Previous
Next
Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก Downtown
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
กระทู้แนะนำล่าสุดจาก
Results 1 to 8 of 8

Thread: อุบายกำจัดความพยาบาท...

  1. #1
    PREZZO's Avatar
    PREZZO is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    2
    Warning Points:
    0/5

    Lightbulb อุบายกำจัดความพยาบาท...

    อุบายกำจัดความพยาบาท

    ความแตกต่างระหว่าง "โกรธ" กับ "พยาบาท"

    ความโกรธนั้นคือตัวโกธะ ซึ่งอาจหมายถึงความขุ่นเคืองที่เกิดจากผัสสะกระทบใดๆ อาการทางจิตโดยทั่วไปจะเหมือนไฟไหม้ฟาง คือวูบหนึ่ง หรือระยะหนึ่งแล้วดับหายไป ส่วนความพยาบาทนั้นจะหมายเอาความแค้นใจ ความเจ็บใจ ความคิดมุ่งร้าย ซึ่งเป็นตรงข้ามกับเมตตาโดยตรง พฤติของจิตจะเป็นไปในทางผูกใจคิดแก้แค้นเอาคืน หรือแม้ไม่ถึงขั้นลงมือเอาคืน ก็มีอาการขัดเคือง ขุ่นข้องค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น สรุปคือ "ไม่วาง" หรือ "ไม่ให้อภัย"

    จะเห็นว่าตัวความโกรธอาจพัฒนาเป็นความพยาบาท หรืออาจหายไปเสียเฉยๆก็ได้ ขึ้นอยู่กับความคิดที่ตามหลังความโกรธมา เมื่อเข้าใจตรงนี้ ก็ย่อมทราบโดยปริยายว่าตัวพยาบาทนั้นดูยากกว่า และทำให้หายไปยากกว่าตัวโกรธ เราอาจดูขณะของจิตที่มีความพยาบาทเปรียบเทียบกับขณะของจิตที่ไม่มีความพยาบาทได้ แต่ยากที่จะทำให้ "ตัวคิดพยาบาท" ดับสูญไปอย่างสนิท ตราบใดที่ใจลึกๆยังผูกเจ็บอยู่ จึงจำเป็นต้องมีคู่ปรับที่สำคัญกับความพยาบาทมารับมือกัน นั่นคือกระแสเมตตา และถ้าทำได้ระดับเมตตาเจโตวิมุตติ คือให้หลุดพ้นจากกระแสความโกรธด้วยทะเลเมตตาอันสว่างไพศาลประมาณไม่ได้ ก็เป็นการประกันผลว่าจะไม่จมลงสู่ห้วงน้ำแห่งความหลงอาฆาตอันมืดมนอย่างเด็ดขาด

    การรู้ความพยาบาทโดยความเป็นอนิจจัง

    หากอยู่ปกติโดยไม่มีเรื่องกับใคร ลักษณะจิตจะสบายอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่เกิดเรื่อง และเราไม่สามารถเลิกคิดถึงคนๆนั้น จิตจะมีอาการเหมือนสัตว์ถูกผูกไว้กับที่ให้อึดอัด ให้สังเกตลักษณะอึดอัดอันเกิดจากความผูกติดนั้น เมื่อความอึดอัดถูกรู้โดยไม่คิดต่อ ก็จะค่อยๆแสดงอาการคลาย เมื่อเห็นและเปรียบเทียบระหว่างผูกยึดกับคลายออกด้วยปัญญา ย่อมเห็นทั้งความไม่เที่ยงของลักษณะผูกยึด พร้อมกับตระหนักตามจริงว่าจิตที่คลายออกจากการถูกผูก มีความเป็นอิสระนั้น ดีกว่าจิตที่ถูกผูกมากนัก ความพยาบาทอาจหายไปได้ด้วยการเห็นเป็นสิบเป็นร้อยรอบด้วยปัญญาชนิดนี้

    หากมีความถนัดเห็นทางกาย ก็อาจกำหนดส่วนของกายที่แสดงปฏิกิริยา "เดือดร้อน" เพราะความพยาบาทอันมีอยู่ในจิต อาจเป็นโพรงในกะโหลกที่หลั่งของเป็นพิษออกมา อาจเป็นใบหน้าที่รู้สึกได้ว่าหมองคล้ำ อาจเป็นความแน่นในช่องอก อาการเหล่านั้นของกายล้วนเป็นโทษ เหมือนแอ่งน้ำพิษ

    ธรรมดาเมื่อรู้ว่าแอ่งน้ำใดเป็นพิษ เราย่อมไม่กระโจนลงไปแช่ ไม่ยินดีที่จะดำผุดดำว่าย แต่เมื่อกายทำตัวเป็นแอ่งน้ำพิษ จิตเรากลับขาดสติกำกับ เหมือนหลงเห็นน้ำเน่าเป็นน้ำใส ยอมตัวลงไปแช่ ลงไปจมจ่อมอยู่เสียอย่างนั้น ทั้งที่ไม่เกิดประโยชน์อันใดขึ้นมาเลย

    ลองเห็นให้ได้ถึงอาการทางกายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยาบาท เห็นโดยไม่ต้องคิดต่อ จะพบว่าระดับความเข้มจะลดลงในเวลาอันสั้น พอเห็นอนิจจังของอาการทางกายบ่อยเข้ากระทั่งรู้แน่ว่ามีความเป็นอย่างหนึ่งแล้วต้องแปรเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง จิตจะเริ่มฉลาด และไม่คิดเสียเวลาแม้แต่วินาทีเดียวลงไปแช่จมอยู่กับอาการอันเป็นโทษ

