"จารุพงษ์ ทองสิน" ชื่อนี้อย่างน้อยที่สุด น้องๆ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ไม่ควรลืม

  1. yourfwd0
    yourfwd0
    "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ชื่อของห้องประชุม ของ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

    ชื่อ ของ ห้อง ประชุม
    ห้องประชุม ที่มีชีวิต

    ชีวิตที่เสียสละ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์หรือเป้าหมายของใครลำพัง

    "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ชื่อของ...

    ....
    นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    กรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2519


    เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีคนเห็นจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ถูกยิงหน้าตึก อมธ. ขณะคอยระวังหลังให้เพื่อน ๆ ที่ลงจากตึก ร่างของเขาถูกอันธพาลการเมืองใช้ผ้ารัดคอแล้วลากไปตามสนามฟุตบอลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางสายตานับร้อยที่เฝ้าดูด้วยความสะเทือนใจ และนับจากวันนั้น ยังไม่มีใครพบร่างของจารุพงษ์อีกเลย

    20 ปีผ่านไป ขณะที่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับจารุพงษ์ ได้กลายเป็นตัวแทนของความรุนแรงโหดร้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลา และชื่อของจารุพงษ์ โดยเฉพาะการอุทิศชีวิตตนเพื่อปกป้องผู้อื่น ได้รับการเชิดชูในการรำลึกเหตุการณ์ครั้งนั้น…ที่บ้านของครอบครัว “ทองสินธุ์” พ่อและแม่ของจารุพงษ์ยังคงเฝ้ารอคอยการกลับมาของลูกชายคนโตที่หายหน้าไปเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างไม่สิ้นหวัง

    ที่สวนมังคุดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ ชวนให้เราไปนั่งที่ขนำน้อยกลางสวน หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นเล่าเรื่องราวตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ของลูกชายคนโตให้ฟังว่า

    “แม่มีลูกชายคนแรกตอนปี 2500 ตั้งชื่อจริงว่า จารุพงษ์ ส่วนชื่อเล่นชื่อว่า “เกี๊ยะ” มาจากคำว่า “เค้าเกี๊ยะ” เป็นภาษาจีนไหหลำ แปลว่า ข้าวต้ม ลูกเกี๊ยะขยัน ช่วยงานทุกอย่าง ขนำนี้เขาก็สร้างให้ เขาชอบอ่านหนังสือตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ตอนเขาอยู่ชั้นป.4 ตื่นมาอ่านหนังสือตั้งแต่ตี 4 สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า เวลาอ่านต้องจุดตะเกียงน้ำมันก๊าด เขาจะอ่านหนังสือจบสองเที่ยวก่อนเปิดเรียนทุกครั้ง”

    แม้จารุพงษ์จะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ พ่อของเขารับราชการเป็นครู และแม่เป็นชาวสวน แต่จารุพงษ์และน้อง ๆ อีก 4 คน ก็เติบโตมาท่ามกลางความรัก ความเอาใจใส่ และการอบรมสั่งสอนอย่างดี แม่ลิ้มเล่าว่า

    “ลูกของแม่ไม่ดื้อ เพราะแม่ไม่เอา “ของร้อน” ให้ลูกกิน แม่ไม่ไปโกงเขามา แม่หาเงินตัวเป็นเกลียว เพื่อส่งเสียให้ลูกเรียน ทำสวน ขายของ ทำทุกอย่างเพราะพ่อกับแม่มีความตั้งใจอย่างหนึ่งว่า ลูกทุกคนต้องเรียนให้ถึงปริญญา แต่จะเรียนอะไรก็ได้”

    ในที่สุดความตั้งใจของพ่อแม่ก็เป็นความจริง เมื่อจารุพงษ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ แต่หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่นาน เขาก็เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองซึ่งกำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนั้น เขาทุ่มเททั้งกายและใจให้แก่กิจกรรมในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ส่งผลให้การเรียนของเขาตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนพ่อและแม่ต้องกล่าวเตือนด้วยความห่วงใย

