สวัสดีค่ะ พอดีหนึ่งไปอ่านเจอ บ้านพอเพียง ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลท์ เห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยเอามาฝากค่ะ หนึ่งเองกำลังมีปัญหาเรื่องบ้านน้ำซึมกำแพงห้องครัว (บ้านที่กรุงเทพค่ะ) ซ่อมสองครั้งแล้วยังไม่หายเลย รู้สึกเซ็งมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพื่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในเอสบีเอ็น อยากซื้อบ้านใหม่จะได้มีข้อมูลไว้ศึกษาก่อนซื้อค่ะ

ต้องขอขอบคุณ นสพ ผู้จัดการออนไลท์สำหรับข้อมูลด้วยค่ะ หนึ่งเองไม่มีส่วนได้เสียนะคะ แค่อยากให้เพื่อนๆพีๆน้องๆ เห็นความแตกต่างของบ้านพอเพียง กับบ้านทั่วๆไปเท่านั้นค่ะ

บ้านพอเพียงหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอย 140 ตารางเมตร สร้างเสร็จภายใน 90 วัน





พื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง เพราะไม่มีเสา ไม่มีคาน พนังบ้านกันความร้อนได้ดี



พื้นที่ใช้สอย จัดเป็นสัดส่วนน่าอยู่



ห้องนั่งเล่นริมสวน ติดประตูกระจก ลามิเนทกันรังสียูวี



หน้าต่างกระจกปริเวณที่พักบรรได ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน



ห้องนอนชั้นบน กว้าง โล่งภายใต้หลังคาที่ไร้ขื่อและแป



ระเบียงชั้นบนมีหลังคากันแดด แต่ติดกระจกไว้รับแดด



กรอบประตูและหน้าต่างยูพีซี ทนทานแข็งแรง ระบบล็อคหลายชั้น







ที่มาผู้จัดการ ออนไลท์

"บ้าน" คือที่ที่เราอยู่แล้วมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่าและทันสมัยยิ่งขึ้น บ้านในยุคนี้ต้องช่วยเจ้าของบ้านประหยัดพลังงานได้ และทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีอายุยืนยาวขึ้นด้วย

ต่อยอดความรู้ 40 ปี สู่ต้นแบบ "บ้านพอเพียง"

หลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึงภาวะโลกร้อนและวิกฤตพลังงานกันอย่างหนาหู มีการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงการออกแบบอาคารบ้านเรือนที่ช่วยลดการใช้พลังงานกันไม่น้อย แต่ก็มีอยู่ไม่มากที่องค์ความรู้จะถูกหยิบเอามาปั้นแต่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น หนึ่งในนั้นคือ "บ้านพอเพียง" ที่อยู่อาศัยที่เข้ากับยุคประหยัดพลังงาน

รศ.ดร.วรสัณฑ์ บูรณากาญจน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการวิจัยแบบบูรณาการต่อยอดองค์ความรู้ประหยัดพลังงานสู่บ้านพอเพียง เปิดเผยว่า บ้านพอเพียงเกิดขึ้นจากการต่อยอดองค์ความรู้งานวิจัยสาขาต่างๆ ของจุฬาฯ ที่สะสมมานานกว่า 40 ปี ให้เกิดเป็นรูปธรรมและทำให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ปานกลาง

"เราคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก โดยนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ผสมผสานกับการออกแบบ วัสดุ ระบบอาคาร และการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย" อาจารย์สถาปนิกกล่าว

ปรับภูมิทัศน์เพื่อประหยัดพลังงาน

รศ.ดร.วรสัณฑ์ ให้ข้อมูลว่า ภูมิอากาศของประเทศไทยในปัจจุบันร้อนขึ้นเฉลี่ย 2-3 องศาเซลเซียส ทุกฤดูกาลเมื่อเทียบกับในสมัยรัชกาลที่ 5 และเดือนที่ร้อนที่สุดเปลี่ยนจากเดือน พ.ค. มาเป็นเดือน เม.ย. ส่วนพื้นที่ที่จัดอยู่ในเขตเย็นสบาย (อุณหภูมิประมาณ 21.1-27.8 องศาเซลเซียส) ที่พบได้ทั่วไปในสมัยนั้นไม่มีเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อม

สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบบ้านพอเพียงคือ การปรับสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร โดยการปลูกต้นไม้ทรงสูงเพื่อให้ร่มเงาและป้องกันแสงแดดจากดวงอาทิตย์ ปลูกไม้พุ่มเตี้ยและพืชคลุมดินเพื่อลดการสะสมความร้อนและลดอุณหภูมิพื้นผิวจากการระเหยของน้ำ เพิ่มบ่อน้ำทางด้านทิศใต้เพื่อช่วยลดอุณหภูมิอากาศจากกระแสลม รวมถึงการปรับกระแสและทิศทางลม

ส่วนตัวบ้านนั้นออกแบบให้ลดพื้นที่ผิวอาคาร เพื่อลดพื้นที่การถ่ายเทความร้อน และออกแบบระบบผนังให้เป็นโครงสร้างของบ้านด้วยเพื่อให้รองรับน้ำหนักบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเสาและคานรองรับ ทำให้พื้นที่ใช้สอยในบ้านโล่งกว้าง สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

ใช้วัสดุผสมผสาน กันชื้น กันร้อน กันยูวี

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนและความชื้นเข้าสู่ตัวอาคารจึงเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของบ้านพอเพียง ผนังบ้านทั้งหมดจึงใช้วัสดุเม็ดโฟมคอนกรีตที่ทำจากโฟมรีไซเคิล มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ต้านทานแรงลมได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นฉนวนกันความร้อนและความชื้นได้ดีกว่าผนังอิฐมวลเบาหรือก่ออิฐฉาบปูน 10-12 เท่า

ประตูและหน้าต่างทุกบานเป็นกระจกให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้าสู่ตัวบ้านและลดการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน โดยใช้กระจกลามิเนตติดฟิล์มป้องกันรังสีอัลตราไวโอเล็ต (ยูวี) และมีคุณสมบัติเดียวกับกระจกรถยนต์ คือ ไม่แตกง่าย เมื่อแตกแล้วเศษกระจกจะไม่กระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กรอบประตูและหน้าต่างทำจากพลาสติกยูพีวีซีที่แข็งแรง ทนทานต่อรังสียูวีมากกว่าพีวีซีธรรมดา และมีระบบล็อคหลายจุดที่มีความปลอดภัยต่อการงัดแงะสูงกว่า

หลังคาเป็นระบบผสมผสานโครงสร้าง ฝ้าเพดาน และคุณสมบัติฉนวนกันความร้อนที่กันความร้อนได้ดีกว่าหลังคากระเบื้องคอนกรีตถึง 24 เท่า โดยไม่ต้องมีโครงสร้างขื่อและแป จึงสร้างได้รวดเร็ว น้ำหนักเบากว่า 10 เท่า ไม่มีปัญหาน้ำรั่วซึม และสามารถใช้พื้นที่ภายในใต้หลังคาได้ทั้งหมด โดยใช้เวลาเพียง 90 วัน ก็สามารถสร้างบ้านพอเพียงได้ 1 หลังที่มีขนาด 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ 1 ห้องพระ 1 ห้องรับแขก และ 1 ห้องรับประทานอาหาร บนพื้นที่ใช้สอยราว 140 ตารางเมตร และมีน้ำหนักอาคารลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับบ้านทั่วไปขนาดเดียวกันที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนาน 240-360 วัน

"แม้ว่าค่าวัสดุก่อสร้างบ้านพอเพียงจะสูงกว่าวัสดุก่อสร้างทั่วไป แต่ข้อดีของการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่ทำให้ก่อสร้างได้รวดเร็วกว่าบ้านทั่วไปมาก จึงช่วยประหยัดค่าแรงได้ ทำให้ต้นทุนต่างกันไม่มากเท่าไร" รศ.ดร.วรสัณฑ์ เผยข้อดี และจุดเด่นอีกประการของบ้านพอเพียงคือใช้วัสดุที่ผลิตได้ภายในประเทศทั้งหมด

ลดใช้พลังงาน ลดค่ารักษาพยาบาล

บ้านพอเพียงติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 18,000 บีทียู แค่เครื่องเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้บ้านทั้งหลังเย็นสบาย เพราะใช้ระบบท่อกระจายความเย็นถึงทุกห้องภายในบ้าน สามารถเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่เปลืองไฟ และทำให้ในบ้านมีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียสตลอดปี เพราะผนังและหลังคาบ้านที่มีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี และการปรับสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านให้มีอุณหภูมิต่ำลงกว่าปกติ ทำให้เครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนัก สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 60%

นอกจากช่วยประหยัดพลังงานแล้ว อุณหภูมิภายในบ้านพอเพียงยังค่อนข้างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย มีอากาศบริสุทธิ์ไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา และไม่มีรังสียูวีเล็ดลอดเข้าสู่ในบ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลง สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

"ปัจจุบันประเทศไทยต้องใช้งบประมาณไปกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่ต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ หากเราสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยของประชากรได้ จะช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้อย่างมหาศาล" รศ.ดร.วรสัณฑ์ กล่าว

โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ วิทยาเขตบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อนุเคราะห์พื้นที่ในการสร้างบ้านต้นแบบ และจะมีการแสดงแบบจำลองบ้านพอเพียงให้ผู้สนใจชมกันในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์


ขอบคุณค่ะ