    การแผ่เมตตา

    เราอาจแผ่เมตตาเพื่อระงับความโกรธ ตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อมิให้ลุกลามเป็นพยาบาท หรืออาจแผ่เมตตาเพื่อทำความพยาบาทที่ครอบงำจิตอยู่แล้วให้สูญไปก็ได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการแผ่เมตตามิใช่การทำเชื้อแห่งความโกรธให้ดับลงสนิท เพราะการดับเชื้อให้สนิทเป็นงานวิปัสสนา เราแผ่เมตตาเป็นงานสมถะ เพื่อทำจิตให้มีคุณภาพพร้อมต่อยอดเป็นวิปัสสนาในภายหลัง

    เมื่อแผ่เมตตาเป็น จะเกิดกระแสจิตอีกแบบหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ากรรมฐานข้อนี้ต่างกับข้ออื่น คือถึงจุดหนึ่งแล้วเหมือนจิตฉายรัศมีเมตตาออกมาเองโดยไม่ต้องกำหนด เนื่องจากเมตตาเป็นธรรมชาติของจิตที่เปล่งประกายได้โดยปราศจากเจตจำนงบังคับ ตรงนั้นจะเห็นอานิสงส์ของการแผ่เมตตาตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเมตตาสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่ม 16

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 ประการคือ ย่อมหลับเป็นสุข, ย่อมตื่นเป็นสุข, ย่อมไม่ฝันลามก, ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย, ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย, เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ หรือศาตราย่อมไม่กล้ำกรายได้, จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว, สีหน้าย่อมผ่องใส, เป็นผู้ไม่ตายด้วยอาการหลง, เมื่อยังไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก

    สำหรับงานภาวนาในสติปัฏฐาน 4 คงหวังผลเด่นประการหนึ่งจากบรรดาอานิสงส์ทั้ง 11 ข้อข้างต้นนี้ นั่นคือ "จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว" อานิสงส์ดังกล่าวนี้เราย่อมอนุมานได้โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เสียก่อน ใช้เหตุผลตามจริงที่ว่าเมื่อจิตสงบ อ่อนโยน มีความสุข ปราศจากการคุมแค้นอาฆาต ไม่คิดจองเวรใคร ก็ย่อมปราศจากคลื่นความฟุ้งในหัว และพร้อมพอจะเข้าสู่ความตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ต้องการได้ง่ายๆแน่นอน

    การเจริญเมตตาภาวนานั้นแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะใหญ่ๆตามวิธีดำเนินจิต แบบแรกคือใช้จิตที่ยังคิดนึกส่งความปรารถนาดี ปรารถนาให้บุคคล สัตว์ หรือสิ่งของอันเป็นเป้าหมายมีความสุข แบบที่สองคือกำหนดจิตอันตั้งมั่นแล้ว แผ่กระแสเมตตาออกตามรัศมีจิต เริ่มต้นอาจจะเพียงในระยะสั้นเพียงสองสามเมตร ต่อมาเมื่อล็อกไว้ได้นาน ก็อาศัยกำลังอันคงตัวนั้น ยืดขยายระยะ หรือตั้งขอบเขตออกไปไกลๆ กระทั่งถึงความไม่มีประมาณ ทิศเดียวบ้าง หลายทิศพร้อมกันบ้าง ตลอดจนครอบโลกโดยปราศจากทิศคั่นแบ่งบ้าง เป็นผลพิสดารในภายในอันรู้ได้ด้วยตนเองเมื่อสามารถทำสำเร็จ

    เมื่อทราบว่าการเจริญเมตตาภาวนาแบ่งออกเป็นสองวิถีทางอย่างนี้ ก็พึงทราบว่าการเจริญเมตตาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจริตนิสัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมีปัจจัยใดๆหนุนหลังหรือถ่วงรั้งเอาไว้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสมควรฝึก สมควรทำให้เกิดขึ้นในตน เพื่อขจัดวัชพืชออกไปจากพื้นที่เพาะพันธุ์มรรคผลในจิตเรา

    การฝึกเจริญเมตตาโดยอาศัยจิตสามัญ

    คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการอดกลั้น ข่มโทสะไว้ไม่แสดงออก เป็นท่าทีอย่างหนึ่งของคนดี และวันหนึ่งอาจโวยวายขึ้นมาว่าไม่ขอเป็นคนดีอีกแล้ว เก็บกดมานานแล้ว วันนี้จะระเบิดบ้างล่ะ นั่นสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่าการอดกลั้นยังไม่ได้แปลว่าเราเป็นคน "ดีพอ" เพราะในการอดกลั้นยังมีโทสะและการผูกใจเจ็บเจืออยู่ แต่การมี "ใจจริง" ให้อภัย หรือที่เรียกว่าอภัยทาน ต่างหาก เป็นคุณธรรมที่แท้จริงของคนดี และที่จะคิดอภัยอย่างไร้ขีดจำกัด ก็ต้องเป็นผู้มีเมตตาผิดมนุษย์มนาพอสมควร นี่ก็จะเป็นข้อที่ว่าด้วยการสร้างเมตตาโดยเริ่มจากพื้นของความเป็น "คนธรรมดา" คือใช้ระดับจิตที่ยังนึกคิดอยู่

    ก่อนอื่นต้องสำรวจด้วยความตระหนักแบบไม่เข้าข้างตนเอง ว่าเป็นคนมักโกรธ เป็นฟืนเป็นไฟง่าย กับผูกโกรธไว้เผาเราเผาเขาได้นานหรือเปล่า หากรู้ตามจริงว่าเป็นบุคคลเคราะห์ร้าย คือจัดอยู่ในพวกโกรธง่ายหายช้า ก็ให้ทราบว่าอย่างนั้นเป็นคนเมตตาอ่อน มีทุนน้อย จะเอามาใช้เจริญเมตตาเป็นภาวนาทันทีทันใดคงยาก

