หลังจากที่พยายามผลักดันให้ สนช.ถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีเพิกเฉยไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งยังงัดข้อกับอัยการโดยต้องการเร่งรัดให้สั่งฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพรรคเพื่อไทยหยิบยก คดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในยุครัฐบาลคุณชวน หลีกภัย มาเทียบเคียงกับคดีจำนำข้าว เพราะกรณี ปรส. ทำให้ประเทศเสียหายถึงกว่า 6 แสนล้านบาท อีกทั้งรัฐบาลในขณะนั้นยังไปค้ำประกันเงินฝากของสถาบันการเงิน 56 แห่ง รวมแล้วต้องชดใช้เงินถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกปีรัฐบาลต้องเอาเงินงบประมาณ 6 หมื่นล้านบาทไปชำระหนี้ เป็นอย่างนี้มาตลอดสิบกว่าปีแล้ว คุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ข้องใจทำไม ป.ป.ช.ไม่ดำเนินคดีกับผู้บริหารในยุคนั้นบ้าง ผมขอลำดับความคดี ปรส.ให้ฟังคร่าวๆ หลายคนอาจลืมไปแล้ว ปี 2540 ก่อนที่จะลอยตัวค่าเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปสู้กับกองทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท มันก็เหมือนลูกแกะเจอหมาป่า ไม่มีทางสู้ได้ สุดท้ายต้องสูญเงินสำรองไปหมด เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องมีการสั่งปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง และเอาทรัพย์สินมาประมูลขายทอดตลาด ทรัพย์สินกว่า 8 แสนล้านบาทที่นำมาประมูล มีการจัดกองทรัพย์สินขั้นต่ำ 5 พันล้านบาท อ้างว่าในภาวะเศรษฐกิจอย่างนั้นคนไทยคงไม่สามารถหาเงินมาค้ำประกันได้ จึงต้องดึงเงินต่างชาติมาลงทุน แต่ปรากฏว่าต่างชาติกลับระดมทุนในประเทศไทยมาประมูลซื้อในราคาถูก จากมูลค่าทรัพย์สิน 8 แสนล้านบาทถูกขายไปในราคาเพียง 2 แสนล้านบาท แล้วต่างชาติก็มาเอาทรัพย์สินเหล่านั้นมาซอยแบ่งขายให้คนไทยในราคาแพง เท่ากับเป็นตัวกลางกินส่วนต่างไปพุงปลิ้น ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นมีข้อมูลหนึ่งที่ คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง คือนายแบงก์ใหญ่ของไทยในยุคนั้นถูกบีบไม่ให้เข้าร่วมประมูลด้วย หนำซ้ำ ปรส.ยังอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลนำกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นใหม่มาเซ็นสัญญาแทนได้ ทั้งที่เลยกำหนดวันเซ็นสัญญาไปแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่กองทุนรวมเหล่านี้ โดยงดเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อขายทรัพย์สิน ท่ามกลางกระแสข่าวมีนักการเมืองหลายคนในรัฐบาลแอบไปร่วมลงทุนกับกองทุนรวม และฟาดผลประโยชน์ไปมหาศาล ข่าวจริงหรือข่าวลือ ถ้า ป.ป.ช.อยากรู้ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบย้อนหลังได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะทำจริงจังหรือเปล่า สิ้นเดือนนี้คดี ปรส.จะหมดอายุความแล้ว เคยมีกรรมการ ป.ป.ช.คนหนึ่งประกาศจะไม่ยอมปล่อยให้คดีนี้หมดอายุความไปเฉยๆ ผมจะรอดูว่าในเมื่อผู้บริหาร ปรส.ถูกตัดสินว่ามีความผิด แล้วคนในรัฐบาลที่ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติ ทำให้ประเทศไทยเสียหายยับเยิน จะถูกดำเนินคดีหรือไม่ ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์มาตรฐานของ ป.ป.ช.