Previous
Next
Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
Results 1 to 10 of 10

Thread: ทำไมจึงต้องมี ชมรม ผู้ประกอบการใหม่ ด้าน it

Threaded View

  1. #1
    Join Date
    Jun 2010
    Posts
    336
    Warning Points:
    0/5


    "ต้องตั้งใจเรียนหนังสือให้เก่งๆ จะได้เรียนสูงๆ จบไปจะได้ได้งานดีๆ ได้เงินเดือนสูงๆ"
    เป็นคำพูดที่ผมได้ยินผ่านหูอยู่ตลอด ตั้งแต่ผมจำความได้ และผมเองก็อดถามตัวเองไม่ได้ ว่าชีวิตของคนเรา มีทางเลือกแค่นี้หรือ

    หลังจากเริ่มรู้ความ เราก็ต้องเรียนหนังสือ เรียนหนังสือไปเพื่อ ให้ได้ทำงานดีๆ ให้ได้ทำงานดีๆ ไปเพื่อ ให้ได้เงินเดือนสูงๆ

    นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราพยายามมาตลอดในชีวิตวัยเด็ก เสียเวลารวมแล้วกว่า 17-18 ปี เสียเงินไปหลายแสน หรือบางคนเป็นล้านบาท ก็เพื่อ จุดสุดท้าย ว่า ให้ได้ทำงาน ที่ได้รับเงินเดือนสูงๆ

    ถึงแม้ ความพยายามทั้งหมดในชีวิตวัยเด็กจะสำเร็จ ได้ทำงาน ที่ได้รับเงินเดือนสูงๆ แต่ชีวิตที่เหลือ ก็ต้อง ทำงาน ออกจากบ้านแต่เช้า กลับมาบ้านตอนมืด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วันไปตลอด เพื่อให้ได้เงินเดือนสูงๆตอนสิ้นเดือน

    ตอนที่มีคำถามนี้เกิดขึ้นในใจ ผมยังเด็กอยู่ แต่ก็แอบตัดสินใจไปแล้ว ว่า "ขอเลือกตัวเลือกอื่น" แต่ตอนนั้น ผมไม่รู้หรอกครับ ว่าตัวเลือกอื่นที่ว่า มันคืออะไร และมีจริงไหม



    (ขอบคุณรูปจาก http://teeravitgiveucom.ipage.com/blog/easy-way-to-recruit-new-prospect/easy-way-to-recrute-new-prospect)


    หลังจากที่โตขึ้นมาอีกหน่อย เริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น เลยเริ่มเจอ เรื่องราวของคนที่สามารถหลุดจาก วิถี "การทำงาน ที่ได้รับเงินเดือนสูงๆ" มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เลยเริ่มเจอ และตัดสินใจเลือก ตัวเลือกที่ผมเพิ่งรู้จัก ที่ชื่อว่า วิถี "การประกอบการ" ทั้งที่ผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร ว่า วิถีการประกอบการ ที่ว่า มันคืออะไร

    เรื่องราวของคนที่หลุดจาก วีถีการทำงานที่ได้รับเงินเดือนสูงๆ ที่ผมเคยอ่านนั้น ไม่ว่าจะเป็น คุณโทมัส เอดิสัน ผู้ก่อตั้ง บริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก คุณโคโนสึเกะ มัตซุชิตะ ผู้ก่อตั้ง บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าเนชั่นแนล พานาโซนิค คุณอาคิโอะ โมริตะ ผู้ก่อตั้ง บริษัทโซนี่ นั้นล้วนแล้วแต่ มีเส้นทางใน วิถีการประกอบการ ที่เริ่มต้นมาจาก การเป็นนักประดิษฐ์ ทั้งสิ้น และรวมทั้งตัวผมเอง ที่เป็นเด็กที่ชอบในการประดิษฐ์อยู่แล้ว ผมจึงตั้งใจแน่วแน่ ที่จะเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อที่จะเป็นนักประดิษฐ์ให้ได้ และจะเริ่มเข้าสู่วิถีการประกอบการ จากฐานของนักประดิษฐ์ เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวชีวิต ของคนที่ผมได้รู้


    คุณโคโนสึเกะ มัตซุชิตะ (ขอบคุณรูปจาก http://www.bookrags.com/Konosuke_Matsushita)


    เมื่อเวลาผ่านไป ผมสามารถสอบเข้าเรียน ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้

    ในวันปฐมนิเทศนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ใหม่ ผมไปด้วยใจที่มุ่งหวัง อยากรู้ ว่าการได้เข้าเรียนที่นี่ จะทำให้ผมได้ ในสิ่งที่ตัวเองหวังอยากได้ จริงไหม


    "คณะวิศวกรรมศาสตร์ของเรา มีภารกิจในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน .... "
    ประโยคแรกที่ผมจับใจความได้ ในการนั่งฟังการปฐมนิเทศนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ใหม่

    มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร สำหรับสถาบันการศึกษา ที่มีภารกิจในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพื่อป้อนตลาดแรงงาน เป็นภารกิจปกติที่สถาบันการศึกษาในประเทศไทยยอมรับมาปฏิบัติ สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ผมรู้ และยอมรับได้อยู่แล้ว แต่ผมยอมรับตามตรง ว่าตอนนั้น ผมถึงกับจิตตกไปหลายวัน ที่จิตตก ก็เพราะกลัว กลัวว่าถ้าเรียนต่อไปจนจบ จะไม่ได้ ในสิ่งที่อยากได้

    ผมตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งแสวงหากิจกรรม แสวงหาแนวทางเสริม เพื่อให้ได้ ในสิ่งที่ผมอยากได้ เพราะผมไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่า เรียนจบปริญญาตรีไปแล้ว ทำได้แค่ออกไปหางานทำ ทำได้แค่ไปเป็นลูกจ้างในตลาดแรงงาน


    (ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1512109)


    จนวันหนึ่ง ผมได้พบกับ อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา (ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ http://www.kucity.com) แห่งภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



    "การประดิษฐ์ มันเป็นทักษะ เป็นสิ่งที่ต้องฝึก หากไม่ฝึก ก็ทำไม่ได้ จบกี่ปริญญาก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าฝึก จบปริญญาตรีก็ทำได้เหลือแหล่"

    อาจารย์ปัญญา เป็นอาจารย์หนุ่ม จบเพียงปริญญาตรี ซึ่งถือว่าจบไม่สูง สำหรับการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่คำพูดของอาจารย์ ทำให้ผมถึงกับตาสว่าง และเริ่มเห็นทาง ที่จะได้เป็นนักประดิษฐ์ ในตอนจบปริญญาตรี อย่างที่ผมใฝ่ฝันอยากได้

    ผมจึงตัดสินใจ เข้าไปเรียนกับอาจารย์ ที่ชุมนุมโรบอท ชมรมที่อาจารย์ปัญญา ก่อตั้งขึ้น สำหรับนิสิตทุกคน ที่อยากเป็นนักประดิษฐ์

    ผมอยู่ที่ชุมนุมโรบอท ต่อไปจนจบการศึกษา ด้วยความทุ่มเทตั้งใจสอนของ อาจารย์ปัญญา เวลา 2-3 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมนุมโรบอท ผมและเพื่อนที่อยู่ที่ชุมนุมด้วยกัน สามารถมีทักษะในการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าได้จริงๆ ตามที่อาจารย์ได้บอกไว้ ตั้งแต่แรก ในตอนนั้น ผมจึงได้เห็น ได้เชื่อ ในสิ่งที่อาจารย์เชื่อ ว่า "การจบปริญญาตรีนั้น สามารถมีทักษะวิชาชีพได้จริง หากได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง" ซึ่งทักษะวิชาชีพวิศวกรรมนั้น คือ การประดิษฐ์

    หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี เป็นช่วงที่ผมเริ่มแสวงหา "วิถีการประกอบการ" ตามที่ผมใฝ่ฝัน ผมปฏิเสธการทาบทามเข้าทำงานทั้งหมดในตอนนั้น แต่ก็ยังคิดไม่ออก ว่าจะเริ่มเข้าสู่ "วิถีประกอบการ" ได้อย่างไร

    จนวันหนึ่ง ผมได้พบรุ่นพี่ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ คุณสุวิทย์ เริงวิทย์ ได้ชวนผมและเพื่อนๆ เข้าไปก่อตั้งบริษัท ที่สร้างเทคโนโลยีเกี่ยวกับมัลติมีเดียที่สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ ชื่อว่า เอ็กซ์ทรีม พลัส (Xtreme Plus http://www.xtreme-plus.com) โดยมี คุณอนันต์ ตรีสิริเกษม เป็นผู้ลงทุนหลัก และผู้ถือหุ้นใหญ่