    หลายคนได้รับคำแนะนำให้ภาวนา สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ ขอสัตว์โลกทั้งหลายอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย ภาวนาอยู่เกือบสิบปี ยังหน้าตาเหี้ยมเกรียมอยู่เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะตั้งความเข้าใจไว้ผิดพลาด ว่าแค่ท่องบ่นไปก็คือการเจริญเมตตาแล้ว หรือหนักกว่านั้นคือนับเป็นการภาวนาแผ่เมตตาแล้ว ขอให้เข้าใจว่าการเจริญเมตตานั้น เป็นอาการของจิตที่ส่งความปรารถนาดี ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขด้วยใจจริง แม้แต่คนดุร้ายที่สุดก็อาจมีใจเมตตาให้กับคนในครอบครัวหรือมิตรสหายที่รักกัน การท่องบ่นสาธยายมนต์นั้น ไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองที่พูดได้คำสองคำ แต่หามีความเข้าใจหรือรับรู้ในภาษาที่ตนพูดไม่

    ในมหาสีหนาทสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่ม 1 พระพุทธองค์ทรงตรัสกะชีเปลือยชื่อกัสสปะว่าเมตตาจิตนั้นคือจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ซึ่งหมายถึงการคิด การพูด และการทำอันไม่มีเวรกับใคร ไม่ได้เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ดังนั้นการ "สร้างทุน" คือเมตตาจิตนั้น ก็ต้องอาศัยการหมั่นสำรวจอย่างเข้มงวด ว่าชีวิตเราล่วงไปวันต่อวัน ขณะต่อขณะอยู่อย่างนี้ ด้วยอาการผูกเวร ด้วยอาการเบียดเบียนใครหรือไม่

    หากสำรวจตามจริง พบในขณะแห่งการคิด การพูด หรือการทำ ว่าเราเอาแล้ว ก่อเวรแล้ว เบียดเบียนใครเข้าแล้ว ก็ต้องรีบเปลี่ยนท่าทีให้เป็นตรงข้าม คือไม่แม้คิดก่อเวร ไม่แม้คิดเบียดเบียนใครๆด้วยประการใดๆเลย พูดง่ายๆคือถ้าถามตัวเองว่าตอนนี้คิดไม่ดีกับใครหรือเปล่า รู้ตัวแล้วก็เปลี่ยนให้เป็นตรงข้ามเสีย ด้วยความระลึกว่าการคิดไม่ดีย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อเมตตาจิต ระลึกไว้เพียงเท่านี้ก็จะเป็นบาทฐานอันมั่นคงไว้รองรับเมตตาจิตอันจะมาถึงเองข้างหน้าแล้ว

    แรกๆเมื่อทำให้เมตตาจิตเกิดขึ้นในเรานั้น จะเป็นเรื่องของการฝืนใจ อาจไม่เห็นผลเป็นความสุขความเย็นทันใด บางทีถึงกับต้องสู้กับความรู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบ อันนี้ถ้าเห็นว่ายากหรือเหลือบ่ากว่าแรงนัก ก็อาจเอาแค่ถือศีล 5 ให้ครบ ให้จิตใจสะอาด นั่นก็เรียกว่าสร้างเมตตาจิตอยู่กลายๆแล้ว เพราะเมื่อตีกรอบไว้ กำหนดเจตนาไว้ว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเขาเมียใคร ไม่มุสา และไม่เสพสุรา ก็คือระงับเหตุแห่งเวรและการเบียดเบียนทั้งปวงนั่นเอง สำรวจใจที่สะอาดด้วยรั้วคือศีล พอเห็นผลตามจริงก็จะเกิดโสมนัสขึ้นมา

    หลังจากเจริญเมตตาจิตด้วยการคิด การพูด การทำเป็นร้อยครั้งพันหน กระทั่งรู้สึกถึงกระแสฝ่ายดี กระแสเย็นใจชุ่มชื่นอันเกิดจากการระงับเวรทั้งปวงแล้ว ชนิดที่สามารถระบายยิ้มอ่อนๆออกมาได้เองโดยไม่ต้องฝืน พอกระแสนั้นเอ่อขึ้นมาเมื่อใดขณะไหนก็ตาม อยู่ในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม ให้ฝึกล็อกอยู่กับความรู้สึกภายในชนิดนั้นไว้ คือรู้ว่าเป็นสุขเย็น และความสุขไม่เคลื่อน ไม่เลื่อนไหลแปรปรวนเป็นอื่นง่าย กระทั่งชัดเต็มอยู่ในอกในใจ มีความตั้งมั่นไม่ต่างกับขณะแห่งการจ่อจิตไว้ที่ลมหายใจหรืออารมณ์ภาวนาอื่นๆ ถึงขั้นนี้เรียกว่ามีทุนไว้ต่อทุนในระดับต่อไปแล้ว

    ยิ่งถ้าหากมีพื้นนิสัยอ่อนโยน มีลักษณะแห่งเมตตาอยู่ในตัว คือนอกจากไม่ก่อเวรแล้ว ยังเป็นผู้ชอบสร้างสุขผูกไมตรีกับคนอื่น และนอกจากไม่เบียดเบียนแล้ว ยังเป็นผู้ชอบเอื้อเฟื้อเจือจานให้คนอื่นมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ก็อาจใช้นิสัยอันเป็นทุนประจำตัวนั้นได้เลยทันที คือสังเกตว่าขณะที่ไม่ฟุ้งคิด จิตใจสงบสุขอยู่กับตนเอง บอกตนเองว่านี่เพราะเราไม่มีเวร ก็ไม่มีใครเบียดเบียนตอบ ให้ล็อกเอาความรู้สึกนั้นไว้ในใจ เป็นองค์ภาวนาเดี๋ยวนั้น

    หากใครนึกเถียงอยู่ในใจตนเองว่าเมตตาแล้ว แต่ยังถูกเบียดเบียนอยู่ดี ก็ให้ตัดเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบทิ้ง ยิ่งต้นเหตุยั่วยุให้เหมือนคลั่ง ก็ยิ่งเป็นแบบฝึกชั้นสูง เราจะเอาเป้าหมายเดียวคือเมตตาจิต ฉะนั้นต้องละจากการจองเวร ด้วยความคิดว่าแค่โกรธก็เป็นเวรทางใจแล้ว ให้อภัยเป็นทานเสีย ผ่านขั้นยากได้เท่าไหร่ยิ่งเป็นอภัยทานชั้นเลิศขึ้นเท่านั้น เมื่อสำรวจแล้วว่าเราให้ทานเป็นการอภัยออกมาจากแก่นแท้ภายในแล้วมีความสุข ความสงบเย็นทันตาเห็น ก็ดูตามจริงว่านี่ก็คือลักษณะของเมตตาจิต ล็อกไว้อย่างนั้นเป็นองค์ภาวนาได้เช่นกัน

    สรุปคือใช้ชีวิตประจำวันนั่นแหละ ในการเจริญเมตตาภาวนาเบื้องต้น ตราบใดเรายังต้องคิด ต้องเจรจา ต้องมีกิจกรรมตอบโต้กับชาวโลก ตราบนั้นคือโอกาสในการเจริญเมตตาภาวนาของเราทั้งหมด ลองระลึกในทุกขณะว่าเมตตาเป็นด้านหัวของเหรียญ พยาบาทเป็นด้านก้อยของเหรียญ เราพลิกด้านหนึ่งขึ้นมา อีกด้านหนึ่งก็หายไปทันที ตัวที่พลิกจากคิดไม่ดีเป็นคิดดีกับผู้อื่นนั่นแหละตัวเมตตาอันเป็นที่รู้สึกได้ชัด ระลึกไว้ง่ายๆอย่างนี้จะสำรวจความคิด คำพูด และการกระทำของตนเองถนัดขึ้น

    หาก "คิด" เป็นเมตตาไม่ออก ก็อาจอาศัยเครื่องช่วยทางกายเป็นตัวจุดชนวน เช่นหัดนึกถึงรอยยิ้มของพระปฏิมาแล้วแย้มมุมปากนิดหนึ่ง กำหนดสติจ่อไว้กับอาการของจิตที่ระบายยิ้มเหมือนพระปฏิมานั้น จะมีกระแสสงบเย็นหลั่งมาชะโลมให้หยุดพล่านคิดพล่านโกรธเสียได้

    อีกอุบายหนึ่ง ถ้าอยู่คนเดียวก็หัดไหว้ความโกรธเสียบ้าง โกรธเมื่อไหร่ก็ไหว้เมื่อนั้น ตั้งใจไหว้ตัวความโกรธ เพื่อให้เกิดการ "ยอม" หรือเกิดความอ่อนน้อมหักล้างกัน หนึ่งครั้งคือหนึ่งแต้ม ยิ่งสะสมแต้มมากเพียงใดก็จะเห็นผลชัดเพียงนั้น ลองดูจะเห็นผลจริงว่าถ้านับได้เป็นร้อยเป็นพันแต้มแล้ว จิตใจจะนุ่มนวลเยือกเย็นลงอย่างน่าประหลาดใจ

    การเจริญเมตตาโดยอาศัยสมาธิจิต

    ในเตวิชชสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่ม 1 พระพุทธองค์ตรัสกะวาเสฏฐะตอนหนึ่งมีความว่านิวรณ์เป็นทุกข์ เป็นโทษ และอุบายลัดทางอย่างง่ายที่สุดคือให้ "รู้" เข้ามาตรงๆถึงภาวะของนิวรณ์ อย่างเช่นเมื่อตระหนักว่าพยาบาทกำลังครอบงำจิต ก็ให้พิจารณาเปรียบเทียบว่า...

    ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนผู้ป่วยหนัก บริโภคอาหารไม่ได้และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมาเขาพึงหายจากความป่วยไข้นั้น บริโภคอาหารได้ และมีกำลังวังชากลับคืนมา เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้ป่วย ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส โดยความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

    เพียงคิดเทียบเสียได้ด้วยใจอันซื่อ ว่าความพยาบาทนั้นเหมือนโรค เหมือนความป่วย จิตก็เห็นโทษแห่งพยาบาทอย่างแจ่มชัด ถ้าเลิกพยาบาทได้ก็จะปลอดโปร่งโล่งสบาย กินอิ่มนอนหลับเหมือนหายป่วย พอเห็นข้อดีชัดเจนเข้า จิตก็ละพยาบาทอย่างไม่เสียดายเหมือนถ่มเสลดทิ้งจากปากคอ เมื่อทิ้งได้ ก็บังเกิดโสมนัสอันพร้อมน้อมมาใช้แผ่เมตตาขั้นสูงต่อไป

    ขอให้ทดลองน้อมพุทโธบายนี้ไว้ใช้จริงๆจะเห็นว่าได้ผลกว่าการพยายามข่มใจ ฝืนใจละเอาทื่อๆอย่างชัดเจน ข้อสำคัญคือตอนเริ่มต้นต้องดึงสติลงมาถึงจิตให้ได้ กล่าวคือเลิกมองบุคคลหรือสถานการณ์ที่ทำให้โกรธ แต่พลิกเปลี่ยนมาดูความอึดอัด เห็นความอึดอัดให้ชัดๆ แล้วรู้ตามจริงว่านั่นเหมือนโรคร้าย โรคทางกายยิ่งร้ายแรงเพียงใด เมื่อหายจากโรคเสียได้ก็ยิ่งปีติมาก ยินดีมากเพียงนั้น ให้แลกกับเงินทองเท่าไหร่เป็นยอมแน่แล้ว เช่นเดียวกัน ให้มองว่ายิ่งโกรธมาก เหมือนเป็นไปได้ยากที่จะละความโกรธ ก็แปลว่าตอนนั้นป่วยทางใจอย่างหนัก หากหายป่วยเสียได้ ปีติโสมนัสย่อมแรงได้ส่วนกัน ต้องแลกกับอะไรก็คุ้มเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่จะต้องแลกในที่นี้ก็คือการ "ยอมอภัย" เท่านั้นเอง

    สำคัญคือจิตคิดอภัย จิตปลอดโปร่งจากการจองเวรนั้นเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้เดี๋ยวเดียว ถ้าขาดเหตุปัจจัยเหนี่ยวรั้งไว้ก็ย่อมหายหนอย่างรวดเร็ว การกำหนดล็อกสภาพปลอดโปร่งไว้จึงจำเป็น และถ้าหากวิธีล็อกของเราผิด แทนที่จะอยู่ ก็อาจกลายเป็นความอึดอัดเสียแทน วิธีที่ถูกต้องคือให้กำหนดจิตแผ่ความสุข แผ่ความปลอดโปร่งจากเวรภัยนั้นไปตามทิศต่างๆ ดังพระพุทธองค์ตรัสเป็นแนวไว้ในเตวิชชสูตรดังนี้...

    เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องเฉียง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ ทุกเหล่าในทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

    กล่าวโดยวิเคราะห์ การดำเนินจิตเข้าสู่การแผ่เมตตาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนทำได้ดังนี้
    1. สำรวจว่าจิตยังมีพยาบาทอันเป็นนิวรณ์ชนิดหนึ่งหรือไม่ หากรู้แก่ใจว่ายังมีพยาบาท ให้ละเสียด้วยความคิดเปรียบเทียบพยาบาทเหมือนโรค คิดว่าถ้าจิตเป็นอิสระจากพยาบาท ก็เหมือนหายจากโรค คิดให้น้อย แต่รู้ตามจริงให้มาก
    2. ประคองรู้จิตอัน "ประกอบด้วยเมตตา" นั้นไว้สักครู่หนึ่ง แล้วจึงเริ่มแผ่เมตตาออก เริ่มจากทิศหนึ่งคือเบื้องหน้า ทิศสองคือเบื้องขวา ทิศสามคือเบื้องซ้าย ทิศสี่คือเบื้องหลัง แล้วจึงแผ่ไปยังเบื้องบน เบื้องล่าง ด้านทะแยง จากนั้นเมื่อชำนาญแล้ว จึงกำหนดจิตแผ่ครอบไปทุกทิศพร้อมกัน คือแผ่ไปตลอดโลก เป็นการแผ่สุขให้อย่างไม่เลือกหน้า ไม่เลือกภพเลือกภูมิว่าเป็นมนุษย์ สัตว์ เทวดา หรืออื่นๆ ลิ้มรสความวิเวกอันเกิดจากความไร้เวรภัย ตั้งมั่นในระดับที่เรียกว่า "อัปปมัญญาสมาบัติ"

    บางคนอาจสงสัยว่าอุบายวิธีแผ่เมตตาของพระพุทธเจ้าคงต้องรอให้โกรธหรือคิดพยาบาทมาดร้ายใครเสียก่อนกระมัง จึงจะถือเอามาใช้เป็นบทเริ่มต้นได้ ความจริงแล้วก็เหมือนคนเริ่มทำสมาธิด้วยวิธีสำรวจศีลของตนเองทีละข้อ วันไหนทราบชัดว่าศีลของตนสะอาดบริสุทธิ์ไม่บกพร่อง ก็ย่อมเกิดปราโมทย์ เกิดปีติ สงบสุขอยู่กับความผ่องแผ้วอันเป็นคุณลักษณ์ขณะนั้นแห่งจิตตน ทำนองเดียวกันนั้น เมื่อสำรวจแล้วว่าจิตเราปราศจากความดำริก่อเวร ปราศจากการคิดเบียดเบียนใคร เมื่อนั้นกระแสเมตตาย่อมรินรสอยู่ในภายในให้สำเหนียกได้ กำหนดเป็นตัวตั้งเพื่อใช้แผ่ออกตามทิศต่างๆได้

    สำหรับการกำหนดจิตเพื่อแผ่ออกนั้น อาศัยปัจจัยหลักเพียง 3 ประการเป็นฐานเริ่ม ได้แก่

    1) จิตอันประกอบด้วยเมตตา ดังกล่าวถึงวิธีปฏิบัติแล้วข้างต้น ถ้าปราศจากสติกำหนดรู้ลงมาถึงจิตอันปลอดจากเวรภัยเป็นอันดับแรก ก็ได้ชื่อว่าขึ้นต้นแผ่เมตตาผิดพลาดแล้ว กระแสรู้สึกออกมาจากแก่นกลางภายในจะต้องไม่เหลือวี่แววพยาบาท ไม่มีความกด ไม่มีความเครียด หากรู้ตัวว่ายังมีความฝืนเพ่งบังคับ ก็อาจใช้อุบายทางวิปัสสนา คือดูตัวโกรธที่มีในจิตกระทั่งตัวโกรธหายไป เหลือลักษณะจิตอย่างไรก็กำหนดไว้ว่าอย่างนั้นไม่มีเวรไม่มีภัย
    2) ทิศทางของการแผ่เมตตา ขอให้กำหนดเป็นเบื้องหน้าก่อน เพราะเป็นไปตามธรรมชาติการมองออกด้วยสายตามาทั้งชีวิต จึงง่ายกว่าทิศอื่นทั้งหมด (ต่อไปเมื่อแผ่เมตตาได้เป็นปกติ ถ้ากำหนดใจแผ่เฉพาะผู้ใดผู้หนึ่ง ก็ถือว่าผู้นั้นเป็น "ทิศ" ของการแผ่เมตตา หากนิ่งและมีพลังมากพอก็จะสัมผัสจิตถึงจิตได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าแท้จริงแล้วเขาอยู่ทางเหนือ ใต้ ออก หรือตกของเรา)
    3) ระยะของการแผ่เมตตา เริ่มต้นควรมีระยะที่แน่นอน เพื่อให้จิตรู้ว่าควรกำหนดไว้แค่ไหน แรกทีเดียวควรเป็นสัก 2-5 เมตร คือระยะระหว่างสายตากับผนังห้องทั่วไป

    ด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 ประการข้างต้นนี้ พอจะลำดับขั้นตอนได้ง่ายๆ คือให้นั่งตัวตรงสบายๆ สำรวจแน่ใจแล้วว่าจิตประกอบด้วยเมตตาชัดอยู่ในกระแสรู้สึก ก็ให้ทอดมองออกมาจากกระแสรู้สึกนั้น ตรงไปยังเป้าหมายใกล้ตาเบื้องหน้า อาจเป็นเสา อาจเป็นจุดใดจุดหนึ่งบนผนัง ขอให้ตาจับที่เดิมไว้ได้โดยไม่ก่อความคิดอันเป็นนิวรณ์ใดๆขึ้นก็แล้วกัน

    มองเป้าหมายนิ่งๆสัก 2-3 วินาทีแล้วปิดเปลือกตาลง โดยที่ยังรักษาอาการทอดตาจับนิ่งๆแบบไม่เพ่งจนเกินไป ขณะเดียวกันโฟกัสก็ไม่เลื่อนไหลไปมาให้นัยน์ตาหลุกหลิก แล้วกำหนดความรู้สึกมาที่กระแสเมตตากลางอกอันไม่คับแคบเป็นจุดเล็ก แต่คลุมๆอยู่ในความรู้สึกตัวทั่วถึง จากนั้นแนบกระแสเมตตาเป็นอันเดียวกับอาการทอดสายตาตรง คือนึกถึงระยะและทิศเบื้องหน้าออกมาจากจิตที่ปลอดโปร่งจากการคิดจองเวร เบาโล่งเพราะพ้นจากการคิดเบียดเบียน จะเห็นคล้ายตัดความผูกโยงกับประสาทตามาที่กลางอก เสมือนเปิดแผ่นอกโล่งและฉายรัศมีสุขออกไปตรงๆ

    ขอให้รักษาทิศทางและระยะไว้ดีๆ เพียงตั้งมั่นไม่นานจะสำเหนียกถึงอาการที่จิตล็อกอยู่กับกระแสสุขอย่างชัดเจน หาไม่แล้ว จิตที่ขาดทิศทางและระยะย่อมกระจายออก หรือวนๆอยู่ในตัว ทำให้ขาดความตั้งมั่นอย่างรวดเร็ว

    ขอให้สังเกตการแผ่ที่ผิดพลาดให้ทันตั้งแต่เบื้องแรก คือถ้ารู้สึกดันๆออกไป ตึงขมับ หรือเกร็งส่วนใดส่วนหนึ่ง นั่นอาจเป็นเพราะเราเพ่งมากเกิน ที่ถูกต้องมีเพียงกระแสสุขที่สาดตรงออกไปโดยปราศจากความเครียด และมีสติรู้ตั้งมั่นอยู่ที่กลางๆ คล้ายเรานั่งมองผนัง มองฝ้าเพดาน มองนกมองไม้อย่างปราศจากความคาดหวัง ไร้ความคิด ไร้เจตจำนงใดๆทั้งสิ้น

    เมื่อจิตเริ่มทรงอยู่ในกระแสสุข ประกอบพร้อมด้วยทิศเบื้องหน้าและระยะใกล้จนชำนาญแล้ว จะเหมือนจิตแสวงความโล่งเป็นระยะไกลขึ้นเอง เพียงกำหนดรู้ตามว่ารัศมีสุขเริ่มขยายออกไป สติก็จะดำเนินตามพัฒนาการของการแผ่เมตตา ที่มีแต่ทิศเบื้องหน้าเป็นกำหนด แต่ขอบเขตจำกัดไม่มี คล้ายมองขอบฟ้าลิบโลก หรือไปไกลถึงอนันต์ เพียงประคองไว้ได้สักนาทีเดียว จิตจะดึงดูดเข้าสู่ความมั่นคงระดับอุปจารสมาธิ มีปีติเย็นวิเวกแปลกกว่าสุขแม้ในสมาธิทั่วไป

    ขอให้ฝึกจนกระแสมั่นคงในทิศเบื้องหน้าแล้ว จิตรู้กระแสเมตตาอันเป็นนามธรรมว่าต่างหากจากกายแล้ว ไม่ผูกกับสายตาแล้ว จึงค่อยย้ายมาฝึกแผ่ไปทางทิศเบื้องขวา คล้ายเงี่ยหูฟังเสียงแห่งความสุขทางด้านขวาโดยที่สายตายังตั้งตรง และมีระยะทางที่แน่นอนใกล้ตัวก่อน เมื่อสามารถตามกระแสเมตตาได้จนเหมือนไกลถึงขอบฟ้าด้านขวา จึงเป็นอันใช้ได้ หากทำทางทิศเบื้องหน้าชำนาญแล้วจะเห็นการกำหนดทิศด้านข้างง่ายดายและรวดเร็วมาก

    เมื่อได้ด้านขวาชำนาญก็ฝึกกำหนดด้านซ้าย เมื่อฝึกด้านซ้ายชำนาญก็ให้ลองกำหนดแผ่ซ้ายขวาพร้อมกัน จะมีกระแสแผ่ออกเบื้องหน้าโดยอัตโนมัติ และจะแผ่รัศมีไปได้ไกลเองตั้งแต่เริ่มต้น ไม่จำเป็นต้องกำหนดระยะสั้นๆเพื่อให้ล็อกง่ายอีก

    เมื่อสามารถแผ่สามทิศได้พร้อมกันแล้ว จะเหมือนมีกระแสสุขเป็นตัวเป็นตนเด่นชัดขึ้นให้รู้สึกได้ และจิตจะรักความไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน คือไม่อยากเป็นศัตรูกับใคร ไม่อยากทะเลาะเบาะแว้งกับใคร และเหตุการณ์ในชีวิตก็เหมือนจะเริ่มเข้าข้างกระแสเมตตาภายในเรา เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตออกมาจากข้างใน

    สำหรับการแผ่ทางทิศเบื้องหลังนั้นจะยากกว่าสามทิศแรก เหตุเพราะมนุษย์เรามีอายตนะส่งจิตออกกระทบวัตถุเป็นสายตา ซึ่งเล็งไปเบื้องหน้า และเป็นแก้วหู ซึ่งเล็งหนักไปทางซ้ายขวา

    การที่จะกำหนดแผ่เมตตาทางทิศเบื้องหลัง จำเป็นต้องอาศัยความรู้สึกในแผ่นหลัง ประกอบกับอาการคล้ายเงี่ยหูฟังเสียงเงียบแห่งความสุขจากด้านหลัง นึกเฉยๆโดยไม่ต้องกำหนดกระแสเมตตาก่อนก็ได้ เมื่อแน่ใจแล้วว่านึกเป็น จึงค่อยกำหนดกระแสเมตตาประกอบการนึกย้อนหลังดังกล่าว หากเป็นไปตามลำดับก็จะพบว่าไม่ยากเย็นนัก

    เมื่อกำหนดแผ่เมตตาได้ถึงขอบฟ้าเบื้องหลังสำเร็จ จะเหมือนเปิดจิตโล่งออกไปได้ทุกทิศทุกทางไม่จำกัด กับทั้งทำให้จิตได้ดุลอยู่ตรงกลาง ไม่หนักเกินไปด้านหน้าหรือด้านข้างอย่างเมื่อแรก จากนั้นทิศเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องเฉียงทั้งหมด ก็ไม่เหลือวิสัยอีกเลย จะเหมือนมีกระแสเมตตาหลั่งรินออกมาตลอดเวลาโดยไม่ต้องกำหนด พฤติกรรมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคิด พูด หรือทำ ก็ถูกล้อมไว้ด้วยทะเลเมตตาจากจิตนั่นเอง อานิสงส์ทั้ง 11 ประการตามพระพุทธองค์ตรัสแสดงจะปรากฏชัดให้ทราบได้อย่างปราศจากกังขา

    ขอให้ระลึกว่าจิตจะรวมดวงจริงๆเมื่อเราไม่เพลินหลงจับกระแสสุขในทิศใดทิศหนึ่ง แต่มั่นคงอยู่กับใจกลางแห่งอาการรู้ ไม่ฟู ไม่ลิงโลดไปกับกระแสปีติจนเกินไป ความมีสติอยู่ตรงกลางแห่งอาการรู้นั้น จะให้ผลเป็นสุขที่เนียนละไมสม่ำเสมอ และไม่มีระลอกคลื่นปีติกระโดดไปกระโดดมาเป็นห้วงๆ

    ถึงตรงนั้น ของแถมที่ตามมาอันหยั่งทราบได้เองอาจเป็นการรู้ว่าเมตตาอันเป็นรัศมีจิตของเรามีกำลังใหญ่ โทสะและพยาบาทของคนรอบข้างมีกำลังน้อย ถูกกลบกลืนด้วยสนามพลังเมตตาของเราโดยง่าย ก็จะเป็นการช่วยผู้อื่นให้พ้นนรกในอกได้อ้อมๆ และอาจเป็นสื่อโน้มนำเขามาเข้ากระแสที่ถูกต้องต่อไป หากใครมีไฟร้อนอยู่ในบ้านเรือน ก็อาจดับร้อนด้วยจิตตนนี้เอง

    ปกติจิตคนเราถูกกักไว้ด้วยความคิดในหัวเหมือนมีกรงขังเล็กๆในโพรงกะโหลก เมื่อเริ่มแผ่เมตตาจึงอาจรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อแผ่เป็น ก็จะเห็นความเคยชินเก่าๆเริ่มแปรไป คือจิตเหมือนเป็นอิสระออกมาจากกรงขัง นิ่งสบายอย่างมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม นับเป็นการเกื้อกูลต่อการปฏิบัติสติปัฏฐานได้อีกทางหนึ่ง

    นักภาวนาที่ประสบปัญหานอนไม่หลับเพราะตาแข็งจากสมาธิอาจชื่นชมอานิสงส์ของการแผ่เมตตาเป็นพิเศษ เมื่อนอนหงายปิดตา กำหนดสุขในอก แผ่ออกไปยังทิศเบื้องบน อาจจับแค่ระยะเพดานห้องนอนก่อน หรือจะเป็นด้านข้างก็ได้ แล้วแต่ถนัด ถ้าจิตล็อกนิ่งแล้วหลับลงในอาการนั้น จะมีแต่ความสุขสบาย และเหมือนเข้าสมาธิอยู่แบบกึ่งเคลิ้มกึ่งรู้ตัว ถึงจะตื่นเร็วเกินเหตุก็เป็นการนอนหลับเต็มตา ไม่เหนื่อยล้าภายหลัง

    อย่างไรก็ตาม ความสุข ความสว่างแจ้งในเมตตาเป็นรสอันยากจะเปรียบ ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปดูวิธีพิจารณาสุขเวทนาในหมวดเวทนานุปัสสนาดีๆ เพื่อความไม่ยึดติดจนเกินไป ขอให้ระลึกว่าเราแผ่เมตตาเพื่อผลคือละพยาบาทเป็นหลัก มิใช่เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือไปจากนี้ ได้ของแถมอะไรก็ถือว่าทำเล่นเป็นบางโอกาส แต่อย่าถึงขนาดเพลินสนุกไปโดยไม่ใส่ใจกำหนดรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของกาย เวทนา จิต ธรรมไป



    เนมิราชชาดก
    พระเจ้าเนมิราช เมื่อทรงปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ทรงสงสัยว่า การให้ทานกับการประพฤติพรหมจรรย์ คือ การรักษาความบริสุทธิ์ ไม่ข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวโลกนั้น อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน

    พระอินทร์ได้ทรงทราบถึงความกังขาในพระทัยของพระเจ้า เนมิราช จึงเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาปรากฏ เฉพาะพระพักตร์ พระราชา ตรัสกับพระราชาว่า "การประพฤติพรหมจรรย์จึงทำได้ยากยิ่ง กว่าการบริจาคทาน และได้กุศลมากยิ่งกว่าหลายเท่านัก"

  2. #2
    greenpark's Avatar
    greenpark is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    98
    Warning Points:
    0/5
    ขอบคุณคุณ prezzo มากนะคะ แหมกำลังเข้ากับสถานการณ์บ้านเราเลยค่ะ

  3. #3
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    131
    Warning Points:
    0/5
    หากอยู่ปกติโดยไม่มีเรื่องกับใคร ลักษณะจิตจะสบายอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่เกิดเรื่อง และเราไม่สามารถเลิกคิดถึงคนๆนั้น จิตจะมีอาการเหมือนสัตว์ถูกผูกไว้กับที่ให้อึดอัด ให้สังเกตลักษณะอึดอัดอันเกิดจากความผูกติดนั้น เมื่อความอึดอัดถูกรู้โดยไม่คิดต่อ ก็จะค่อยๆแสดงอาการคลาย เมื่อเห็นและเปรียบเทียบระหว่างผูกยึดกับคลายออกด้วยปัญญา ย่อมเห็นทั้งความไม่เที่ยงของลักษณะผูกยึด พร้อมกับตระหนักตามจริงว่าจิตที่คลายออกจากการถูกผูก มีความเป็นอิสระนั้น ดีกว่าจิตที่ถูกผูกมากนัก ความพยาบาทอาจหายไปได้ด้วยการเห็นเป็นสิบเป็นร้อยรอบด้วยปัญญาชนิดนี้


    กำลังทำอยู่แต่ทำไมมันทำอยากนัก......ไม่ผูกจิตคิดพยาบาทกับใคร...แต่เขาชอบมาหาเรื่องเราจัง

    ก็มักจะทำให้เกิดความโกรธ...แต่ไม่ถึงขนาดเคียดแค้น...แต่ก็พยายามปล่อยวาง...โดยการกำหนดจิต

    แต่มันทำยากมากค่ะ......ขอบคุณค่ะ....กระทู้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ
    " ความรู้สึกอิจฉาริษยาเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า คิดให้ดีก็จะรู้ว่า.....คุณมีทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องมีแล้ว "

  4. #4
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    0
    Warning Points:
    0/5
    ขอบคุณมากๆนะคะ

  5. #5
    TEDDY07's Avatar
    TEDDY07 is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    3
    Warning Points:
    0/5
    ขอบคุณมากจ๊ะ
    ขอบคุณ SBN จ๊ะ

    หนังสือสวดมนต์ แจกฟรี ฟรี ฟรี
    ขอเชิญเพื่อนๆ SBN รับหนังสือสวดมนต์ฟรี
    เพื่อสวดบูชา ก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
    แก่ตัวท่านเองและครอบครัว
    หรือจะเอาไปช่วยกันบอกบุญต่อก็ดียิ่งๆขึ้นไปเลยนะจ๊ะ

    ตามลิ้งค์นี้เลย
    http://siambrandname.com/forum/showthread.php?t=390560

  6. #6
    wnonach's Avatar
    wnonach is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    458
    Warning Points:
    0/5

    Red face

    ขอบคุณ คุณ prezzo มากนะคะที่นำสิ่งดีๆมาแบ่งปันค่ะ
    You Can Try Without Succeeding. But You Can Not Succeed Unless You Try!



    BIG THANKS FOR SBN

  7. #7
    tukwachi's Avatar
    tukwachi is offline Trusted Member
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    0
    Warning Points:
    0/5
    ขอบคุณสำหรับธรรมะดีๆค่ะ จะพยายามปฎิบัติค่ะ

  8. #8
    Join Date
    Apr 2010
    Posts
    29
    Warning Points:
    0/5

    Smile

    ขอบคุณนะคะ สำหรับข้อคิดธรรมะดีๆค่ะ
    [SIGPIC][/SIGPIC]@@OrgaN@@♥♥♥.·:*¨¨*:·.A.·:*¨¨*:·.FIVE.·:*¨¨*:·.STAR.·:*¨¨*:·.BUYER.·:*¨¨*:·.♥♥♥






Comments from Facebook

Posting Permissions

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •