กรุงเบอร์ลิน : เมื่อเช้าวันจันทร์นี้ รัฐบาลเยอรมันได้แถลงผลการตัดสินใจที่จะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2022 หรืออีกสิบเอ็ดปีข้างหน้า โดยหลังจากการประชุมยาวเหยียด ในที่สุดนาย นอร์เบิร์ต ร็อตต์เกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมก็ได้ออกมาแถลงว่า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์สามโรงงานสุดท้ายจะยุติการปฏิบัติงานภายในปี 2022
ในขณะที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เก่าที่สุดเจ็ดโรงซึ่งถูกสั่งระงับการปฏิบัติงานอย่างถาวร ภายหลังจากที่มีการยุติการปฏิบัติงานชั่วคราวหลังกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา จากคลื่นสึนามิถล่มที่ญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในเยอรมันไม่น่าประสบปัญหาเช่นเดียวกับในญี่ปุ่น และยังมีความปลอดภัยในเชิงเทคนิคมากกว่ากันมาก
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจนี้ของรัฐบาลเยอรมันจะไม่รวมการยกเลิกการลดภาษีแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (fuel-rod tax) ซึ่งเพิ่งมีการประกาศใช้ในปีนี้ การยกเลิกภาษีดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีของบริษัทผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ลดลงจาก 2.3 พันล้านยูโร เหลือเพียง 1.3 พันล้านยูโร
บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์สี่บริษัทใหญ่ ได้แก่ RWE, Eon, Vattenfall และ EnBW จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของพรรคร่วมรัฐบาล CDU – FDP ในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้นางแองเจลา เมอร์เคล วางแผนเลื่อนการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ออกไปจนถึงปี 2036 แต่ทว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมา ฝ่ายเคลื่อนไหวคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมันสามารถรวมคนกันได้มากกว่า 100,000 คน เพื่อบีบให้รัฐบาลยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์
ผลการตัดสินใจครั้งนี้อาจสร้างรอยร้าวให้กับในพรรค CDU ของนางเมอร์เคลเอง เมื่อก่อนหน้านี้นาย สเตฟาน มัปปุส ผู้ว่าการรัฐ บาเดน-วือร์เตมเบิร์ก หนึ่งในผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ตัวเอ้ของเยอรมัน เคยเคลื่อนไหวให้ยืดระยะการระงับใช้พลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมันออกไปให้นานที่สุด
ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านเยอรมันที่ประกอบไปด้วย พรรคกรีน และพรรคโซเชียลเดโมแครต วิพากษ์ว่าการเคลื่อนไหวของรัฐบาลนางเมอร์เคลครั้งนี้อาจมีปัญหาทางการเมืองและมีปัญหาในเชิงเทคนิค ทั้งนี้ทั้งสองพรรคเคยจับมือกันประกาศนโยบายเลิกพลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมันเมื่อ 10 ปีก่อน
เยอรมันใช้พลังงานนิวเคลียร์ราว 1 ใน 4 ของพลังงานทั้งหมด (เทียบกับฝรั่งเศสใช้พลังงานนิวเคลียร์ถึง 3 ใน 4) แม้ในระยะหลังจะมีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ยังไม่อาจทดแทนปริมาณการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในระยะเวลาอันสั้นได้ โดยเฉพาะในเวลา 10 ปีข้างหน้า ยังคงเป็นปัญหาของเยอรมันที่จะหันไปหาพลังงานชนิดอื่นที่ไม่ใช่นิวเคลียร์มาใช้ ภายใต้โจทย์ที่จะต้องเป็นพลังงานที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ปลดปล่อยมลภาวะซึ่งสร้างปัญหาภาวะเรือนกระจกซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนด้วย
บางทีพลังงานก๊าซธรรมชาติอาจเป็นคำตอบของเยอรมัน แต่นั่นก็จะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นด้วยเพราะเยอรมันจะต้องนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ผลในทางภูมิรัฐศาสตร์จะดึงให้เยอรมันที่เป็นศูนย์กลางของสหภาพยุโรปถอยออกจากขั้วนาโต้และสหรัฐอเมริกา และเข้าสู่อ้อมกอดของรัสเซีย