เดิมทีถ้าพูดถึงกระชับช่องคลอด การรีแพร์ช่องคลอดหลายคนมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงที่กำลังมีปัญหาช่องคลอดไม่กระชับ ส่งผลถึงเรื่องบนเตียง แต่แท้ที่จริงแล้วการกระชับช่องคลอด ทำรีแพร์ช่องคลอดไม่ใช่ทางแก้ของปัญหาเซ็กซ์เพียงอย่างเดียว? นายแพทย์คมกฤช เอี่ยมจิรกุล สูติ-นรีแพทย์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี เล่าความหมายของการกระชับช่องคลอด การรีแพร์ช่องคลอดว่าเป็นการผ่าตัดเพื่อกระชับช่องคลอด ตกแต่งช่องคลอดรวมทั้งซ่อมแซมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เคยฉีกขาด ซึ่งปัญหานี้มักเกิดกับหญิงที่มีช่องคลอดหย่อนหรือมดลูกหย่อน

สาเหตุที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานฉีกขาดหรือหย่อน มาจากหลายกรณี แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการคลอดบุตรบางกรณี เช่น คลอดยากต้องอาศัยเครื่องดูดสุญญากาศช่วย หรือใช้คีมคลอด หรือบุตรที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดมากกว่า 3,500 กรัมขึ้นไป บางรายที่เคยผ่านการคลอดบุตรมาก่อน อาจมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อและช่องคลอดด้านหลังได้ ซึ่งจะส่งผลระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ การปัสสาวะและอุจจาระ สำหรับกลุ่มที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อน ก็อาจมีภาวะช่องคลอดหย่อนได้ เช่น คนที่มีอาการไอเรื้อรังนานๆ ท้องผูกบ่อยๆ ชอบเบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน หรือในชีวิตประจำวันมีการยกของหนัก เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก อาจมีภาวะช่องคลอดหย่อนได้มากกว่าคนทั่วไป ที่สำคัญปัญหานี้ไม่ได้เกิดเมื่อตอนอายุมากเสมอไป อาการช่องคลอดหย่อนที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง มีตั้งแต่ปวดหน่วง รู้สึกมีก้อนตุงอยู่ในช่องคลอด มีลมอยู่ในช่องคลอด หรือขณะมีเพศสัมพันธ์รู้สึกไม่กระชับ ปัสสาวะไม่สุดและลำบากในบางครั้ง รวมถึงอาจกลั้นอุจจาระไม่ได้ กลั้นผายลมอยู่ เนื่องจากส่วนบนของช่องคลอดด้านหน้าจะติดกับกระเพาะปัสสาวะ ส่วนด้านหลังติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

ด้านการรักษา แพทย์จะพิจารณาจากปัญหาของผู้ป่วยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอะไร เช่น การปัสสาวะ อุจจาระ หรือการมีเพศสัมพันธ์ แล้วตรวจร่างกายเพื่อประเมินดูสรีระ หรือกายวิภาคทางช่องคลอดเป็นอย่างไร หย่อนด้านหน้าหรือด้านหลัง หรือทั้งสองอย่าง จากนั้นจึงผ่าตัดเพื่อกระชับ ตกแต่ง และแก้ไขปัญหาที่มี การผ่าตัด
กระชับช่องคลอดนี้มีพัฒนาการ สมัยก่อนใช้วิธี ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เข้าไปดึงผนังช่องคลอดตรึงไว้กับเอ็นบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน แต่ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด ความจริงใช้กันนานแล้ว แต่มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ ทั้งยังเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดผ่านหน้าท้อง หรือแม้กระทั่งการส่องกล้องก็ตาม โดยการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดไม่มีแผลให้เห็นภายนอก ใช้เวลาพักฟื้น 1-2 วัน สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ภาวะช่องคลอดหย่อนมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้ใน 3-5 ปี ทว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ใช้ตาข่ายใยสังเคราะห์มาพยุงไว้ ทำหน้าที่แทนเอ็นกล้ามเนื้อ (วิธีเดิม) รองรับบริเวณผนังช่องคลอดที่หย่อนเพื่อให้ทนทานมากขึ้น หรือในรายที่เคยผ่าตัดแล้วและกลับเป็นซ้ำ อาจต้องพิจารณาใช้ตาข่ายใยสังเคราะห์ขึงผนังช่องคลอดด้านหน้าเอาไว้ไม่ให้หย่อน แต่ไม่ทำให้รู้สึกถึงสิ่งแปลกปลอม สามารถอุจจาระปัสสาวะได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามผู้หญิงสามารถฟิตช่องคลอด ป้องกันช่องคลอดหย่อนด้วยการขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยไม่จำเป็นต้องรอทำหลังคลอดบุตร หรือไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยทำ เพราะสามารถขมิบได้ตั้งแต่ยังสาวๆ และปัจจุบันก็มีเครื่องมือที่ช่วยในการฝึกขมิบให้ถูกวิธีด้วย ส่วนความถี่ในการขมิบ แนะนำว่า ทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เวลาใดก็ได้เมื่อสะดวก



ขอบคุณที่มาจาก: http://www.dailynews.co.th/article/822/190174