จากน้อง ๆ นิสิตแพทย์ ครับ
จากน้องๆนิสิตแพทย์
“สวัสดีค่ะ พวกเราเป็นนักศึกษาแพทย์ศิริราช
ช่วยบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยอนาถาและซื้ออุปกรณ์การแพทย์ "
ฉันออกรับบริจาคย่านสีลม เจอพี่ๆ สาวออฟฟิศสวยๆ
เจอผู้บริหารเดินจากห้องส่วนตัวมาหยอดกระป๋องด้วยมือตัวเอง
เจอแม่ค้าริมถนนที่พนมมือเหนือหัวอธิษฐานพึมพำก่อนใส่กระป๋อง
จนมาถึงโรงเรียนเด็กชายล้วนเก่าแก่ ตาหนูมารุมเลือกสติกเกอร์กันสนุกสนาน
ตาหนูคนหนึ่งจิ้มข้างกระป๋องถามว่า “อนาถา” แปลว่าอะไร
“เขาจน ไม่มีสตางค์กินข้าว เลยหิวข้าวค่ะ” ตอบพลางนึกในใจว่า
คุณหนูแก้มเป็นพวงแบบนี้จะรู้จักคำว่าหิว คำว่าอดอยากไหมหนอ
ตาหนูนิ่งคิดตามนิดหนึ่ง ก่อนจะควานกระเป๋ากางเกงหาสตางค์ส่งให้
รายได้ที่สมทบทุนเข้ามา เอาเข้าศิริราชมูลนิธิทั้งหมด
ใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ และซื้ออุปกรณ์การแพทย์
แต่ละแผนกขาดแคลนอะไรต้องเอาเข้าที่ประชุม พิจารณาอย่างรอบคอบ
เพราะทุกบาททุกสตางค์มีความหมายทั้งนั้น
นึกถึงคำที่คุณดังตฤณเคยรจนาไว้ว่า
“เหลือบแลไปตามท้องถนนก็สามารถเห็นผลกรรม
ปรากฏฟ้องอยู่บนรูปร่างหน้าตาและบุคลิกนิสัยของใครต่อใคร”
บนถนนสายธุรกิจ มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำของผู้คนมากเหลือเกิน
โลกนี้กว้างใหญ่ ลีลาชีวิตผู้คน มีสีสันฉูดฉาดกว่าในรั้วโรงเรียนแพทย์
ความแตกต่างของผู้คนนี้ ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญแน่ๆ
ทรัพย์จำนวนเท่ากัน แต่มีมูลค่าทางใจต่างกัน
รับเงินยี่สิบบาทจากผู้บริหาร กับคุณป้าที่ยืนเหงื่อไหลรอรถประจำทางอยู่
ก็ให้ความรู้สึกทางใจต่างกันลิบ
คงเหมือนเวลาฟังเรื่องราวในครั้งพุทธกาล
หลายท่านทำทานด้วยทรัพย์มูลค่าน้อย แต่ใช้กำลังใจในการสละมาก
หรือปิติในทานนั้นมากก็ได้อานิสงส์สูง มากกว่ามูลค่าทรัพย์หลายเท่า
กิริยาหยอดกระปุกเหมือนกัน เกิดจากวิธีคิดต่างกัน
บางคนให้ทันทีด้วยความเต็มใจ บางคนดูเหมือนช่วยตามคนอื่น
พนักงานแห่งหนึ่งให้ด้วยท่าทีอึดอัดเพราะหัวหน้าสั่งให้ช่วย
น้องบางคนให้เพราะอยากได้สติกเกอร์ น้องบางคนให้เพราะสงสารคนหิวข้าว
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือวิธีสร้างบุญบารมีว่า การให้ทานที่แท้จริงนั้น
ก็เพื่อขจัดความโลภ ความตระหนี่ ด้วยเมตตาธรรมของตน
คุณดังตฤณเคยเขียนถึง “กรรมทางใจ” ว่า
แม้จะให้เหมือนกัน แต่ด้วยใจแตกต่าง ก็ให้ผลผิดกัน
พระพุทธองค์ทรงจำแนกอาการของใจในขณะให้ไว้เป็นต่างๆ
ถ้าใครให้ทานด้วยอาการของใจดังต่อไปนี้ครบถ้วนเป็นประจำสม่ำเสมอ
ก็จะมีผลไพบูลย์สูงสุดค่ะ
๑ ให้ด้วยความศรัทธา คือศรัทธาในการให้ว่าเป็นของดี ไม่ใช่ทำดีเพื่อหวังผลตอบแทน
ไม่ใช่การเอาหน้า ไม่ใช่ให้เพราะถูกบังคับ
๒ ให้ด้วยความเคารพ กิริยาอาการภายนอกอาจตรงหรือไม่ตรงกับใจจริงภายในก็จริง
แต่ไหนๆ ใจก็เมตตา ปัจจัยก็สละให้ แค่กิริยา ช่วยสำรวมนิดหนึ่งเพื่อความบริบูรณ์เถอะค่ะ
ลองนึกถึงใจผู้รับดูค่ะ เวลารับเงินบริจาคจากพี่ที่ไม่เต็มใจให้ ให้แบบเสือกไสตัดรำคาญ
ทำให้เราถึงกับหน้าชา นึกในใจว่าไม่อยากรับเลย ต้องท่องไว้ในใจ
“อดทนๆ เพื่อคนไข้ยากจน เพื่อเครื่องมือให้โรงเรียนของเรา อดทนๆ”
๓ ให้โดยกาลอันควร คือให้เมื่อผู้รับกำลังต้องการความช่วยเหลือ
๔ ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ให้ด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริง
๕ ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ให้สมควรแก่กำลังของตน
และระวังอย่าให้ทานด้วยจิตคิดกระทบกระทั่ง
อย่าเผลอตัวไปบังคับหรือเคี่ยวเข็ญให้ใครต้องทำบุญโดยไม่ศรัทธาเองเลยนะคะ
การให้ทาน จะได้อานิสงส์สูงสุดเมื่อมีองค์ประกอบครบ ๓ ประการ
๑ วัตถุทานบริสุทธิ์ ไม่ได้ขโมยสตางค์นั้นมา
๒ เจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ คือให้ด้วยความเมตตา เต็มใจให้ตั้งแต่ก่อนให้
ระหว่างให้ และหลังให้ทานก็ล้วนแต่โสมนัสร่าเริงใจ
๓ เนื้อนาบุญบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนช่วยคนดีกับคนไม่ดีก็ได้อานิสงค์ต่างกันค่ะ
การช่วยเหลือองค์กรที่พยายามช่วยคนเจ็บไข้ชนิดไม่เลือกหน้า ไม่เลือกฐานะ ถือเป็นการให้ที่น่าอนุโมทนา
กิริยาหยอดกระปุกเหมือนกัน แต่ความตั้งใจและความอิ่มใจที่ได้รับก็ต่างกัน
หลายครั้งที่รับสตางค์ด้วยความรู้สึกปิติยินดีร่วมกัน คือ
ผู้บริจาคที่หยอดกระปุกด้วยท่าทีเต็มใจ แค่เห็นขบวนรับบริจาคก็เตรียมกำสตางค์ไว้ทันที
รอหยอดกระป๋องด้วยความสำรวม รับของที่ระลึกด้วยความชื่นชม แล้วหันไปชวนเพื่อนทำบุญด้วยอีกต่างหาก
สมัยยังเป็นแค่นักศึกษาแพทย์ชั้นเล็กๆ รู้สึกแค่ว่าสังคมที่มีน้ำใจให้กัน
เป็นความน่ารัก เป็นความอบอุ่นน่าประทับใจ
มีหนังสือหน้าอ่านและเสียงอ่านหนังสือหน้าฟังหลาย ๆ เล่มที่ http://dungtrin.com/เข้าไปอ่านมาแล้ว ประทับใจจริง ๆ ครับ :D:D:D
เพิ่มเติม คำสอน ท่าน ว. วชิรเมธี
การให้...แค่เพียงคิดจะทำ..ใจก็ยังเป็นสุข..
มือของผู้ให้..อยู่สูงกว่ามือของผู้รับ...
ชื่อของผู้ให้...น่าจดจำกว่าชื่อของผู้ขอ..
เกียรติของผู้ให้...กรุ่นหอมอยู่เหนือกาลสมัย..
ยิ่งกว่าเกียรติศักดิ์ของนักรบและปวงวีรบุรุษ..
การให้.
แค่เพียงคิดจะทำ..ใจก็ยังเป็นสุข..
ครั้นได้ให้แล้ว...จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน...
เมื่อวันเวลาผ่านไป..
หวนกลับไปรำลึกถึงดวงหน้าอันเปี่ยมสุขของผู้รับ...
ความปีติสุขก็ย้อนกลับมาทำให้หัวใจอิ่มเอม...
การให้...
จึงเป็นความสุขแท้ทั้งเวลาก่อนให้..
ขณะที่ให้..
และหลังจากได้ให้ไปแล้ว...
การเสียสละ..แบ่งปัน...
เป็นทั้งความ..สมาน..
คือ...ความสามัคคีปรองดองระหว่างกันและกัน
และเป็นกุศโลบายในการสร้างความ..เสมอ..
คือ..ให้คนทุกคนมองเห็นหัวอกของคนอื่น..
เมื่อมนุษย์รู้จักแบ่งปันแก่กันและกัน..
อันมีพื้นฐานมาจากการมีอัชฌาศัยกว้างขวางเอื้ออารีเช่นนี้
ศานติภาพท่ามกลางความแตกต่างก็จะเกิดมีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก...
หากปราศจากรากฐานอันมั่นคงแข็งแกร่ง..
ไหนเลยรูปรอยแห่งมหาวิหารอันโอฬาริก
จะก่อกำเนิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้
บุคคลผู้ยิ่งใหญ่หากสิ้นไร้ซึ่งผู้เสียสละ
ที่อุทิศตนยืนหลบฉากอยู่เบื้องหลัง
คอยส่งกำลังใจ..เสนอความคิด..
อุทิศตนเป็นดังอิฐก้อนแรกให้ย่างเหยียบ..
ไหนเลยจะเผยอตนขึ้นสู่หอคอยแห่งเกียรติยศได้อย่างทระนง...
คนที่ไม่เคยเป็นผู้ให้...ย่อมยากที่จะได้รับ..
“การให้”..มองอย่างธรรมดาดูเหมือนว่า..เป็นการสูญเสีย..
แต่แท้ที่จริงแล้ว...
ผู้ให้ คือ..ผู้ที่ได้รับต่างหาก..
คนที่เป็นผู้ให้จึงมีเกียรติคุณเกริกกรรจายชั่วฟ้าดินสลาย
ทั้งนี้นั่นเป็นเพราะ
“...โลกคารวะผู้ให้...
แต่บอดใบ้ต่อผู้กอบโกยและโกงกิน...”
ที่มา : ธรรมะรับอรุณ....ท่าน ว. วชิรเมธี