    แต่ถึงที่สุดแล้วจารุพงษ์ก็ไม่สามารถทำตามที่แม่ขอร้องได้ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นร้อนแรงเกินกว่าที่คนที่รักความเป็นธรรมอย่างเขาจะอยู่เฉย แม่ลิ้มจึงได้พบภาพลูกชายในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เป็นภาพขณะที่จารุพงษ์และเพื่อนกำลังยื่นจดหมายประท้วงหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ด้วยความเป็นห่วงลูกชาย พ่อจินดาและแม่ลิ้มจึงจับรถไฟจากสุราษฎร์ธานีเข้ากรุงเทพฯ ในเช้าวันรุ่งขึ้น

    “แม่เห็นรูปเขาในหนังสือพิมพ์แม่ก็ไม่ไหวแล้ว แม่ก็ว่าแม่สั่งแล้ว มานึกในใจว่าลูกเกี๊ยะรับปากกับแม่แล้ว แต่ลูกเกี๊ยะไม่ทำตามที่แม่บอกเลย แม่กับพ่อก็รีบขึ้นไปหาวันที่ 25 กันยา พอวันที่ 28 กันยา เขาก็มาส่ง แม่ก็บอกว่าลูกเกี๊ยะกลับเถอะลูก เขาก็ว่า แม่ไม่ให้ลูกเรียนแล้วหรือ สอบวันที่ 6 เสร็จแล้ววันที่ 11 จะกลับบ้านแน่ ๆ แม่ไม่ต้องห่วง แล้วก็บอกว่าจะไม่ทำให้แม่ผิดหวัง เขามาส่งที่สถานีแล้วก็กลับไปที่ธรรมศาสตร์อีก”

    หลังจากกลับมาถึงสุราษฎร์ธานีได้ไม่กี่วัน เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ่อจินดา ก็ได้ฟังข่าวจากโทรทัศน์และวิทยุว่ามีการปราบปรามนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ด้วยรู้จักนิสัยของลูกชายคนโตดี ทั้งคู่จึงมั่นใจว่าจารุพงษ์จะต้องเข้าร่วมในเหตุการณ์ด้วยแน่

    ด้วยความเป็นห่วง พ่อจินดาจึงตัดสินใจเดินทางไปรับลูกชายกลับบ้านโดยจับรถไฟเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง

    เรื่องราวต่อไปนี้ คือ ความรู้สึกจากพ่อถึงลูก ซึ่งตัดตอนมาจากบันทึกของพ่อจินดาที่เขียนถึงลูกชายซึ่งหายหน้าไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

    “ปี 2519 ลูกจารุพงษ์กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ ในปีนี้เองที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อุบัติขึ้น ซึ่งนำความวิปโยคมาสู่ครอบครัวของข้าพเจ้าอย่างที่จะหาเหตุการณ์ครั้งไหนมาเปรียบเทียบมิได้ มันทั้งแสนจะปวดร้าวจิตใจจนไม่อาจจะอดกลั้นไว้ได้ หรือจะเรียกว่าบัดนี้พ่อและแม่ของลูก ๆ ได้ตายแล้วทั้งเป็น และจะตายจนกว่าจะเรียกร้องความสูญเสียนั้นกลับคืนมา

    “เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณ 9.00 น. เศษ วิทยุแห่งประเทศไทยได้กระจายข่าวการจลาจลขึ้นในแผ่นดิน เสียงประกาศและเสียงปืนรัวถี่ยิบเป็นระลอก ๆ ทุกคนต่างตระหนกตกใจเพราะเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข่าวประโคมว่าได้มีผู้ก่อการจลาจลเป็นนักศึกษาไทยและญวนที่จับกลุ่มอยู่ในธรรมศาสตร์… เสียงวิทยุก็เร่งเร้าให้ประชาชนช่วยกันผนึกกำลังเพื่อระงับเหตุการณ์ และช่วยกันกำจัดโดยทุกวิถีทางจนเกิดการประชาทัณฑ์นักศึกษา…นับเป็นเหตุการณ์ที่ทิ่มแทงเข้าขั้วหัวใจของบิดามารดาของนักศึกษาที่ส่งลูกให้มาร่ำเรียนในสถาบันที่สูงอย่างบอกไม่ถูก

