ในบทความ “มุมมองบ้านสามย่าน” ของคุณปกรณ์ เลิศสเถียรชัย จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556 หน้า 11 มีข้อคิดข้อแนะนำที่ดี น่าสนใจ ผมจึงขอเขียนมาร่วมวงด้วย เพราะผมอาจถูกพาดพิง แม้ไม่ตรงเผงก็เฉียดมาก
ผมชอบวลี “ปลอดภัยไว้ก่อน” หรือ “safety first” ที่เห็นตามบริเวณก่อสร้างทั่วไป ผมชอบคำนี้เพราะตรงกับวิสัยทัศน์ที่ฝ่ายเวชศาสตร์ป้องกันทั่วไปยึดมั่น ถ้าทุกคนทุกหน่วยงานยึดมั่นในวลีนี้ อันตรายก็จะไม่เกิด หรือเกิดน้อยมาก ตัวอย่างง่ายๆ ที่ฝ่ายงานสาธารณสุขดำเนินการให้แก่ประชาชน เช่น ปลูกฝี ฉีดวัคซีน ก็ได้ทำให้ประชาชนปลอดโรค จนแทบไม่รู้จักโรคนั้นๆ กันแล้ว คงจำกันได้ว่าเมื่อมีการระบาดของอหิวาตกโรค ก็จะมีประกาศให้ประชาชนดื่มน้ำต้มสุก อาหารสะอาด ล้างมือก่อนเปิบอาหาร ฯลฯ เหล่านี้คือกระบวนการ “ปลอดภัยไว้ก่อน” เรื่องของใยหินที่ถูกพาดพิงบ่อยในระยะนี้ก็เช่นกัน เมื่อมีการป้องกันแบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” อันตรายจากใยหินก็ไม่เกิด ดังหลักฐานที่ปรากฏในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านไปในประเทศไทย
ที่ยกตัวอย่างว่าปอดได้รับใยหินรูปเข็มนั้น ขอเรียนว่าใยหินรูปเข็ม คือใยหินแอมฟิบอล ซึ่งไม่ใช้ในประเทศไทยแล้ว ที่ใช้กันมา หลายสิบปีเป็นใยหินครัยโซไทล์ ซึ่งเป็นเส้นใยขดม้วนไม่ทิ่มแทง ดังนั้นถ้าเรายึดวลีเตือนใจ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องอันตรายจากใยหิน หากคุณปกรณ์จะเขียนเรื่องใยหินอีก ก็ น่าจะช่วยอภิปรายเรื่องที่ระบุกันว่า “ไม่เคยพบผู้ป่วยหรือตายจากใยหินในประเทศไทย” จะประณามว่าแพทย์ไทยไม่เก่งวินิจฉัยโรคไม่ได้ ก็ไม่ว่ากัน

การอ้างคดีฟ้องร้องในต่างประเทศเป็นอุทาหรณ์ ก็ไม่สมควร เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดคนละซีกโลก อยากให้หยิบยกคดีฟ้องร้องในประเทศไทยมาเล่าสู่กันฟัง จะเหมาะกว่า
หมายเหตุ : กรุงเทพธุรกิจ พร้อมรับทุกความคิดเห็นต่อประเด็น

ข้อมูลและอ้างอิง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.chrysotile.co.th
หรือมาเป็นเพื่อนกันได้ที่ https://www.facebook.com/ChrysotileThailand