต้น แม้แต่ในสมัยของรัฐบาลปัจจุบันเองก็เคยเจอกับปัญหาการก่อจลาจลจากการขึ้นราคาน้ำมัน(ลดการอุดหนุนราคา)มาแล้ว จนต้องลดราคาลงมาหลังจากขึ้นไปได้ไม่นาน จึงยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าเที่ยวนี้รัฐบาลจะทำไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

เรื่องการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศให้ถูกกว่าราคาในตลาดโลกนั้น เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากในทุกประเทศ และดูจะเห็นตรงกันว่า ถ้าประเทศใดมีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานเหลือเฟือ ชนิดที่ว่าใช้กันไปอีกร้อยปีก็ยังไม่หมด และเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานสุทธิ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) มีรายได้จากการส่งออกพลังงานมากมาย พอที่จะอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำพอสมควร ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนก็คงจะไม่เป็นไร (แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องคำนึงว่า ถ้าตั้งราคาพลังงานฟอสซิลที่มาจากซากพืชและสัตว์ต่ำจนเกินไป ก็จะทำให้มีการใช้มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อภาวะโลกร้อน)

แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้คือประเทศกำลังพัฒนาที่อาจมีแหล่งพลังงานเป็นของตนเองบ้างแต่ไม่มากนัก และยังต้องนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศ แต่กลับไปตั้งราคาพลังงานโดยอ้างอิงราคาในประเทศทั้งหมด แล้วใช้เงินอุดหนุนในส่วนที่ต้องนำเข้า อย่างเช่นประเทศไทยที่มีการอุดหนุนราคาก๊าซLPGอยูในปัจจุบัน แต่ต้องบอกว่าไทยเราฉลาดกว่าอินโดนีเซียมาก เพราะแทนที่จะเอาเงินงบประมาณมาอุดหนุนราคาก๊าซแบบเขา เรากลับพลิกแพลงเอาคนใช้น้ำมันมาอุดหนุนคนใช้ก๊าซแทน โดยเก็บเงินจากคนใช้น้ำมันในอัตราสูงเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อไปอุดหนุนราคาก๊าซให้ขายได้ในราคาต่ำ จนเป็นที่มาของการเอาราคาน้ำมันในบ้านเราไปเปรียบเทียบกับ
ราคาน้ำมันเพื่อนบ้าน ว่าราคาน้ำมันของเราแพงที่สุดในอาเซียน

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการจะเปรียบเทียบราคานั้น ต้องดูที่โครงสร้างราคาด้วย (ดูตารางประกอบ) ซึ่งถ้าดูจากโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน 95 จะเห็นว่ารัฐบาลเก็บภาษีสรรพามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และกองทุนน้ำมันสูงถึงลิตรละ 20.55บาท หรือคิดเป็น 46% ของราคาขายปลีก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทำไมราคาน้ำมันเบนซิน 95 ของบ้านเราจึงแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก

ทั้งนี้เพราะเพื่อนบ้านเขาไม่ได้เก็บภาษีสูงอย่างบ้านเราและเขาไม่มีกองทุนน้ำมัน นอกจากนั้นเขายังจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนราคาน้ำมันอีกปีละหลายแสนล้านบาท แล้วจะไม่ให้ราคาน้ำมันเขาถูกกว่าเราได้ย่างไร แต่ราคาน้ำมันของเราก็ไม่ได้แพงที่สุดในอาเซียนอย่างที่พูดกัน เพราะราคาน้ำมันเบนซินของเราก็ยังถูกกว่าสิงคโปร์ ส่วนน้ำมันดีเซลนั้นราคาของเราถูกกว่าทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นมาเลเซียเท่านั้นที่ถูกกว่าไทย เพราะเขาใช้งบประมาณอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศเช่นเดียวกันกับอินโดนีเซีย
ซึ่งเรื่องราคาน้ำมันดีเซลที่ถูกกว่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเลย ทั้งๆ ที่เป็นน้ำมันที่คนส่วนใหญ่ใช้กันถึงวันละ 55 ล้านลิตร แต่จะไปหยิบเอาราคาน้ำมันเบนซิน 95 ซึ่งมียอดขายเพียงแค่วันละล้านกว่าลิตรมาเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา

กล่าวโดยสรุป ต้องการชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาราคาน้ำมันแพงในบ้านเราก็คือการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงานนั่นเอง ยิ่งบิดเบือนมากก็ยิ่งสะสมปัญหามาก จนถึงจุดหนึ่งก็อาจกลายเป็นปัญหาร้ายแรงกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศแบบเดียวกับอินโดนีเซียได้

ดังนั้น ฉวยโอกาสที่ประเทศไทยยังไม่ประสพกับปัญหาเรื่องพลังงานหนักหน่วงเท่ากับอินโดนีเซีย รีบปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เข้าสู่กลไกตลาดที่แท้จริงโดยเร็วที่สุด น่าจะเป็นทางออกที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด

นี่ก็ช้ามาหลายเดือนแล้วนะ ท่านรัฐมนตรี!!!


มนูญ ศิริวรรณ


ที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/825/201408