    “ข้าพเจ้าเป็นพ่อคนหนึ่งที่มีลูกเรียนอยู่ในสถาบันที่เกิดเหตุด้วย ยิ่งมีความเป็นห่วงนับพันทวีคูณ ได้ปรึกษากับภรรยาแล้วจับรถไฟจากสถานีบ้านส้องมุ่งเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 16.00 น. ขณะที่นั่งมาบนรถไฟ ได้พบปะเพื่อนฝูงที่มาจากทางใต้ ส่วนมากก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือไปเยี่ยมลูกหลาน และเป็นห่วงลูกหลานกันทั้งนั้น ต่างคนต่างนั่งมองหน้ากันด้วยความเศร้าสลดจนพูดอะไรไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไรจึงได้เกิดอาเพศขึ้นเช่นนี้

    “ขณะรถไฟเข้าถึงสถานีกรุงเทพฯ ในตอนเช้าวันที่ 8 ต.ค. 19 ข้าพเจ้าก็ไม่รีรอรีบจับรถไปหาลูกที่หอพักเที่ยงธรรม วัดบุปผาราม ธนบุรี ขณะนั่งบนรถยนต์คิดอยู่อย่างเดียวว่าถ้าไปถึงหอพัก ให้ได้เห็นหน้าลูกที่รักสุดหัวใจของพ่อเท่านั้น…

    “บรรยากาศในหอพักนักศึกษาในวันนั้นผิดกับวันก่อน หรือครั้งก่อน ๆ ที่ข้าพเจ้ามา…ข้าพเจ้าก็เกิดความวิปลาสในใจทันที ขณะที่จ้องมองหน้าต่างหอพักที่ลูกอยู่ปิดตาย แต่ใจหนึ่งก็ยังคิดว่าลูกกำลังนอน จึงรีบขึ้นไป แต่ที่ไหนได้เมื่อเห็นประแจติดประตูไว้อย่างแข็งแรง ได้แต่ลอดมองดูทางช่องฝาเข้าไปภายในได้ตลอด ไม่เห็นลูกเลยแม้แต่เงา ตอนนี้จิตใจของข้าพเจ้าเหมือนจะหลุดลอยออกจากร่าง เข่าอ่อน รีบก้าวลงจากหอพัก ขณะลงบันได มีนักศึกษาที่พักอยู่ห้องใกล้ ๆ กันเดินสวนทางขึ้นมา ข้าพเจ้ามีสีหน้าไม่สบายใจ นักศึกษาคนนั้นถามขึ้นว่า ลุงมาหาใคร ข้าพเจ้าบอกว่า มาหาลูกจารุพงษ์ เพียงแค่เท่านี้ นักศึกษาคนนั้นน้ำตาไหลพลางบอกว่า จารุพงษ์เขาไม่กลับมาหอพักตั้งแต่วันก่อนเกิดเหตุ 1 วัน คือ วันที่ 5 ตุลาคม 19 เมื่อเสียงนี้แว่วเข้าหูข้าพเจ้า ทำให้หูอื้อจนไม่รู้จะว่าอะไรอีก