    จากการที่ได้มีโอกาส เข้าร่วมงาน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ทำให้ผมเริ่มเห็น วิถีการประกอบการ และความเป็นไปในโลกทุนนิยมมากขึ้น กว่าอดีตที่มองออกแค่เรื่องการประดิษฐ์

    ในช่วงที่เริ่มต้นทำงานโดยเริ่มต้นตั้งบริษัท เอ็กทรีมพลัส ผมทุ่มเทให้กับการตั้งบริษัทอย่างสุดความสามารถ ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมองหา มองหาโอกาสทางธุรกิจ ที่ผมสามารถเริ่มทำเองได้ จนทำให้ผมเริ่มมองเห็นกำแพง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ สำหรับการเริ่มชีวิตการประกอบการของตัวผมเอง นั่นคือ "เงินทุน" แต่ในตอนนั้น ผมเองกลับไม่รู้ตัว ว่า นอกจาก เงินทุนแล้ว สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญกว่าในการเริ่มชีวิตการประกอบการ คือ "ความไม่รู้" ของตัวผมเอง

    ยังดี ที่ผมเองในตอนนั้น ยังมองเห็น ว่า "เงินทุน" เป็นอุปสรรคที่ทำให้เริ่มประกอบการไม่ได้ ผมจึงเริ่มคิด เริ่มหาข้อมูล จนสุดท้ายเริ่มเจอว่า การประกอบการ ที่ผมสามารถใช้ความสามารถของตนเองลำพัง ในการเริ่มต้นได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทุนเริ่มต้นมากนัก คือ การประกอบการ ด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศน์ (IT)


    (ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.facebook.com/XtremePlus)



    "สิ่งที่มนุษย์บริโภคมากที่สุด ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่อาหาร แต่เป็นข้อมูล"
    เป็นความจริงที่ผมเจอ ในช่วงเวลานั้น

    ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะดูหนัง ไม่ว่าเราจะฟังเพลง ไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกันคนอื่นก็ตาม ล้วนแล้วแต่ เป็นการบริโภคข้อมูลทั้งสิ้น (ซึ่งข้อมูลที่เราบริโภคอยู่ในแต่ละวัน ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ดีทั้งหมดนะครับ แต่ผมยังไม่ไปลงประเด็นนี้ ในบทความนี้นะครับ)

    เทคโนโลยีสารสนเทศน์ หรือ Information Technology นั้น คือ เทคโนโลยีที่สนับสนุน มนุษย์ ในการเผยแพร่และบริโภคข้อมูล ซึ่ง ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ในการประเมินของผม ในสมัยนั้น

    อีกทั้ง เทคโนโลยีสารสนเทศน์นั้น มีลักษณะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กล่าวคือ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในการสร้างได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักรเฉพาะทาง เหมือนอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ซึ่ง ผมสามารถเริ่มได้ด้วยตนเอง ลำพัง

    ในช่วงนั้น ประกอบกับรัฐบาล มีนโยบายที่ให้สถาบันอุดมศึกษา สร้างหน่วยงานที่เรียกว่า "ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ" ขึ้นมาเพื่อสนับสนุน ผู้ที่จบการศึกษาจากอุดมศึกษา ให้ขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ ผมจึงตัดสินใจ ลาออกจาก บริษัทเอ็กซ์ทรีมพลัส ที่ร่วมก่อตั้งขึ้นมากับรุ่นพี่ และเพื่อนๆ หลังจากทำงานมา 3 ปี เพื่อเริ่มเปิดบริษัท IT ของตนเอง ในศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ผมจบการศึกษามา โดยชักชวนรุ่นน้อง ที่ผ่านการฝึกฝนจากชุมนุมโรบอทของ อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อีก 2 คน มาร่วมเป็นหุ้นส่วน

    ในตอนนั้น ผมและรุ่นน้อง วางแผนกันไว้ว่า จะรับจ้างเขียนโปรแกรม หรือ ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นกระแสเงินสด และจัดตารางเวลา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สำเร็จ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแผนที่ดี แต่ในช่วงเวลานั้น ทั้งผมและรุ่นน้อง ผ่านวันเวลาที่ยากลำบากมากพอสมควร ในการทำงานตามแผนนั้น

    ผลิตภัณฑ์แรกที่ผมเริ่มทำ หลังจากลาออกมาเปิดกิจการของตนเองนั้น เกิดจากปัญหาที่ผมประสบจริง จากการทำงานในบริษัทเอ็กซ์ทรีมพลัส เรื่องการค้นหาผู้ขาย หรือ Supplier ของสินค้าที่เราต้องการ และจากการสอบถามบริษัทต่างๆ ที่ผมได้ติดต่อด้วยในยุคนั้น ปรากฏว่าทุกบริษัทต่างพบปัญหาการค้นหาผู้ขาย หรือ Supplier เหมือนกัน ผมจึงเริ่มคิด พัฒนาระบบ การเชื่อมและกระจายข้อมูลระหว่างลูกค้าและผู้ขาย (คล้ายๆกับระบบ B2B) ปรากฏว่า หลังจากที่เขียนแผนธุรกิจแล้ว จนพัฒนาระบบเสร็จสิ้น กับเกิดปัญหาว่า ไม่สามารถหาผู้เข้ามาใช้งานระบบได้ ถึงแม้จะทำตามแผนธุรกิจที่คิดไว้ ทุกประการ

    ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่ผมคิดไว้ทั้งหมด อาจจะผิดทั้งหมดเลยก็ได้

    ในตอนนั้นเอง ผมจึงได้เริ่มรู้ และได้เริ่มมองเห็น ว่า "ความไม่รู้" ในตัวผมนั้น เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด ในวิถีการประกอบการของผมเอง

    ในช่วงนั้น ที่ผมกำลังเริ่มรู้สึก เคว้งคว้าง และกลัวเพราะไม่รู้อยู่นั้น คุณไพโรจน์ ภู่ต้อง ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในสมัยนั้น ได้เชิญ คุณเอกราช จันทร์ดอน เข้ามาบรรยายเรื่องแนวคิดการประกอบการสำหรับผู้ประกอบการใหม่ ผมจึงได้ขอเข้าไปฟังบรรยายด้วย

    การที่ได้ฟังบรรยายของ คุณเอกราช ในครั้งนั้น ทำให้ผมได้มองเห็นคำถาม ที่ตัวเองไม่เคยตั้ง เพื่อหาคำตอบ ก่อนกระโดดลงไปประกอบการเต็มไปหมด ทำให้เห็นว่า "ความไม่รู้" ที่ผมมี ก่อนที่จะกระโดดลงไปประกอบการนั้น มากมายเพียงใด (รายละเอียดช่วงที่ได้เจอคุณเอกราช อยู่ในกระทู้ SarapanFax.com อีกธุรกิจ ที่เกิดจากความคิดใหม่ ครับ)

    หลังจากที่ได้รับความรู้จากการฟังบรรยายของคุณเอกราช ผมนำความรู้ที่ได้ กลับไปทบทวนใหม่ และเริ่มกลับมาคิดทบทวนเรื่องแผนการดำเนินงานของบริษัท

    เนื่องจาก มีความไม่รู้มากเกินไป จนหาทิศทางการดำเนินการต่อไม่ได้ ผมจึงตัดสินใจปิดตัว ระบบ B2B ที่สร้างขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรก และเริ่มประเมินหาพื้นที่ที่เล็กลง ที่สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบ เพื่อทำลายความไม่รู้ ได้ครบ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวถัดไปให้สำเร็จ

    ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวที่สอง ที่ผมสร้างขึ้น คือ บริการรับส่งแฟกซ์ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่ง สร้างมาจาก การเห็นปัญหา การส่งแฟกซ์ข้ามจังหวัด ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และออกให้บริการโดยใช้ชื่อว่า SarapanFax.com

    เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายในการส่งแฟกซ์ได้จริง SarapanFax.com จึงเริ่มมีลูกค้าสมัครเข้ามาใช้งาน ถึงแม้ว่า ระบบและการให้บริการจะยังไม่สเถียรในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านการเรียนรู้ในช่วงนั้น ก็เริ่มมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น จนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังคงต้องพัฒนาระบบ และขยายการให้บริการอยู่ อย่างต่อเนื่อง


    จากลิงค์ http://sarapanfax.com


    หลังจากที่บริการสารพันแฟกซ์ เริ่มมีแนวโน้มว่าจะเกิดเป็นธุรกิจได้ ผมจึงเริ่มนำหลักการที่ได้จากการสร้างสารพันแฟกซ์ มาทบทวน เพื่อใช้สร้างผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆต่อ เพื่อขยายองค์กรธุรกิจ และได้เชิญ คุณเอกราช จันทร์ดอน มาเป็นที่ปรึกษา และยังคงปรึกษาคุณเอกราช อยู่อย่างสม่ำเสมอ สำหรับปัญหาที่หาคำตอบเองไม่ได้

    จนในตอนนี้ ผมเห็นเส้นทางในการประกอบการของตนเองตลอดจนกระบวนการในการดำเนินการในเส้นทางนั้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งต่างกับตัวผมเองตอนที่เพิ่งออกมาประกอบการเองอย่างลิบลับจนเทียบกันไม่ได้


    (ขอบคุณรูปภาพจาก http://liveenrol.wordpress.com/2009/...oliday-season/)


    ผมเองขอยอมรับตามตรงครับ ว่าผมโชคดี โชคดีตรงที่ มีครูที่ดีหลายคน ให้ผมได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ที่สอนให้ผมเข้าใจความเป็นผู้เชียวชาญในวิชาชีพ คุณสุวิทย์ เริงวิทย์ และ คุณอนันต์ ตรีสิริเกษม ที่พาให้ผมได้สัมผัสโลกของทุนนิยม จนถึง คุณเอกราช จันทร์ดอน ที่ทำให้ผมเข้าใจโลกทุนนิยมได้อย่างแจ่มแจ้งขึ้นมาก รวมทั้งเข้าใจคำว่าการประกอบการอย่างชัดเจนถ่องแท้ขึ้นมาก ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

    ดังนั้น เหตุที่ผม เปิดชมรม ผู้ประกอบการใหม่ ด้าน IT ในชุมชน Sbntown.com แห่งนี้ ก็เพราะผมเชื่อมั่น ว่า มีเด็กอีกหลายๆ คน ที่มุ่งมั่น อยากเป็นผู้ประกอบการ เหมือนที่ผมอยากเป็น แต่พวกเขาเหล่านั้น อาจไม่ได้โชคดี เจอครูที่ดีเหมือนกับที่ผมได้เจอ

    และเหนือสิ่งอื่นใด ผมเชื่อว่า คนที่เรียนจบปริญญาตรีนั้น หากมีความรู้ที่ถูกต้อง มีกระบวนการฝึกที่ถูกต้อง สามารถทำได้มากกว่า การออกไปหางานทำ นั่นคือ การออกมาประกอบการ การออกมาสร้างงานด้วยตัวของเขาเอง

    ผมจึงตัดสินใจ เปิดชมรมนี้ขึ้น เพื่อแชร์ ในสิ่งที่ผมได้รับ ที่นอกเหนือจาก การเรียนในระบบปกติ ให้กับ น้องๆคนอื่น ที่มีความมุ่งมั่นแบบเดียวกับที่ผมมี แต่อาจจะไม่โชคดีเท่าผม

    ถึงแม้ผมเอง ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ จนได้รับการยอมรับอย่างสูง แต่ผมสามารถก้าวผ่าน จากคนที่ ไม่รู้จะเริ่มประกอบการอย่างไร มาเป็นประกอบการได้ ซึ่ง ผมเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (จากไม่มี เป็น มี) และจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับคนที่มุ่งมั่น อยากจะเป็นผู้ประกอบการ

    จึงขอเปิดชมรมนี้ เพื่อนำสิ่งที่ได้รับ มาให้ต่อ ตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นครับ

    ขอบคุณ Sbntown.com สำหรับการเอื้อเฟื้อพื้นที่ครับ



    ----------------------------------------------------------------------------

    บทความอื่นๆ ใน Group ชมรมผู้ประกอบการใหม่ ด้าน IT

    1. การได้รับกระบวนการ "พี่เลี้ยงธุรกิจ" จุดเปลี่ยนสำคัญ ของเส้นทางการสร้างงาน สร้างองค์กรธุรกิจ

    Last edited by bit; 06-18-2012 at 02:38 PM.
    Thanks bookerian, Nakderntang ขอบคุณ ผู้โพสต์ข้อความนี้
    Like itasian ถูกใจ ข้อความนี้ ที่สุด

Comments from Facebook

Posting Permissions

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •