ประเทศไทยของเรามีสถิติสาเหตุการเสียชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเหมือนในอดีต แต่เป็นการรับสารเคมีหรือติดเชื้อจนเป็นโรคภัยต่างๆ โดยอันดับหนึ่่งคือโรคมะเร็งตามสถิติเหมือนเช่นทุกปี แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ โรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงมาเป็นอันดับสอง ทำให้ทราบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจจำนวนไม่น้อยเลย และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้้จะมีอาการแตกต่างกันไปตามโรค บางคนเสียชีวิตอย่างฉับพลัน บางคนเป็นโรคเรื้อรัง เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นเราควรรู้จักโรคหัวใจนี้ให้มากขึ้น เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงและป้องกันตนเองจากโรคนี้ ซึ่งอาการของโรคหัวใจนั้นมีดังนี้

1.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่พบมากในปัจจุบัน แต่จากสถิติการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ พบว่าผู้ป่วยไม่ได้ตรวจพบโรคนี้ในช่วงแรกมากถึง 30% ของจำนวนทั้งหมด โดยจะมารู้ตัวและเริ่มรักษาในระยะที่รุนแรงแล้ว อาจเพราะโรคนี้จะไม่ได้มีอาการหนักใดแสดงออกมา ผู้ป่วยจะวางใจใช้ชีวิตประจำวันปกติและไม่มาตรวจรักษา
อาการ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย จุกแน่น เสียดในบริเวณทรวงอก เหงื่่อออก ใจสั่น เป็นลม หากเกิดฉับพลันและรุนแรง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจพิบัติ( Heart attack ) และมีโอกาสเสียชีวิตสูง หากรักษาไม่ทัน ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยที่มีสูงอายุ, สูบบุหรี่จัด, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ

2.โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
เกิดจาก ความเสื่อมหรือความผิดปกติหลอดเลือดแดงใหญ่ในร่างกายเกิดการโป่งพอง และแตกออกได้ พบบ่อยที่หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง และในช่องอก
อาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคนี้จะไม่มีอาการแสดงมาก่อน มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ทรวงอก หรือคลำก้อนเต้นได้ในช่องท้อง จะมีอาการจากการกดเบียดของหลอดเลือดที่อวัยวะข้างเคียง เช่น กดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก กดเบียดหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก เป็นต้น หรือถ้าหากผู้ป่วยมีอาการแน่นอก ปวดหลัง หน้ามืด หมดสติ ไอเป็นเลือด อาจบอกได้ว่ามีการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่แล้ว

3.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เกิดจาก ความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา อาจเกิดจากการมีรูโหว่ที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หลอดเลือดออกในตำแหน่งที่ผิดจากปกติ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดาโดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
อาการ เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เจริญเติบโตช้า เนื่องมาจากความผิดปกติของการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ มีเหงื่อออกมาก เขียวคล้ำตามลำตัวเกิดจากเลือดดำไหลเข้าสู่เส้นเลือดแดงที่ส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย ทำให้เด็กมีลักษณะผิวหนังหรือกล้ามเนื้อเขียวคล้ำ

4. โรคหัวใจรูห์มาติค
เกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเบต้าฮีโมไลติค สเตร็ปโตคอคคัสที่ลำคอ ทำให้คออักเสบ มีไข้สูง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ และหากได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดอาการอักเสบที่หัวใจ ปวดบวมที่ข้อ และมีผื่นที่ลำตัว หากมีการอักเสบซ้ำหลายๆ ครั้ง อาจเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่หรือปิดไม่สนิท ทำให้ลิ้นหัวใจตีบแคบลงหรือรั่ว และหากติดเชื้อมากไปทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุ 7-15 ปี
อาการ ผิวหนังเป็นผื่นแดง กล้ามเนื้อกระตุกไม่มีแรง มีไข้ ปวดบวมตามข้อ มีปุ่มใต้ผิวหนัง และมีหัวใจอักเสบ ทำให้บวม เหนื่อยง่าย หอบ เจ็บหน้าอก และอ่อนเพลีย

5. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เกิดจาก ความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เกิดโรคหัวใจหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การส่งกระแสลัดวงจร มีแผลเป็นหรือก้อนไขมัน ทำให้หัวใจมีจุดที่สร้างกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
อาการ ใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หมดสติ หรือหัวใจวาย
วิธีรักษา การรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะรักษาด้วยยาในกรณีที่จับความผิดปกติไม่ได้ แต่ถ้าพบความผิดปกติจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์อาจให้ยาต้านการเต้นผิดปกติกลุ่มต่างๆ หรือใช้วิธีการจี้หัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุ และการฝังเครื่องมือพิเศษ อย่างไรก็ตามต้องทำให้หัวใจบีบตัวได้ตามปกติ เพราะจะลดโอกาสเกิดหัวใจวายให้น้อยลง
ข้อเสนอแนะ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด วิตกกังวล การพักผ่อนไม่พอเพียง ออกกำลังกายหักโหม การสูบบุหรี่ ดื่มน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน แอลกอฮอล์ การกินยาหรือฉีดยาที่กระตุ้นหัวใจ เป็นต้น

6. ภาวะหัวใจล้มเหลว
คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวาย เป็นภาวะที่หัวใจอ่อนแอ หัวใจสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้ไม่เพียงพอ
อาการ หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หมดสติ อาจจะค่อยๆเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นได้ฉับพลัน เช่น เกิดภายหลังจากหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ในทันที
นอกจากโรคหัวใจจะอันตรายในผู้ใหญ่แล้ว โรคหัวใจนี้ยังอันตรายในเด็กมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งโรคหัวใจในเด็กนั้นอาจเกิดมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือเกิดหลังจากคลอดออกมาแล้ว ส่วนใหญ่มีอาการเจริญเติบโตช้า น้ำหนักไม่ค่อยเพิ่มขึ้น เหนื่อยง่าย หายใจเร็วกว่าปกติ หัวใจเต้นแรง หอบ เป็นหวัดหรือปอดบวมบ่อยๆ ตามร่างกายมีรอยสีเขียว ซึ่งอาจจะมีมาตั้งแต่กำเนิดหรือเพิ่งเขียวช่วงภายหลัง การรักษาโรคหัวใจในเด็ก สามารถให้รักษาตามชนิดของโรคนั้นๆ โดยทั่วไปรักษาโดยใช้วิธีให้ยาบำรุงหัวใจ หรือให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดภาวะหัวใจวาย ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น หรือใช้บอลลูนช่วยขยายตรงหลอดเลือดหรือลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ หากเด็กมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ รักษาโดยการจี้ด้วยไฟฟ้าบริเวณที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และวิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติของหัวใจ
ดังนั้นโรคหัวใจเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วและไม่แน่นอน อาจจะถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา ก่อนที่จะเป็นขั้นรุนแรงจนรักษาไม่ทันเวลา

ที่มาของข้อมูล
http://www.iurban.in.th/pr/114172/