    “จิตใจของข้าพเจ้ากระวนกระวายจนบอกไม่ถูก ทั้งเสียใจและทุกข์ระทมคิดถึงลูก คิดถึงแม่ของลูกจะเฝ้าคอยอยู่ทางบ้านซึ่งมีความทุกข์ใจยิ่งกว่าข้าพเจ้าเสียอีก เพราะข้าพเจ้าทราบอย่างชัดแจ้งว่า ลูกผู้ชายคนแรกนี้เป็นลูกหัวแก้วหัวแหวนของแม่ และแม่มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เมื่อกลับกลายเป็นอื่นไปเช่นนี้ เสมือนหนึ่งใครกระชากดวงใจให้หลุดไปจากอกนั่นเอง”

    หลังจากไม่เจอลูกชายที่หอพัก พ่อจินดาเริ่มออกตามหาตามโรงพักต่าง ๆ ที่มีการจับกุมนักศึกษา แต่ก็ยังไม่เห็นแม้แต่ชื่อลูกชายในที่ใด ๆ เมื่อไปดูรายชื่อที่สถานีตำรวจชนะสงครามก็พบแต่รายชื่อหลานคนหนึ่ง คือ สุพจน์ อนุภักดิ์ ถูกกักขังอยู่ที่โรงเรียนตำรวจนครปฐม จึงตามไปเยี่ยมหลานเพื่อถามไถ่ข่าวคราว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พบ ในที่สุด พ่อจินดาจึงตัดสินใจจับรถไฟกลับบ้านไปหาภรรยาและลูก ๆ ที่รอคอยฟังข่าวอย่างใจจดใจจ่อ

    “ขณะนั้นนั่งในรถไฟไม่มีเวลาใดที่จะคิดถึงลูกไม่ได้ เห็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันยิ่งทำให้คิดถึงมากขึ้น นึกถึงภาพที่ลูกเคยกลับบ้านพร้อมกันกับพ่อดูเหมือนจะมีความสุขใจอย่างยิ่ง ถ้าเห็นลูกซื้อของกินบนรถแม้ตนเองไม่ได้กินก็รู้สึกอิ่มในใจอยู่เสมอ…เมื่อถึงบ้านพักได้พบลูก ๆ กำลังนั่งกันอยู่ในห้องกับแม่ พอเห็นหน้าแม่ของลูก ๆ และลูก ๆ อดจะน้ำตาคลอเบ้าทีเดียว พูดได้คำเดียวว่าไม่พบลูกจารุพงษ์เท่านั้น แม่และน้อง ๆ ต่างน้ำตาไหล ได้ยินแต่เสียงแม่พูดกับลูก ๆ พลางลูบหลังลูกแหวนและลูกแจและดึงมากอดไว้ และสั่งเสียอะไรต่าง ๆ นานาในทำนองอย่าให้ลูกทั้งสี่คนเป็นไปอย่างพี่ชายอีก เท่าที่การสูญเสียลูกชายไปนี้แสนจะอาลัยเป็นที่สุด”

    หลังจากพ่อจินดามีโอกาสไปพบหน้าหลานชายที่ถูกกักขังอีกครั้งหนึ่ง เขาก็ไม่รอช้าที่จะถามข่าวคราวของจารุพงษ์ หากคำตอบที่ได้รับคือ

    “สุพจน์ตอบว่า ก่อนเกิดเหตุพี่เกี๊ยะอยู่ในสนาม และเมื่อชุลมุนได้มาหาเขา และให้สุพจน์ระวังตัวให้ดี เขาเป็นห่วงพี่ชายสุพจน์มาก แล้วเขาก็กระโดดวิ่งลงไปในสนาม… ทันใดนั้นห่ากระสุนก็แล่นมาปะทะนักศึกษาล้มระเนระนาด จะเป็นพี่เกี๊ยะด้วยหรือไม่ไม่ถนัดนัก พอเสียงปืนเงียบเสียง มีนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่งเขาไม่รู้จัก วิ่งมาบอกเขาและเพื่อน ๆ ว่า จารุพงษ์ถูกยิงเสียแล้ว… หลังจากข้าพเจ้าได้ยินคำนี้จากปากของหลาน ทำให้หัวใจเกือบหยุดเต้น

    “ครั้นเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับแม่ของลูกว่าข้าวของและเครื่องใช้ของลูกที่หอพักควรไปเก็บและคืนหอพักให้เขา จะได้ให้คนอื่นเช่าต่อไป คงไม่มีหวังที่ลูกจะกลับมาเรียนแล้ว เราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ความหวังอยากเห็นลูกสำเร็จจนถึงขั้นอุดมศึกษาก็พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำน้อง ๆ ทั้งสามคนที่กำลังเล่าเรียนอยู่ก็ไม่ค่อยมีใจกับการเรียน เพราะเป็นห่วงพี่ชายที่เคยสุขสบายร่วมเล่นหยอกล้อแล้วจู่ก็มาเงียบหายไปโดยไม่มีร่องรอยเลย ครั้งใดที่น้อง ๆ บ่นถึงพี่ชายเหมือนเข็มที่แหลมเสียบแทงเข้าที่หัวใจข้าพเจ้าทุกครั้ง แต่ข้าพเจ้าก็พยายามเก็บอารมณ์นั้นไว้ภายในด้วยความขมขื่นระทมทุกข์ ไม่อาจจะบรรยายเป็นภาษาได้ ข้าพเจ้านึกว่านี่เราคงต้องร้องไห้น้ำท่วมหัวใจอยู่ตราบชั่วชีวิตนี้

    “เราจัดเก็บทุกสิ่งทุกอย่างของลูกไม่ได้ทิ้งแม้แต่รองเท้าขาดๆ เราก็เก็บใส่กล่อง… ข้าพเจ้าคิดเลยไปว่า สิ่งของ เช่น เสื้อผ้าและของใช้ของลูกนี้จะเก็บไว้จนกว่าจะพบลูกในวันข้างหน้า หรือไม่พบก็ตาม ถือว่าเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของลูกในชีวิตนี้

    เมื่อมาถึงบ้าน แม่ของลูกได้ซักเสื้อผ้าของลูกที่สกปรก และใส่แล้วยังไม่ได้ซัก เก็บซักจนสะอาดแล้วรีดพับเก็บใส่กระเป๋าไว้เป็นที่เรียบร้อย และยังคิดอยู่ทุกวินาทีว่าลูกของพ่อและแม่คงจะกลับมาแน่นอน พ่อและแม่ไม่มีจิตใจในการประกอบการงานเลย แสนจะอ่อนเปลี้ยหัวใจชอบกล ถ้ามีใครส่งข่าวเกี่ยวกับลูกมาเล่าให้ฟัง แม่จะต้องพยายามซักไซ้ไล่เลียงจนแจ่มแจ้งทีเดียว ในระยะดังกล่าวนี้ ถ้าใครมาบอกว่าได้พบลูกที่ไหน อย่าว่าที่นั่นจะเป็นป่าดงพงเขา หรือสิงสาราสัตว์ดุร้ายอยู่ พ่อกับแม่จะต้องฝ่าไปจนถึง”

    จนถึงวันนี้ 20 ปีผ่านไป บันทึกฉบับนี้ยังคงเป็นตัวแทนความรู้สึกและการกระทำของพ่อจินดาและแม่ลิ้มได้เสมอ เพราะหากวันนี้มีคนมาบอกว่าพบหน้าจารุพงษ์ ทั้งสองก็ยังคงจะติดตามหาไปทุกที่

    “มีข่าวเข้ามาเรื่อย ๆ เราไปหากันไม่เจอลูก ผมซื้อหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ อ่านอยู่ 2 ปี อ่านทุกวัน เคยมีคนบอกว่าเห็นหน้าลูกในป่า เราก็นั่งรถมอเตอร์ไซค์กับแม่สองคนไปตาม ไปมา 6 ป่าแล้วก็ไม่เจอ”

    ข้างแม่ลิ้มกล่าวว่า “แม่สับสนมาก ข่าวจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์จะบอกว่าเสียแล้ว แต่ถ้าข่าวจากคนแถวนี้จะบอกว่ายังอยู่ ถ้าไม่เห็นศพก็ยังหวังอยู่ ตอนลูกแจเรียนอยู่ที่รามคำแหง ชอบไปออกค่ายตามจังหวัดต่าง ๆ แม่สั่งเลยว่า สัญญากับแม่ได้ไหม ถ้าไปเห็นพี่เกี๊ยะ แล้วต่อยทันทีเลยนะลูก มัดใส่รถมาให้แม่ เหมารถมาเลย แต่เขาก็ให้สัญญาแม่ไม่ได้ เขาไม่ทำ”

    ครั้งหนึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาที่บ้าน ข้างในมีภาพถ่ายชายถูกลากคอไปตามสนามหญ้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับข้อความสั้น ๆ ที่พ่อจินดายังจำได้ดีว่ามันบาดหัวใจของเขาเช่นไร น้ำตาของเขาไหลเมื่อนึกถึงข้อความในจดหมายฉบับนั้น

    “จดหมายเขียนว่า กราบเท้าคุณพ่อที่เคารพ ลูกเป็นเพื่อนจารุพงษ์ ทราบมาว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังตามหาจารุพงษ์… เขาบอกว่าพ่อไม่ต้องหา เพราะจารุพงษ์ไม่มีแล้ว เขาไม่ลงชื่อ นับแต่นั้นมาพ่อก็เริ่มเชื่อเหมือนกัน เพราะเขาคงรู้จริง เขาคงสงสาร ไม่อยากให้พ่อเที่ยวตามหา แต่หลังจากนั้นถ้ามีใครบอกว่าเห็นลูกเกี๊ยะ พ่อก็ยังตามหาอยู่ จนถึงตอนนี้ถ้ามีคนมาบอกก็จะยังไปตามอยู่”

    แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการติดต่อจากลูกชายเลยก็ตาม แต่ทุกวันนี้พ่อจินดาและแม่ลิ้มก็ยังมีความหวังอยู่ครึ่งหนึ่งว่า สักวันลูกจะต้องกลับมา

    “ลูกเกี๊ยะของแม่อยู่ที่ไหน เสียแล้วหรือว่ายังอยู่ ทำไมศพลูกคนอื่นเขาถึงได้มา แล้วทำไมลูกของแม่ไม่มี เขาเอาลูกเราไปทิ้งไหน เขาฆ่าของเราแล้วเอาศพมาตั้งให้เราไปเอาก็ยังดี คนมันเลวไม่นึกถึงอกเขาอกเรา ลูกคนหนึ่งพ่อแม่ลงทุนตั้งเท่าไหร่ แม่ต้องการให้ลูกเป็นคนดี มีอนาคตสดใส นี่คือความตั้งใจของพ่อแม่ มันใสกว่าน้ำอะไรทั้งหมด เขามาทำให้เราทุกข์ ลูกเกี๊ยะไม่มีปืนสักกระบอก มันเลวไหม มันถือว่ามันมีอำนาจก็ทำได้ เจ็บปวดมาก คนเรายกปืนขึ้นมายิงคนอื่น ไม่ใช่ยิงนกนะ ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน สัตว์มันยังร้องยังดิ้น มันยังขอชีวิต คนที่ยิงลูกคนอื่นได้มันไม่คิด

    “แม่อายุ 64 ปีแล้วนะลูก คิดว่าไม่นานแม่ก็จะลาโลก ถ้าลูกเกี๊ยะอยู่ที่ไหน แม่จะไปเห็นสักที คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็อยากพบหน้าลูก แม่จะไม่ลืมเลย ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดเขาจะช่วยตามหา แม่ยินดีถ้าเขาช่วยเหลือแม่ได้ มันมีสองอย่างนะลูก ยังอยู่หรือเสียแล้ว ถ้าเสียแล้ว แม่ก็ทำใจได้ เพราะคนเรามีเกิดแก่เจ็บตาย แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ เขาอยู่ที่ไหน ทำไมเขาไม่ติดต่อมา แม่เคยฝันว่าเขามาหาและเขาบอกว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ถ้าชาติหน้ามีจริงเขาจะเกิดเป็นลูกแม่ใหม่ แล้วจะไม่ทำให้แม่ผิดหวัง”

    เมื่อเราได้พูดคุยกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ก็ได้รู้ว่า ความรู้สึกของทุกคนไม่แตกต่างกันสักเท่าไรนัก น้องๆ ของจารุพงษ์ยังไม่สามารถทำใจได้ต่อการจากไปของพี่ชายคนโต

    จงดี เพ็งสกุล เล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกเธอได้เห็นรูปถ่ายชายถูกลากคอในงานนิทรรศการ 6 ตุลาที่รามคำแหง เธอร้องไห้และไม่กล้าแม้แต่จะเดินกลับเข้าไปดูอีก

    “พอเห็นภาพชายถูกลากคอไปกลางสนามบอลก็ไม่แน่ใจ แต่ก็ไม่กล้าดูเห็นแล้วอยากร้องไห้ แล้วบอกกับน้องว่าอย่าเล่าให้แม่ฟังเลย เพราะในความรู้สึกของแกยังมีความหวังตลอดเวลา ช่วงที่พี่ชายหายไปใหม่ ๆ แกจะไปทำสวนอย่างเดียว เหมือนทดแทนและช่วยให้ใจแกสงบลงบ้าง แม่มักจะบ่นว่า ไม่รู้พี่ชายเขามีเหตุผลอะไรจึงไม่ติดต่อมา”

    ทนงศักดิ์และประภัสสร ทองสินธุ์ ก็มีความเศร้าไม่ต่างกันเมื่อต้องพูดถึงพี่ชาย “ผมไปเจอบันทึกของพ่อที่เขียนถึงพี่ชาย ผมอ่านไปได้หน้าสองหน้าก็น้ำตาไหล อ่านต่อไปไม่ไหว ไม่เคยอ่านจบเสียที หลังจากพี่เกี๊ยะจากไป พวกเราพี่น้องไม่มีใครกล้าออกไปต่อสู้แถวหน้าอย่างพี่อีก เพราะเมื่อเราดูสายตาของพ่อแม่แล้ว เราไม่สามารถทำได้ เราไม่อยากให้พ่อแม่สูญเสียลูกคนไหนไปอีก แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่สู้นะ เราสู้ในวิถีทางของเราแต่ไม่ใช่แถวหน้าอย่างพี่เกี๊ยะ”

    ทุกวันนี้ พ่อจินดายังไม่แจ้งต่อทางการว่าจารุพงษ์เป็นคนหายสาบสูญเพราะกลัวว่า ถ้าวันหนึ่งเขากลับมา จะไม่มีส่วนในมรดกที่พ่อเก็บไว้ให้ ส่วนแม่ลิ้มก็ไม่ยอมทำสังฆทาน ด้วยกลัวจะหมายถึงว่า ลูกชายได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ได้แต่เพียงทำบุญระลึกถึงลูกเท่านั้น และสำหรับน้อง ๆ ของจารุพงษ์ เขาและเธอยังคงเฝ้าบอกลูก ๆ ของตนว่า ยังมีลุงที่ชื่อว่า “เกี๊ยะ” อยู่ในโลกนี้อีกคนหนึ่ง

    20 ปีผ่านไป ยังไม่มีใครรู้ว่าร่างของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ อยู่ ณ แห่งหนใดในโลก เราสัมผัสได้แต่เพียงความทรงจำเกี่ยวกับตัวเขาที่ยังคงอยู่ในหัวใจของสมาชิกในครอบครัวทองสินธุ์ทุกคนอย่างไม่มีวันลบเลือน


    ที่มา : คัดจากนิตยสารสารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539



    การเป็นบ้านเมืองขึ้นมาได้ ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ
    แต่ เพราะ มี คนเสียสละ และ รับผิดชอบ ที่เรามองไม่เห็น

    ขอบคุณ การเสียสละ ของคน เรียนหนังสือ (มีการศึกษา)

    "จารุพงษ์ ทองสินธุ์"

    ชื่อนี้ อย่างน้อยที่สุด น้องๆ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ไม่ควรลืม



    ขอบคุณรูปจากลิงค์ http://www.gangdee.com/board/viewthread.php?tid=1599


    สังคมที่ไร้มุทิตา...
    คือ สังคม ที่ คนส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่า ใครคือคนที่ทำให้

    เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรต้องมีหัวใจ
    สังคมนี้ แผ่นดินนี้ คงอยู่ ให้เรา อาศัย อยู่ร่วมกัน ได้ต่อไป
    "ผู้เสียสละทุกคน ที่ตาย ล้วนมีชีวิต และเรา ติดหนี้บุญคุณ"
    ขอบคุณใน ความเสียสละ ที่ทำให้เรา ได้อาศัยอยู่ร่วมกัน

    เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรต้องมีหัวใจ
    ด้วยความเคารพในความเสียสละ อย่างสูงยิ่ง
    ประเทศใคร.. ในหนึ่งวัน<Click>


    ความเห็นแก่ตัว ทำให้ คน โง่ ขึ้น
  2. bookerian
    bookerian
    ขอบคุณค่ะ ที่นำเรื่องราวมาให้รับรู้
    ขอส่งต่อค่ะ
  3. Siambrandname Webmaster
    Siambrandname Webmaster
    ได้อ่านแล้วรู้สึกเศร้าใจแทนคุณพ่อของคุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ มีเรื่องราวผ่านมานานมากแล้ว
    ก็อยากขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ครับและรู้สึกอย่างที่คุณ yourfwd บอกครับ

    ขอขอบคุณคนเสียสละรับผิดชอบทุกคน ที่เรามองไม่เห็น ที่ทำให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาได้
    ขอบคุณคุณ yourfwd ที่นำเรื่องราวเหล่านี้มาเลือกเก็บไว้ให้ในชุมชนแห่งนี้ได้รับรู้ครับ

    ขอบคุณครับ
  4. itasian
    itasian
    ขอบคุณ คุณ yourfwd ครับที่นำเรื่องราวมาให้รับรู้กันครับ

    สงสาร พ่อกับแม่ และน้องๆ ของคุณจารุพงษ์
    และขอแสดงความเสียใจด้วยครับ

    ขอบคุณในความเสียสละของคุณจารุพงษ์ ครับ

    ขอร่วมส่งต่อครับ
  5. l_zj
    l_zj
    ขอบคุณรุ่นพี่ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ สำหรับความเสียสละ
    ที่พวกผมไม่สามารถทำได้
    ถ้าไม่มีพวกพี่ในวันนั้น ธรรมศาสตร์ก็เป็นไม่ได้ถึงวันนี้

    ขอบคุณเจ้าของกระทู้สำหรับเรื่องราวที่ควรฟังครับ
  6. naenaee
    naenaee
    ด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้งต่อทุกชีวิตที่อุทิศในประวัติศาตร์ไทย
  7. Nakderntang
    Nakderntang
    ขอบคุณในความเสียสละของคุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์
    ขอบคุณคุณ yourfwd ที่ทำให้ตัวเองได้รับรู้ถึงความเสียสละ
    และรับผิดชอบที่ตัวเอง ที่มองไม่เห็นและ
    ไม่เคยไปมองให้เห็นค่ะ

    รู้สึกเสียใจกับคนในครอบครัวของเขา
    และขอให้ทั้งครอบครัวได้เจอกันอีกค่ะ

    ขอร่วมส่งต่อค่ะ
Results 1 to 7 of 7